ลีสซิ่งกำไรหดแห่เปิดพิโกไฟแนนซ์ เอฟเฟ็กต์ สคบ.คุมเพดานดอกเบี้ย

ลีสซิ่ง

เอฟเฟ็กต์ สคบ.คุมดอกเบี้ยเช่าซื้อ ผู้ประกอบการลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์ ต่างจังหวัด-รายย่อยดิ้นหนีตาย แห่ขอไลเซนส์ “พิโกไฟแนนซ์” พุ่ง เหตุมาร์จิ้นดี-คิดดอกเบี้ยได้สูงกว่า ขณะที่แบงก์ปรับพอร์ตลดเช่าซื้อ ทุ่มปล่อยกู้จำนำทะเบียนปั้นยีลด์

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับตามการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติมากขึ้น ส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งในแง่ยอดวงเงินสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน รวมถึงจำนวนบัญชี และจากแนวโน้มธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัว สมาคมเริ่มเห็นภาพความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจยื่นคำขอดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัยหลัก

คือ 1.ผู้ประกอบการรายเดิมมีความต้องการขยายการเติบโต เนื่องจากมีความต้องการสินเชื่อเข้ามาต่อเนื่อง จากลูกค้าภาคเกษตรและกลุ่มอาชีพอิสระที่ทยอยเริ่มเปิดกิจการต้องการเม็ดเงินลงทุน หรือสภาพคล่องหมุนเวียนในธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ถูกจำกัดด้วยวงเงินทุนจดทะเบียน จึงจำเป็นต้องเปิดบริษัทเพิ่มเพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

และ 2. ผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาขออนุญาตประกอบการธุรกิจ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อท้องถิ่นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการสนใจหันมาทำธุรกิจพิโกไฟแนนซ์แทน

เนื่องจากส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (มาร์จิ้น) ค่อนข้างดีกว่า เมื่อเทียบกับสินเชื่อเช่าซื้อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากเพดานดอกเบี้ยมากที่สุด

นายสมเกียรติกล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางธุรกิจพิโกไฟแนนซ์และพิโกพลัส ในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อขยายตัวตาม และการหมุนเวียนของสินเชื่อในระบบจะยิ่งหมุนเวียนเร็วขึ้น

คาดว่าการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวสูงกว่าปีที่ผ่านมาที่อยู่ราวกว่า 6,000 ล้านบาท ส่วนคุณภาพหนี้น่าจะดีขึ้น เพราะโดยปกติหากเศรษฐกิจดี ลูกหนี้จะมีกำลังในการชำระหนี้มากขึ้น และเริ่มเห็นสัญญาณไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ว่าจะเห็นตัวเลขหนี้เสียยังสูง แต่แนวโน้มลดลงตามเศรษฐกิจฟื้นตัว

“เราเริ่มเห็นสัญญาณการเติบโตสินเชื่อมากขึ้น หลังมีการเปิดประเทศ ลูกค้าหันมาขอเม็ดเงินสินเชื่อเพิ่ม จากปัจจัยนี้ทำให้ผู้ประกอบการที่ต้องการขยายสินเชื่อ ก็หันใช้วิธีการเปิดบริษัทเพิ่ม หรือกลุ่มเช่าซื้อเองที่โดนกดเพดานดอกเบี้ย ก็เริ่มสนใจเข้ามาในตลาดนี้ เพราะดอกเบี้ยเช่าซื้อถูกคุมไว้ที่ 23% แต่มาทำพิโกไฟแนนซ์คิดดอกเบี้ยได้ถึง 33-36% ต่อปี หรือมีส่วนต่างถึง 13% และปล่อยได้ทั้งแบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานสถิติการพิจารณาอนุญาตผู้ประกอบการสะสมสุทธิ ล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 2565 มีผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตสุทธิ (ยอดสะสม) 1,340 ราย ใน 76 จังหวัด มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการสุทธิอยู่ที่ 1,119 ราย แบ่งเป็นพิโกไฟแนนซ์ 898 ราย และพิโกพลัส 221 ราย ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ 1,114 ราย

ขณะที่ยอดสินเชื่อก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ เดือน ต.ค. 2565 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 27,452 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้น 70.38% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีจำนวน 16,112.41 ล้านบาท โดยในวงเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 16,351 ล้านบาท และสินเชื่อมีหลักประกัน 11,101 ล้านบาท คิดเป็นการปล่อยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 6,486 ล้านบาท จากยอดบัญชี 317,060 บัญชี

และจำนวนบัญชีสะสม ณ เดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ 2,571,584 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวนบัญชี 1,135,016 ราย คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 126.56% ขณะที่ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในเดือน ต.ค. 2565 อยู่ที่ 721 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนบัญชี 94,382 บัญชี มีตัวเลขหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน อยู่ที่ 14.98% และหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือน (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 19.77%

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจเช่าซื้อกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าจากประกาศควบคุมเพดานดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อและรถจักรยานยนต์ของ สคบ. ส่งผลให้ผู้ประกอบการเช่าซื้อ โดยเฉพาะเช่าซื้อจักรยานยนต์ท้องถิ่นที่โดนคุมเพดานเหลือ 23% ต่อปี ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะจากเดิมสามารถคิดดอกเบี้ยได้เฉลี่ย 36-48% ต่อปี จึงสามารถบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่สูงเฉลี่ยเกือบ 30% ภายใต้ต้นทุนดอกเบี้ยขาขึ้นได้

แต่หลังจากถูกคุมเพดานที่ 23% ต่อปี ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กหลาย ๆ รายเริ่มถอดใจไม่อยากดำเนินธุรกิจต่อ เพราะต้นทุนที่สูงขึ้น ความเสี่ยงเท่าเดิม แต่รายได้ลดลง อาจจะเห็นบางส่วนทยอยลดพอร์ตสินเชื่อรถจักยานยนต์ลงและขายกิจการให้รายใหญ่กว่า หรือบางรายหันไปประกอบธุรกิจประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เช่น สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน แต่สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ดีกว่าเช่าซื้อจักรยานยนต์ เป็นต้น

“ตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้น้อยลง และยังคงมีความต้องการ แต่จะมีผู้ประกอบการท้องถิ่น หรือรายย่อย ๆ ที่ทำไฟแนนซ์ที่แบกต้นทุนกับความเสี่ยงไม่ไหวอาจจะถอนใจและหันไปลองทำตลาดอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยที่ดีกว่าแทน หรือลดพอร์ตมอเตอร์ไซค์ลง ซึ่งเป็นสัญญาณที่เริ่มเห็นชัดขึ้นหลังจากนี้”


นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า แผนธุรกิจในปี 2566 จะปรับโหมดเข้าสู่การสร้างการเติบโตโดยเร่งการขยายการเติบโตสินเชื่อเชิงรุก โดยเฉพาะในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Business) เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียน เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบคุมเพดานดอกเบี้ยจากประกาศของ สคบ.