ช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา การลงทุนในกองทุนรวมต้องเผชิญกับสารพัดปัจจัยลบ มีผลตอบแทนติดลบรุนแรง แต่ยังคงมีบางกองทุนที่สามารถรักษาผลตอบแทนเอาไว้ได้
“สงคราม-ดอกเบี้ย” ป่วนลงทุน
“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การลงทุนในปี 2565 เผชิญกับหลายปัจจัยผันผวน ทั้งสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่แม้ว่าทั่วโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แต่ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง
โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่เงินเฟ้อที่พุ่งสูง ผลจากต้นทุนราคาพลังงานจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ นำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ทำให้ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยที่จะเกิดขึ้น จากท่าทีที่ชัดเจนของเฟดที่มุ่งมั่นจะต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับสกุลเงินอื่นที่อ่อนค่าลง นำไปสู่ความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต
5 กองทุนผลตอบแทนติดลบหนัก
โดยกองทุนที่ให้ผลตอบแทนติดลบสูงสุด (ณ 8 ธ.ค. 2565) ได้แก่ กองทุนหุ้นเทคโนโลยีโลก (Global Technology) ผลตอบแทนเฉลี่ย -40.257% ตามด้วยกองทุนหุ้นสหรัฐ (US Equity) ผลตอบแทนเฉลี่ย -31.26% กองทุนหุ้นเวียดนาม (Vietnam Equity) ผลตอบแทนเฉลี่ย -30.83% กองทุนหุ้นจีน (China Equity) ผลตอบแทนเฉลี่ย -26.36% และกองทุนหุ้นโลก (Global Equity) ผลตอบแทนเฉลี่ย -25.36%
5 อันดับกองทุนเด่นกลางวิกฤต
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยลบก็มีกองทุนที่ยังคงทำผลงานได้ดีในปีนี้ ได้แก่ กองทุนรวมน้ำมัน (Commodities Energy) ผลตอบแทนสูงสุดเฉลี่ย 5.71% ตามด้วยกองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะสั้น
ทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทมีอายุครบกำหนด (Bond Fix Term) ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.83% กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.35% กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market) ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.30% และกองทุนรวมตราสารหนี้ประเภทครบกำหนดมาลงทุนใหม่ (Roll Over Bond) ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.20% (ดูตาราง)
ทิศทางกองทุนรวมปี’66
ส่วนทิศทางการลงทุนปี 2566 “ชญานี” กล่าวว่า การลงทุนในปี 2566 ยังคงมีประเด็นสำคัญ คือ แนวโน้มการปรับดอกเบี้ย โดยล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐได้มีการชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งจะต้องดูต่อไปว่าทางเฟดจะแสดงท่าทีการปรับดอกเบี้ยในช่วงต้นปีหน้าอย่างไร และเงินเฟ้อจะชะลอลงต่อเนื่องหรือไม่
หากมีแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยช้าลงก็จะเริ่มส่งสัญญาณดอกเบี้ยใกล้จุดสูงสุด และสามารถเข้าสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ และทำให้เกิดภาพของผลตอบแทนฟื้นตัวได้
“ในช่วงต้นถึงกลางปี 2566 อาจจะยังมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งยังบอกได้ยากว่าจะใช้เวลานานเพียงใด การลงทุนในระยะนี้จึงควรเน้นบริหารความเสี่ยงและสภาพคล่องเป็นหลัก นักลงทุนสามารถเข้าลงทุนได้หากสามารถรับความเสี่ยงได้สูงและเป็นการลงทุนระยะยาวหรือลงทุนเพื่อประโยชน์ทางภาษี” ชญานีกล่าว
ขณะที่ “สาห์รัช ชัฏสุวรรณ” ผู้อำนวยการสายการตลาด และที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงของเฟดในปี 2565 โดยเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.75% ถึง 4 ครั้ง
ซึ่งเซอร์ไพรส์ตลาดอย่างมาก ส่งผลให้ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบหนักสุดต่อกองทุนหุ้นเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุดในปีนี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ในปี 2564
นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อส่งผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนหุ้นสหรัฐและกองทุนหุ้นเวียดนาม รวมถึงปัญหาหนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามเอง ก็ทำให้หุ้นเวียดนาม จากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผลตอบแทนบวกแรง ก็ติดลบลงมาในช่วงครึ่งปีหลัง
ส่วนกองทุนหุ้นจีนติดลบต่อเนื่อง จากนโยบาย Zero COVID ที่ทำให้ต้องมีการปิดเมืองบางส่วนและกระทบต่อการเติบโตโดยรวมของประเทศ รวมถึงกองทุนหุ้นโลกก็ได้รับผลกระทบจากเฟดที่ขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนมีการปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่นิยมกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศ ก็ต้องชะลอลงเนื่องจากมีความเสี่ยงอยู่มาก
“สาห์รัช” กล่าวว่า กองทุนที่ผลตอบแทนบวกแรงในปีนี้คงหนีไม่พ้นกองทุนหุ้นน้ำมัน จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนส่งผลให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีผลตอบแทนสูงสุด ส่วนกลุ่มที่ยังสามารถรักษาผลตอบแทนไว้ได้ในปีนี้จะเป็นประเภทตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากจะได้รับผลกระทบน้อยจากแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ที่เป็นขาขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ระยะยาว
คาดผลกระทบดอกเบี้ยคลี่คลาย
ทั้งนี้ คาดว่าปี 2566 กลุ่มตราสารหนี้น่าจะกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นเฉพาะตราสารหนี้ระดับลงทุน (Investment Grade) ส่วนตราสารหนี้เสี่ยงสูง (High Yield Bond) ยังต้องใช้ความระมัดระวัง ส่วนหุ้นปี 2566 น่าจะเริ่มกลับมาดีขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจากปี 2565 หลายประเทศที่มีการปรับฐานลงมาลึกมากแล้ว จึงน่าจะมีโอกาสในการปรับตัวขึ้นจากหลายปัจจัยที่น่าจะคลี่คลายลง
“ปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยเชื่อว่าจะไม่น่ากังวลมากแบบปีที่ผ่านมาแล้ว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือเรื่องเศรษฐกิจถดถอยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย แต่จะรุนแรงหรือไม่” สาห์รัชกล่าว
สุดท้ายแล้ว เศรษฐกิจจะถดถอยหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม สำหรับการลงทุนในปี 2566