SCB คาดเทรนด์หุ้นกู้คึกคัก ปักธงตัวแทนขาย 1 แสนล้าน

ธนิก ธราวิศิษฏ์

ไทยพาณิชย์ตั้งเป้าปี’66 เป็นตัวแทนขายหุ้นกู้ 1 แสนล้านบาท เชื่อสถานการณ์แบงก์ล้มไม่กระทบไทย คาดเอกชนยังแห่ระดมทุนผ่านหุ้นกู้สูง ภาพรวม 1 ล้านล้านบาท เตรียมเปิดบริการ “บัญชีหุ้นกู้ Easy-D บริการรับฝากหุ้นกู้แบบไร้ใบ” บนแอป SCB EASY หวังลดสัดส่วนคนถือใบหุ้นกู้

นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ถือเป็นผู้เล่น 1 ใน 4 ของตลาดการขายหุ้นกู้ โดยในปี 2566 คาดว่าจะเสนอขายหุ้นกู้ผ่านธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 1-1.2 แสนล้านบาท ซึ่งจากแนวโน้มเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น คนไทยใช้โมบายแบงกิ้งสูงถึง 96 ล้านคนในปี 2565 ช่องทางดิจิทัลจึงช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยให้สามารถเข้าถึงตลาดทุนได้ง่ายขึ้น จะเห็นว่าเอกชนสนใจออกหุ้นกู้บนช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว และเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารในการเป็น digital bank with human touch จึงต่อยอดบริการการลงทุนในหุ้นกู้ผ่าน SCB EASY App ด้วยการเปิดตัว “บัญชีหุ้นกู้ Easy-D บริการรับฝากหุ้นกู้แบบไร้ใบ” ครั้งแรกบน SCB Easy App ให้สามารถฝากหุ้นกู้บนช่องทางดิจิทัลแบบไร้ใบ อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนรายย่อยด้วยประสบการณ์ไร้รอยต่อ ซื้อง่าย-ฝากหุ้นกู้ได้ที่ SCB Easy App มอบประสบการณ์การรวมศูนย์การลงทุนไว้ในที่เดียว

“เราจะเห็นว่า มีจำนวนผู้ลงทุนหุ้นกู้ในปีก่อนอยู่ที่ราว 1.7 แสนราย ซึ่งประมาณ 15% ยังคงถือใบหุ้นกู้ที่เป็น physical อยู่ เพราะหากนักลงทุนไม่ต้องการถือใบหุ้นกู้ จะต้องเปิดบัญชีหลักทรัพย์ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2.2 ล้านคน เราเห็น gap ตรงนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะบริการลูกค้า จึงเปิดบริการ Easy-D บริการรับฝากหุ้นกู้แบบไร้ใบ ตอบโจทย์ทั้งผู้ออกและผู้ลงทุน โดยผู้ออกต้นทุนไม่เพิ่ม แต่เข้าถึงนักลงทุนในวงกว้างขึ้น และนักลงทุนเองก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญหายของใบหุ้นกู้”

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าภายใน 3 ปีจะลดสัดส่วนนักลงทุนที่ถือใบหุ้นกู้จาก 86% ในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 50% ในปี 2569 ซึ่งบริการ Easy-D จะเปิดให้บริการในวันที่ 5 เม.ย.นี้ ผู้ที่จะใช้บริการจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และมีบัญชีเงินฝากและผูกกับแอป SCB EASY แล้ว

นายธนิกกล่าวว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเอกชนกลับมาลงทุน เพื่อขยายกิจการเพิ่มเติม โดยระดมทุนผ่านการออกและเสนอขายหุ้นกู้ นอกเหนือจากการขอสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเพื่อช่วยบริหารจัดการต้นทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น และเพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนด ซึ่งในปี 2566 จะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดราว 7 แสนล้านบาท

โดยข้อมูลตลาดหุ้นกู้เอกชนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7.3% ต่อปี ซึ่งจะมีเพียงปี 2563 ที่ตลาดหุ้นกู้ปรับตัวลดลง 30% เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 แต่จะเห็นว่าในปี 2564 ตลาดกลับมาขยายตัว โดยมีการออกหุ้นกู้สูงถึง 1.03 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตถึง 23% จากปีก่อน

ส่วนปี 2566 นี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ประเมินว่า จะมีการออกหุ้นกู้มากกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้วราว 1.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ การออกหุ้นกู้ที่ระดมทุนสำหรับโครงการด้านความยั่งยืน พัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม หรือ ESG Bondsได้รับความนิยมมากขึ้น

“ภาพรวมเศรษฐกิจในเอเชียยังดีกว่าตลาดสหรัฐและยุโรป ทำให้ภาคเอกชนยังระดมทุนออกหุ้นกู้อยู่ ซึ่งน่าจะออกใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่าต้นทุนการเงิน (cost of fund) อาจจะเพิ่มขึ้น แต่ถือว่ายังถูกกว่าต่างประเทศเยอะ ซึ่งเซ็กเตอร์ที่มีการระดมทุนจะเป็นรีเทล ไฮเปอร์มาร์เก็ต โมเดิร์นสโตร์ รวมถึงกลุ่มพลังงาน ขณะที่อสังหาริมทรัพย์จำนวนออกเยอะจริง แต่คิดเป็นเม็ดเงินไม่สูง ส่วนการออกบอนด์ที่เป็นดอลลาร์อาจจะไม่สูงมาก เพราะหลังมีเหตุการณ์ SVB หรือ CS ในยุโรป ตลาดอาจจะค่อนข้างกังวล แต่คงไม่ได้กระทบไทย” นายธนิกกล่าว