KKP จับสัญญาณประธานเฟด หวั่นดอลลาร์กลับมาแข็งป่วนโลก

ดอลลาร์
ภาพจาก PIXABAY

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP เผย เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นยังไม่จบ เหตุไม่มั่นใจเงินเฟ้อสหรัฐลดลงจริง เตือนตลาดอย่าเพิ่งมองการลดดอกเบี้ยปลายปีนี้ หวั่นค่าเงินสหรัฐกลับมาแข็งป่วนโลกอีกรอบ

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อคืนวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นการส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่มั่นใจว่าเงินเฟ้อสหรัฐจะลดลงได้จริงหรือไม่ จึงพยายามส่งสัญญาณว่าไม่อยากให้มองเรื่องการลดดอกเบี้ยในปีนี้

“สิ่งที่ประธานเฟดกังวลคือ ถ้าเงินเฟ้อยังไม่ลง ก็อาจจะทำให้เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้อีก นี่คือสิ่งที่เขาเตือน โดยตลาดคาดการณ์กันไว้ว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีกสัก 2 ครั้ง ไปอยู่ที่มากกว่า 5% แต่ถ้าเงินเฟ้อไม่ลงก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะต้องขึ้นไปสูงกว่านั้น ซึ่งผมมองว่าเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปถึง 5.25% แน่นอนอยู่แล้ว”

โดยขณะนี้เริ่มมีการถกเถียงกันว่า เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสู่แค่ไหน และจะปรับดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งที่เฟดบอกคือ จะขึ้นดอกเบี้ยไปเกิน 5% แล้วถ้าตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเงินเฟ้อสูงอยู่ ก็อาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีก เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ต้องทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก หรือดอกเบี้ยต้องขึ้นไปสูงกว่าเงินเฟ้อให้ได้

“แต่ตอนนี้เงินเฟ้อเริ่มลงมา ประเด็นสำคัญก็คือ ดอกเบี้ยจะขึ้นไปทันที่เงินเฟ้อจะลงมาหรือเปล่า เพราะตอนนี้เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ 5% กว่าเกือบ 6%”

ดร.พิพัฒน์กล่าวอีกว่า วันนี้ตลาดรับรู้ไม่ค่อยต่างจากที่เฟดบอกเท่าไหร่นัก คือคาดการณ์ดอกเบี้ยเฟดอาจจะขึ้นไปถึงระดับ 5-5.25% แต่ปัญหาคือ ถ้าเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น แล้วตลาดแรงงานแข็งแกร่งมาก เฟดอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเกินกว่าที่ว่านี้อีก ซึ่งตรงนี้จะเป็นความเสี่ยงของตลาด

“ตอนนี้ตลาดได้รับสัญญาณจากเฟดแล้วว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว อาจจะเดือน ธ.ค.ปีนี้ หรือไปปีหน้าเลย ซึ่งก็คงไม่ได้ต่างกันมาก แต่ประเด็นที่สำคัญคือ ถ้ามีปัจจัยที่ทำให้เฟดต้องเปลี่ยนใจแบบที่ต่างจากตลาดคาดไว้มาก ๆ ตรงนี้จะเป็นความเสี่ยง ก็หวังว่าจะเกิดขึ้น”

ดร.พิพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้มองได้ว่า ภาวะถดถอยของสหรัฐไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น แต่ระยะยาวก็อาจจะเกิดขึ้นได้ หากเงินเฟ้อยังลากยาวไป จนเฟดต้องกระทืบเบรกแรง ๆ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยได้ อย่างทุกวันนี้ภาคการผลิตสหรัฐที่หดตัว ก็มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

“ดังนั้น สิ่งที่กระทบเราตรง ๆ คือภาคการค้า ส่วนผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ก็คือ ถ้าเกิดเงินเฟ้อสหรัฐยังไม่ลง แล้วเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงอีก ค่าเงินดอลลาร์ก็อาจจะแข็งค่าอีกได้ ก็จะเป็นเหมือนปีที่แล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมา ที่เราเห็นเงินบาทแข็งขึ้น และค่าเงินภูมิภาคมีปัญหาน้อยลง ก็เพราะคนคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐ แต่ตอนนี้เหมือนโมเมนตัมจะเริ่มกลับมาอีกทาง” ดร.พิพัฒน์กล่าว

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าวว่า แนวโน้มหลังจากนี้ ขึ้นกับข้อมูลตัวเลขต่าง ๆที่จะออกมาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ ว่าจะชะลอตัวตามคาดหรือไม่ ซึ่งหากไม่ชะลอตัวโลกก็อาจจะกลับมาวุ่นวายกันอีก

“ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ก็คงทยอยปรับขึ้นไปอีก โดยปีนี้น่าจะขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง หรือขึ้นไปอยู่ที่ 2% เป็นอย่างน้อย จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% ซึ่งขณะนี้ต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยก็กลับไปอยู่ใกล้ ๆ กับระดับก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ฉะนั้น บริษัทต่าง ๆ ก็จะเจอปัญหาต้นทุนทางการเงิน การระดมทุนออกหุ้นกู้ ก็ต้องดูกันดี ๆ” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP กล่าว