KKP ชี้เศรษฐกิจไทยโตได้ 3.6% แรงส่งท่องเที่ยวฟื้น เครื่องยนต์ส่งออกฟุบ

นักท่องเที่ยว จีน ต่างชาติ
ภาพจากศูนย์ภาพมติชน

KKP มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คาดขยายตัว 3.6% แรงหนุนการท่องเที่ยว-จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด หนุนนักท่องเที่ยวแตะ 25 ล้านคน จาก 19 ล้านคน ชี้แต่การฟื้นตัวไม่ทั่วถึง จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเหลือ 2.9% กระทบภาคการส่งออก มีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้ แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

วันที่ 31 มกราคม 2566 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แม้จะมีความหวังฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว และการเปิดประเทศของจีนที่เร็วกว่าที่คาด อย่างไรก็ดี แม้ว่า KKP จะมีการปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.6% จาก 2.8% และจากการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดของจีนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้จะไปแตะระดับ 25 ล้านคน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 19 ล้านคน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากภาคท่องเที่ยว แต่การเติบโตไม่สะท้อนทุกภาคส่วน เพราะด้านหนึ่งเป็นการฟื้นตัวท่ามกลางพายุเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้อาจไม่ทั่วถึง และมีเพียงบางจังหวัดหรือบางภาคเศรษฐกิจเท่านั้นที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการฟื้นตัวนี้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ทั้งนี้ จะเห็นว่าภาคท่องเที่ยวฟื้น แต่การส่งออกจะเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกในเดือน ธ.ค.ที่มีอัตราการเติบโต -14% ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอ และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

โดยคาดการณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังจะชะลอตัวลงจากปีก่อนจาก 3.4% เหลือ 2.9% และหลายเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ด้วยปัญหาเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ธนาคารกลางไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก

“ตัวเลขการส่งออกของไทยซึ่งเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจไทยในข่วงสองปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ภาคส่งออกเริ่มหดตัว และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูง และจากมูลค่าเฉลี่ยของการส่งออกในระยะ 5 ปีหลัง การส่งออกไทยได้แตะจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่แล้ว ดังนั้นจึงยากที่จะเติบโตในระดับสูงต่อไปในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้จะหดตัวอย่างน้อยในครึ่งปีแรก ก่อนจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีเมื่อเศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัว และการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 1.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน”

ดังนั้น จากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่กำลังขยายตัว ภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้มีความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ต้องติดตามในปีนี้ได้แก่ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะมาถึงเร็วและรุนแรงแค่ไหน และกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร 2.เงินเฟ้อโลกและเงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงจะสามารถกลับมาสู่ระดับปกติได้เร็วเพียงใด และ 3.การเปิดเมืองของจีนจะราบรื่นตลอดทั้งปีหรือไม่ รวมไปถึงความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดที่ยังไม่สามารถมองข้าม นอกจากนี้ปีนี้ ยังเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งซึ่งอาจเพิ่มตัวแปรที่กระทบต่อเศรษฐกิจเช่นกัน

“ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทยจะช้าลง เพราะในอดีตเราเคยโตได้ 7% และทยอยลดลงมาเหลือ 5% และล่าสุดจากวิกฤตซับไพร์มปี 2008 การเติบโตเหลือเพียง 3% สะท้อนว่าหลังเจอวิกฤตการเติบโตจะลดลง ซึ่งวิกฤตโควิด-19 เราใช้เวลา 3 ปีถึงจะกลับมา และแม้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมา 40 ล้านคน แต่อะไรจะเป็น Growth of Engine เพราะเราจะโตไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งช่วงเลือกตั้งนี้เป็นจังหวะดี นอกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เราควรมีการจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน”