บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มแล้ว! คลังตั้ง Call Center บริการตอบข้อสงสัย

บัตรสวัสดิการ บัตรเดิม เช็กสิทธิ

คลังเผยกว่า 12.5 ล้านคน เริ่มใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ได้แล้ว กรมบัญชีกลาง เปิด Call Center ให้บริการสอบถามข้อติดขัด/สงสัยได้ตลอดวันเสาร์-อาทิตย์นี้

วันที่ 1 เมษายน 2566 นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ (1 เม.ย.) เป็นวันแรกที่ผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ที่ยืนยันตัวตนสำเร็จ ภายในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 12,565,862 ราย สามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นครั้งแรกของประชาชนที่จะมีการใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรประจำตัวประชาชน ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ก๊าซหุงต้ม และค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ ประกอบกับเป็นวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้เปิดให้บริการศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (Call Center) ในช่วงวันที่ 1 – 2 เมษายน 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน กรณีผู้มีสิทธิฯ มีข้อสงสัยสามารถติดต่อ Call Center โทร. 02 109 2345

โดยสิทธิสวัสดิการที่ผู้ผ่านเกณฑ์และยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว จะได้รับ มีดังนี้

1. วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม จากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น.

2. วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่กระทรวงพลังงานกำหนด จำนวน 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ตั้งแต่เวลา 05.00 – 23.00 น.

3. วงเงินรวมค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ จำนวน 750 บาทต่อคนต่อเดือน โดยสามารถใช้โดยสารได้กับระบบขนส่ง 8 ประเภท ได้แก่ (1) รถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (2) รถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) (3) รถไฟฟ้า บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Mass Transit System : BTS) รถไฟฟ้ามหานคร (Metropolitan Rapid Transit : MRT) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด

(4) รถไฟ โดยไม่จำกัดวงเงินตามประเภทรถ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเตรียมการเพิ่มเติมประเภทระบบขนส่งเพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้มีสิทธิฯ ได้แก่ (1) รถเอกชนร่วม ขสมก. รถเอกชน และส่วนราชการกรุงเทพมหานคร (2) รถเอกชนร่วม บขส. และรถเอกชน (3) รถสองแถวรับจ้าง และ (4) เรือโดยสารสาธารณะ
โดยหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนทราบต่อไป

4. มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า อุดหนุนค่าไฟฟ้าจำนวน 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้ไฟฟ้าเกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีสิทธิฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมด

5. มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา อุดหนุนค่าน้ำประปาจำนวน 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน กรณีที่ใช้น้ำประปาเกิน 100 บาท แต่ไม่เกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ ยังคงได้รับการสนับสนุนในวงเงิน 100 บาท และจะต้องชำระส่วนที่เกิน 100 บาท ด้วยตนเอง แต่หากผู้มีสิทธิฯ มีการใช้น้ำประปาเกิน 315 บาท ผู้มีสิทธิฯ จะเป็นผู้รับภาระค่าน้ำประปาทั้งหมด

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ผู้มีสิทธิฯ ที่ประสงค์รับสิทธิในมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาจะต้องดำเนินการลงทะเบียนผ่านผู้ให้บริการดังกล่าวก่อนการเริ่มใช้สิทธิตามกรอบเวลาที่ผู้ให้บริการกำหนด


ซึ่งกระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะชำระค่าบริการที่ผู้มีสิทธิฯ ได้ใช้บริการตามเงื่อนไขที่กำหนดให้แก่หน่วยงานผู้ให้บริการทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการไฟฟ้านครหลวง สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กิจการไฟฟ้า สวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ สำนักงานการประปานครหลวง และสำนักงานการประปาภูมิภาค โดยผู้มีสิทธิฯ ไม่ต้องสำรองเงินจ่ายค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาก่อนแต่อย่างใด