ทีทีบีกางแผนลูกค้าธุรกิจฝ่า 4 ปัจจัยเสี่ยง ดันรายได้ค่าฟีโต 4 พันล้านบาท

ttb ธนาคารทหารไทยธนชาต สาขา

ทีเอ็มบีธนชาต เปิดแผนลูกค้าธุรกิจปี’66 ตั้งเป้าโตรายได้ค่าธรรมเนียม 4 พันล้านบาท หนุนบริการเทรดไฟแนนซ์-ป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน-บริหารเงินสด” พร้อมเดินหน้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 3% จากยอดคงค้าง 5 แสนล้านบาท กดหนี้เสียต่ำ 3% เผยลูกค้ารายใหญ่-เอสเอ็มอี เผชิญ 4 ปัจจัยความท้าทาย “ESG-ดิจิทัล-คน-การค้าโลก”

วันที่ 24 มีนาคม 2566 นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจลูกค้าธุรกิจในปี 2566 ทั้งในส่วนของลูกค้าขนาดใหญ่ที่มียอดขาย 400 ล้านบาทขึ้น และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดขายไม่เกิน 400 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้น แต่ธนาคารยังคงเติบโตธุรกิจอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเติบโต 3% หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท และในแง่ของรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 14% อยู่ที่กว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะมาจากธุรกรรมเทรดไฟแนนซ์-ธุรกรรมป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน (FX) และการบริหารจัดการเงินสด (Cash Management)

ศรัณย์ ภู่พัฒน์
ศรัณย์ ภู่พัฒน์

ขณะที่ความเสี่ยงทางด้านต้นทุน (Risk Cost) หรือความเสี่ยงจากต้องตั้งสำรองของหนี้สงสัยจะสูญ จะปรับลดลงเหลือ 0.9% จากปีก่อนอยู่ที่ 1.2% ซึ่งปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ต่ำกว่า 3% ส่วนเงินฝากเพื่อทำธุรกรรมเติบโต 10% สัดส่วนเพิ่มเป็น 85% ของเงินฝากธุรกิจทั้งหมด จากปีก่อนอยู่ที่ 80%

นอกจากนี้ ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้า Digital เพิ่มขึ้น 20% และปริมาณธุรกรรมทางด้านดิจิทัลเติบโตเพิ่มขึ้น 30% จาก 40 ล้านรายการ เพิ่มเป็น 52 ล้านรายการ ทำให้สัดส่วนธุรกรรมผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มเพิ่มเป็น 96% ของธุรกรรมลูกค้าธุรกิจทั้งหมด

“ภาพสัญญาณธุรกิจเอสเอ็มอียังเป็นภาพการฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่ธุรกิจรายใหญ่ฟื้นตัวชัดเจน และเริ่มกลับมามีความต้องการสินเชื่อเยอะขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาลูกค้าจะหันไประดมทุนผ่านหุ้นกู้ค่อนข้างเยอะ ส่วนหนึ่งมาจากเพื่อล็อกต้นทุนจากดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งมีผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมจะค่อนข้างกระจายตัว”

นายศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ลูกค้าธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทาย 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ESG ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ 2.ด้านการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี (Digital Transformation) 3.สงครามการแย่งคน (Talent War) และ 4.ความท้าทายของการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น แผนการดำเนินธุรกิจจะช่วยลูกค้าผ่านความท้าทายไปให้ได้

ทั้งนี้ ในเรื่องของ ESG ธนาคารตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวและสีฟ้า (Green and Blue Loan) ภายใน 5 ปี ในวงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ทำให้สัดส่วนสินเชื่อสีเขียวทางด้าน ESG เพิ่มขึ้นจาก 2.5% เป็น 5% นอกจากนี้ ธนาคารยังได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจที่สามารถบรรลุ KPI ของ ESG ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ภายใต้ผลิตภัณฑ์ Sustainability Linked Loan และ Sustainability Linked Derivatives

และในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารมีแผนการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว พร้อมตั้งเป้าที่จะสนับสนุนสินเชื่อวงเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี ภายใต้ Transformation Loan Supply Chain Solutions และ Refinance Program

และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สะท้อนจากคนไทยที่มีสัดส่วนการใช้โมบายแบงกิ้งอันดับ 1 ของโลก และเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 77.8% มีโครงสร้างพื้นฐานที่ค่อนข้างดี ธนาคารได้พัฒนาการบริหารจัดการธุรกรรมการเงินด้วยโซลูชั่นครบวงจร (Cash Management Solutions) ที่ครอบคลุมและแตกต่าง รองรับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการบริหารสภาพคล่อง ด้วยฟีเจอร์ที่โดดเด่นและตอบโจทย์ โดยสามารถจัดการทั้งเงินและเอกสารสู่ระบบดิจิทัลได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

ด้านสงครามแย่งคน ปัจจุบันหนึ่งในปัญหาที่ผู้ประกอบการธุรกิจประสบเป็นอย่างมาก คือการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะและความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ต้องการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร จึงได้พัฒนาโซลูชั่นบริการการจ่ายเงินเดือนและดูแลสวัสดิการพนักงานแบบครบวงจร (ttb payroll plus) ที่ครอบคลุมชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของพนักงาน รวมถึง Digital HRM ที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถบริหารจัดการงานบุคคลได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่บันทึกเวลาเข้าออกงาน ส่งใบลา และเบิกค่าใช้จ่ายเป็นต้น

และด้านความผันผวนทางด้านการค้าระหว่างประเทศ จนนำไปสู่ความผันผวนที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ที่เป็นสกุลหลักในการค้าขายของไทยที่มากถึง 77.4% และจะเห็นว่าทุกความผันผวนของค่าเงินทุก 1% ของความผันผวนที่สูงขึ้น คือทุก 1% ของความเสี่ยงที่กำไรของผู้ประกอบธุรกิจจะลดลง

ธนาคารจึงได้พัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์ในการจัดการเรื่องความผันผวน ด้วยบริการ ttb local currency ที่จะช่วยลดความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยเครื่องมือบริหารความเสี่ยงสกุลเงินท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทย นอกจากนั้นยังเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยง ด้วย Pro Rata Forward สำหรับเงินสกุลท้องถิ่น โดยเฉพาะสกุลเงินหยวน ซึ่งถือเป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่ทำได้

นอกจากนั้นยังได้ออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ทำให้ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ttb multicurrency account หรือบัญชีบริหารหลายสกุลเงิน และยังมีบริการการเชื่อมต่อระบบของลูกค้ากับธนาคาร (Host to Host) และมีออนไลน์แพลตฟอร์มที่รองรับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การเปิด L/C หรือการเบิกใช้สินเชื่อ

“เรามองว่าค่าเงินที่ผันผวนทุก 1% จะกระทบความสามารถในการทำกำไรลดลง 1% หากมีการบริหารจัดการไม่ดี อย่างไรก็ดี เรามองค่าเงินบาทไทยโดยพื้นฐานควรจะแข็งค่า เพราะจากนักท่องเที่ยวเข้ามาเกือบ 30 ล้านคน และราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ภาพรวมพื้นฐานเงินบาทต้องแข็งค่า และเงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่า ผู้ส่งออกและนำเข้าจะต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อบริหารมาร์จิ้น”