
ดร.ประสาร คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 แข็งแกร่ง ท่องเที่ยวเป็นเเรงขับเคลื่อนสำคัญ จับตาเศรษฐกิจถดถอย-นโยบายการเงิน-ปัญหาภูมิศาสตร์ ด้านต่างประเทศยังมีความผันผวนจากเงินเฟ้อ-เฟดที่มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่า จึงกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่ฟื้นตัวไปก่อนแล้ว โดยการท่องเที่ยวจะเป็นตัวสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่การส่งออกในปีนี้อาจโตได้น้อยกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน
- เปิดวิธีลงทะเบียน เลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
- ความเสี่ยงในวัยเกษียณ 5 ข้อสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ?
- โควิดระบาด 3 ปี ไม่เคยติดเชื้อ จับตาปริศนากลุ่ม “โนวิด”
โดยประมาณการเติบโตเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2566 อยู่ที่ 3.7% และจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีและคอยติดตามว่าข้อมูลการคาดการณ์ในเดือน ก.พ.นี้จะปรับเปลี่ยนอัตราการเติบโตหรือไม่ ซึ่งมีโอกาสจะปรับตัวเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ด้านตลาดหุ้นไทยก็ยังคงทำผลงานได้ดีจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ฟื้นตัว Outperform และเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยในปี 2565 บจ.ไทยโดดเด่นเรื่องของความยั่งยืนระดับโลกเข้าดัชนี DJSI สูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นปีที่ 9
ทั้งนี้ ในภาพรวมปี 2566 ตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมองว่าน่าจะดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ แต่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจจะแตกต่างกันไป บางธุรกิจอาจฟื้นได้ดี บางธุรกิจอาจะยังไม่ฟื้นและยังเปราะบางจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองการลงทุนในปี 2566 ปัจจัยที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมายังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งอาจมีความเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น
1.อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและไทย ซึ่งตลาดมีความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
2.นโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงจะต่อเนื่องถึงปี 2566
3.ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์จะกระทบรุนแรงต่อตลาดการเงินการลงทุน
ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตทั่วโลกปี 2566 โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.9% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ถือว่าเป็นข่าวดีในเรื่องของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจถดถอยที่อาจลดน้อยลง หรือหากเกิดก็จะเกิดขึ้นแบบที่ไม่รุนแรงมากนัก โดยเฉพาะในสหรัฐ ยุโรป และโดยเฉพาะในจีนที่น่าจะกลับมาเติบโตได้ดีจากการเปิดประเทศ
“จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะตลาดมีมุมมองที่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้แข็งแกร่ง ด้านธนาคารกลางต่าง ๆ จะลดความร้อนแรงของการดำเนินนโยบายลง และเงินเฟ้อที่ลดลง” ดร.ประสารกล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ล่าสุดที่ผ่านมา ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และมีคาดว่าเงินเฟ้อน่าจะปรับลดลงมาจาก 8.8% ลงมาอยู่ที่ 6% ก็เป็นข่าวดี แต่เงินเฟ้อที่ 6% ยังถือว่าสูงอยู่ เพราะเฟดมีเป้าหมายที่จะปรับเงินเฟ้อลงมาให้เหลือ 2% เพราะฉะนั้นก็ยังห่างกันค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ราคาพลังงานจะลดลงมาค่อนข้างมาก แต่ราคาต้นทุนยังคงสูงอยู่
ดังนั้น เรื่องของเงินเฟ้อยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อ และเป็นไปได้ว่าจากเดิมที่ตลาดมองว่าเฟดน่าจะเริ่มมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีอาจจะไม่ได้เกิดขึ้น และเป็นไปได้ว่าเฟดมีแนวโน้มที่อาจจะคงดอกเบี้ยระดับสูงเอาไว้นานกว่าที่ตลาดคาดการณ์