ซีอีโอทิสโก้ มองวิกฤตแบงก์ล้มในสหรัฐอเมริกา

ศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ วิกฤต แบงก์ล้ม สหรัฐอเมริกา

“ศักดิ์ชัย” ซีอีโอ กลุ่มทิสโก้ มองวิกฤตธนาคารล้มในสหรัฐ-ยุโรป เชื่อแบงก์บริหารความเสี่ยงไม่รอบคอบ-เจอภาวะดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง กระทบสภาพคล่อง ชี้ทางการเข้าช่วยเหลือเร็วและทันที ลั่นไทยไม่กระทบ เหตุ ธปท.กำกับเข้มงวด ลงทุนในฟินเทคสตาร์ตอัพได้แค่ 3% สั่งธนาคารทดสอบภาวะวิกฤตต่อเนื่อง รับผลทางอ้อมมีบ้าง แต่ไม่มาก

วันที่ 26 มีนาคม 2566 นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีเหตุการณ์ธนาคารล้มในสหรัฐ และธนาคารในยุโรปที่ประสบปัญหานั้น มองว่า หากดูประวัติจะเห็นว่าบางแบงก์มี History และมีสัญญาณมาเป็น 10 ปี ไม่ใช่แค่เกิดแค่ข้ามคืน โดยสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนผู้นำองค์กร เปลี่ยนวัฒนธรรม (Culture) บางครั้งทำให้การขับเคลื่อน (Drive) การทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป

“เช่น ลักษณะคนทำ Private Bank กับลักษณะของคนทำธนาคารทั่วไป หลักของความรอบคอบ (Prudent) ต้องมี เพราะรับฝากเงินของชาวบ้าน ซึ่งคำว่า Prudent ไม่ใช่ Conservative แต่ต้องมีความรอบคอบ รัดกุม ระมัดระวัง แต่พอเปลี่ยนผู้นำในลักษณะสไตล์แบบ Investment Banking ทำให้การคิดค้น Financial Product จะมีความซับซ้อน เช่น CDO Mortgage Back หลาย ๆ อัน มันจะทำให้ Culture หลาย ๆ อย่างเปลี่ยน”

อย่างไรก็ดี หากดูสินทรัพย์เขาไม่ได้มีปัญหา และคุณภาพสินเชื่อก็ไม่ได้มีปัญหา แต่เงินฝากเขาจะเป็น Venture Capital ซึ่งพอเวลาดอกเบี้ยมันต่ำมาก ๆ เงินมันล้น ธนาคารเลยเอาไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพราะมันมี Credit Risk ต่ำที่สุด

แต่ลืมมองเรื่องความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย (Interest Risk) ที่ดอกเบี้ยขาขึ้น และพอเวลา mark to market ก็เกิดความสูญเสีย (loss) เช่น ลง 100 บาท ได้ yield 1% ไปอีก 30 ปี แต่พอดอกเบี้ยเป็น 5% ก็ขาดทุนไป 4% ต่อปี แต่ความเสี่ยงดอกเบี้ย (Interest Risk) ที่เกิดขึ้นก็ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องมีส่วนเข้ามารับผิดชอบ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเฟดมีหน้าที่ของธนาคารกลาง (Central Banker) ทั่วไป คือสร้างเสถียรภาพของระบบ คุมเงินเฟ้อให้ดี เหตุการณ์ดังกล่าวจึงเป็นไซส์เอฟเฟ็กต์จากดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง ซึ่งหากเฟดไม่ทำเงินเฟ้อก็ลงไม่ได้

เพราะสิ่งที่เขากลัวคือ Stagflation คือเงินเฟ้อขึ้น เศรษฐกิจถดถอย ทำให้คนจนเดือดร้อน จึงต้องเอาเงินเฟ้อ (Inflation) ลงให้ได้ นี่เป็นโจทย์ใหญ่ที่ฝังหัวเขา และมองเหตุการณ์ในปี 1974-1975 ที่เกิดวิกฤตติดกัน 2 ปี เฟดจึงนำบทเรียนตัวนี้เป็นตัวตั้ง

แต่การทำดังกล่าวมีผลกระทบข้างเคียงคือ เสถียรภาพระบบธนาคาร พอดอกเบี้ยขึ้นเร็ว ทุกคนสภาพคล่องมันเหลือก็ต้องปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาดล่าสุด (Mark to Market)

