บุหรี่ไฟฟ้า : ข้อกฎหมายและความผิดกรณีฝ่าฝืน นำเข้า จำหน่าย

บุหรี่ไฟฟ้า
ภาพจาก PIXABAY

เปิดข้อกฎหมายผู้ฝ่าฝืน นำเข้า-จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมายหรือไม่

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากมีข่าวตำรวจไทยรีดไถเงิน ดาราสาวไต้หวัน อันหยูชิง ในช่วงที่เธอเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทย ด้วยข้อหา พกบุหรี่ไฟฟ้า แล้วเรียกรับเงิน 27,000 บาท แต่ไม่ได้ออกใบสั่งปรับข้อหาครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าแต่อย่างใด ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่า การถือครองบุหรี่ไฟฟ้า ผิดกฎหมายหรือไม่

“ประชาชาติธุรกิจ” พาทำความรู้จักบุหรี่ไฟฟ้า และอันตรายจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว พร้อมเปิดข้อกฎหมายหากผู้ใดฝ่าฝืน และจำหน่าย

บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร

ข้อมูลจาก นพ.จตุภัทร คุณสงค์ จิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อน และไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอ ความร้อน (Atomizer) และน้ำยา

ถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ จะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ นิโคติน, โพรไพลีนไกลคอล, กลีเซอรีน และสารแต่งกลิ่นและรส

บุหรี่ไฟฟ้า
ภาพจาก PIXABAY

บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายหรือไม่ ?

สารเคมีชนิดต่าง ๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น นิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหาร และตับอ่อน นอกจากนี้ นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น

ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง (60 mg ในผู้ใหญ่ และ 6 mg ในเด็กเล็ก) เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

โทษฝ่าฝืน โทษสูงสุด ปรับ 5 เท่า คุก 10 ปี

สำหรับบทลงโทษบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครองตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย

นอกจากนี้ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไปให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขายต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บุหรี่ไฟฟ้า
ภาพจาก PIXABAY

ผบช.กมค.ให้ความรู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงติดคุก-ปรับ 5 แสน

มติชน รายงานว่า พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 และประกาศกระทรวงพาณิชย์

เรื่องสินค้าต้องห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร

ดังนั้นผู้ที่ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจึงมีความผิดฐานรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาโดยหลีกเลี่ยงข้อกำจัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 244 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ท.ไตรรงค์กล่าวว่า สำหรับการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วางหลักให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบ เนื่องจากเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายโดยการสูบ ดังนั้นหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเขตปลอดบุหรี่ ก็จะมีความผิดฐาน สูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่

ซึ่งมีระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท ขอฝากไว้ว่าเมื่อกฎหมายยังมีสภาพบังคับใช้อยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังต้องบังคับตามกฎหมาย แต่หากสภาพสังคมหรือประชาชนเห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงกฎหมายในอนาคต ก็เป็นเรื่องของฝ่ายนโยบายหรือทางสภาต่อไป

และอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวทราบว่า ประเทศปลายทางนั้นสิ่งใดสามารถนำเข้ามาในประเทศได้หรือสิ่งใดนำเข้ามาในประเทศไม่ได้ เป็นการแจ้งเตือนให้นักท่องเที่ยวทราบเพื่อป้องกันการกระทำความผิดในประเทศปลายทาง

สคบ.ย้ำผู้ครอบครองบุหรี่ ไฟฟ้า โทษหนัก คุก 5 ปี

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยแพร่เอกสารคำชี้แจงของ พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์ รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษก สคบ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ และการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า การสูบ-ครอบครอง ไม่ได้นำเข้า-ผลิต-ขาย ผิดกฎหมาย หรือไม่ ว่า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้

1.กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด รวมทั้งโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง

และมีปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจส่งผลกระทบเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ใดขายหรือให้บริการ โดยมีค่าตอบแทนรวมถึงการซื้อมาเพื่อขายต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.กรณีผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความผิดตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กับให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุและพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย

นอกจากนั้นยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษา หรือไม่

3.บุหรี่ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น ผู้ครอบครองหรือรับฝากไว้ จะมีความผิดฐาน ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้า

หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2564 ทั้งนี้ เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายของศุลกากร

สคบ.มีนโยบายดำเนินคดีกับผู้ลักลอบจำหน่าย หรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้าอย่างเด็ดขาดทุกราย หากผู้ใดพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ หรือบารากู่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแส (โดยข้อมูลการแจ้งเบาะแสของท่าน สคบ. จะเก็บไว้เป็นความลับ) ได้ที่สายด่วน สคบ. 1166 (ในวันและเวลาราชการ)

และ ผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ “ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภค” หรือโมบายแอปพลิเคชั่น “OCPB Connect” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งสถานีตำรวจในท้องที่

บุหรี่ไฟฟ้า
ภาพจากเพจ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค