การยาสูบฯ โอดบุหรี่ปลอมระบาดหนัก-ปราบไม่หมด ผู้บริโภคนิยมของหนีภาษี

บุหรี่

การยาสูบฯ ชี้โครงสร้างภาษีใหม่ดันราคาในประเทศสูง ขณะที่บุหรี่ “ปลอม-หนีภาษี” ระบาดหนัก หวั่นรัฐสูญเสียรายได้มหาศาล เร่งปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย แต่ปัญหายังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง เหตุผู้ค้าสามารถเข้าถึง-ซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง แถมผู้บริโภคนิยมสินค้าหนีภาษี

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นายภูมิจิตต์ พงษ์พันธุ์งาม ผู้ว่าการการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) กล่าวว่า ภายหลังการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2564 ส่งผลให้บุหรี่ในประเทศราคาปรับสูงขึ้นจากเดิมมาก โดยบุหรี่ตราที่ขายในราคา 51 บาท ปรับขึ้นเป็น 60 บาท และ 66 บาท

ด้วยปัจจัยด้านราคาที่ปรับสูงขึ้น ทำให้มีการลักลอบนำบุหรี่ผิดกฎหมาย ทั้งบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. และบุหรี่หนีภาษี ซึ่งมีราคาถูกกว่าบุหรี่ในประเทศหลายเท่าตัวเข้ามาจำหน่ายในประเทศเป็นจำนวนมาก สวนทางกับนโยบายปรับเพิ่มภาษียาสูบเพื่อลดการบริโภคยาสูบในประเทศ

ทั้งนี้ ยสท. ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตราเครื่องหมายการค้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน มีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ปลอมเครื่องหมายการค้าของ ยสท. จากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวชายแดนติดกับประเทศไทย ซึ่งร้านค้าปลีกลักลอบนำไปจำหน่ายปะปนกับบุหรี่จริง และขายในราคาเท่ากับบุหรี่จริง แม้ว่า ยสท. ได้ทำจุดตรวจสอบที่ซองบุหรี่เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตรวจสอบ แต่ไม่สามารถสื่อสารโดยตรงไปยังผู้บริโภคได้ ด้วยข้อจำกัดตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่ทราบข้อมูลและตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอม สำหรับบุหรี่หนีภาษีราคาถูก ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งการค้าบุหรี่หนีภาษีทำเป็นขบวนการใหญ่ เปิดร้านจำหน่ายอย่างเปิดเผยไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและจริงจัง จะทำให้ธุรกิจการค้าบุหรี่หนีภาษีเติบโตขยายตลาดการเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และรัฐจะสูญเสียรายได้อย่างมหาศาล ส่วนผู้ค้ายาสูบถูกกฎหมายทั้งระบบก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

นายภูมิจิตต์ กล่าวว่า ยสท. มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย คือ สำนักป้องกันบุหรี่ผิดกฎหมาย มีคณะอนุกรรมการกำกับดูแลบริหารการป้องกันและปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรมสรรพสามิต กรมศุลกากร ทหาร ตำรวจ ปปง. กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำกับควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง ยสท. ตระหนักถึงปัญหาและพิษภัยของบุหรี่ปลอม และพยายามแก้ไขมาโดยตลอด แต่ปัญหายังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ค้าสามารถเข้าถึงและซื้อบุหรี่ปลอมมาจำหน่ายได้หลากหลายช่องทาง

โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์และการส่งสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ ซึ่งผู้บริโภคและร้านค้าสามารถเข้าถึงบุหรี่ผิดกฎหมายได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว ทำให้ตกเป็นเหยื่อในการบริโภคบุหรี่ปลอมที่เจือปนสารนอกเหนือการควบคุมเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่บุหรี่เครื่องหมายการค้าของ ยสท. นั้น มีฝ่ายวิจัยและพัฒนา ซึ่งทำหน้าที่วิเคราะห์สารประกอบต่างๆ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อตรวจสอบสารที่ต้องห้าม

ผู้ว่าการ ยสท. กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ผิดกฎหมาย บุหรี่หนีภาษี บุหรี่ปลอม การแข่งขันทางการค้าในอุตสาหกรรมบุหรี่ต่างชาติ และจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่น้อยลงตามนโยบายรัฐและกระแสโลก ทำให้ ยสท. ได้รับผลกระทบจากยอดจำหน่ายที่ลดลง ยสท. จึงได้มีการนำทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์มาจัดหาประโยชน์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มอย่างยั่งยืน