ดังนั้น ต้องกลับมาที่ธุรกิจหลัก (Core Business) ของธนาคารคืออะไร ซึ่งส่วนมากธุรกิจหลักคือการปล่อยสินเชื่อ แต่พอเป็นการลงทุน (Investment) ก็ต้องมีการจำกัดความเสี่ยง (Risk Limit) ว่าแต่ละพอร์ตการลงทุนจะอยู่เท่าไร

โดยการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ของการทำธุรกิจ Financial Service มีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งความเสี่ยงทางด้านเครดิต (Credit Risk) ความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย (Interest Risk) ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน (Operation Risk) และความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ (Strategy Risk) โดยเรื่องพวกนี้ต้องมีมุมมองที่ครบถ้วน

“แน่นอนเวลาเกิดขึ้นกับธนาคารขนาดใหญ่ เช่น Credit Suisse (CS) ก็จะต้องมีการเชื่อมโยง Related กันไป เช่น ญี่ปุ่นก็ถือตรงนี้เยอะ จะไปเกิดขึ้นกับญี่ปุ่นมั้ยต่าง ๆ ก็ต้องจับตาดูพัฒนาการ แต่สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลกลางเข้าไปคุมทันที เฟดก็เข้ามา หรือ Central Bank ของสวิสก็เข้ามาแล้ว เพราะเขามีบทเรียนแล้วว่าธนาคารใหญ่ปล่อยให้ล้มไม่ได้ แต่ภาระของรัฐบาลแต่ละที่ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ”

แบงก์สหรัฐล้ม ไม่กระทบไทย

นายศักดิ์ชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในประเทศไทยหากพิจารณากฎเกณฑ์ของไทย มองว่าการรักษาสมดุล (Balance) เรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน (Financial System) ได้ดีมาก จึงทำให้สัดส่วนที่ประเทศไทยเกี่ยวข้องค่อนข้างมีจำกัดมาก เพราะส่วนหนึ่ง ธปท.ออกกฎเกณฑ์ที่จะไปลงทุนในฟินเทคสตาร์ตอัพ จะต้องนับเป็นเงินกองทุนทั้งก้อนเลย และกำหนดแค่ 3% ของเงินกองทุนทั้งหมด ทำให้ขนาด (Scale) เล็กมาก

“ธปท.เขาคิดว่าธนาคารเป็นสถาบันที่รับเงินฝากของประชาชน เพราะฉะนั้นทางการทำถูกต้องมาก ว่าเงินของผู้ถือหุ้นเป็นส่วนเล็ก เงินกองทุน Tie1 (เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ขั้นที่ 1) ซึ่ง BIS ต่อให้เยอะแค่ไหนก็ไม่เกิน 20% และอีก 80% เป็นเงินของประชาชนทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการต้องดำเนินให้ดี ดังนั้น เวลาเอาเงินไปลงทุนก็ต้องไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน ถือว่าไทยโชคดี”

ขณะเดียวกัน ต้องจับตาดูว่าเป็นอย่างไร แต่คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการทำทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ภายใต้สมมติฐาน (scenario) ให้ธนาคารคิดตลอดเวลา ทำให้เรามองทุกอย่างและเตรียมตัวรองรับเป็นอย่างดี เงินกองทุนไทยก็สูงสุดในระดับภูมิภาค และสภาพคล่องในระบบเหลือเฟือมาก และของไทยเราคนละ Scale และ Exposer ของเรากับต่างประเทศไม่เยอะ

ประกอบกับ ธปท.เข้าไปดูเรื่องพวกนี้เร็ว เช่น ตอนค่าเงินบาทผันผวนมาก และดอกเบี้ยต่างประเทศขึ้นสูง และเราก็ถูกกดดัน (Presser) ต้องขึ้นตาม แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ออกมาบอกทิศทาง (Direction) ตลาดก็สงบลง โดยไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมืออะไรเลย

อย่างไรก็ดี ผลทางอ้อมคือเงินลงทุน เพราะมีพวกกองทุน (Market Fund) เช่น ลงทุนใน US Financial Sector ลงทุนใน ฟินเทค สตาร์ตอัพ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะเป็น Fund of Fund ต้องดูว่าบริษัทเหล่านี้เข้าไปลงทุนต่างประเทศหรือไม่ แต่คนลงทุนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้

ดังนั้น กองทุนหรือฟันด์ก็คงได้รับผลกระทบจากราคาที่มันลดลง เช่น มีพอร์ตไป Related กับ CS 4-5% และหาก Mark to market ก็อาจจะเกือบเสียหายทั้งหมด แต่ที่เหลืออีกกว่า 90% ยังอยู่ แต่ถามว่ากระทบต่อระบบหรือไม่ ก็ยัง