รู้จัก ตู้เอทีเอ็ม ธนาคารอัตโนมัติรุ่นเดอะ จากยุคเริ่มต้นสู่ยุค Cardless

ATM เอทีเอ็ม ตู้เอทีเอ็ม วิวัฒนาการ

ทำความรู้จัก ตู้เอทีเอ็ม (ATM) ธนาคารอัตโนมัติระดับตำนาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเครื่อง จนถึงยุคที่ทำรายการแบบ Cardless

ตู้เอทีเอ็ม (ATM) เครื่องอัตโนมัติที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายยุคหลายสมัย เป็นตั้งแต่ธนาคารอัตโนมัติในยุคที่มือถือยังไม่ทันสมัยเท่าทุกวันนี้ ไปจนถึงเป็นเพื่อนที่สามารถเบิกเงินสดได้ทุกเวลา ขณะเดียวกัน เครื่องอัตโนมัติที่ว่านี้ ก็ทันสมัยมากขึ้นในทุกวันและทำได้มากกว่าแค่ถอนเงินสด

แต่กว่าจะมาเป็นเครื่องอัตโนมัติที่อัจฉริยะ และทำได้หลากหลายเท่ากับปัจจุบันนี้ ต้องผ่านการคิดค้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง

               

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนเดินทางย้อนเวลาไปทำความรู้จักเครื่องอัตโนมัตินี้ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกจนถึงวันนี้ที่ทำได้มากกว่าแค่ถอนเงิน

ไอเดียจากการ “ถอนเงินไม่ทัน”

การเกิดขึ้นของตู้บริการอัตโนมัติที่เราเห็นทุกวันนี้ เริ่มต้นจากช่วงปี พ.ศ.2508 จอห์น เชพเพิร์ด บาร์รอน (John Shepherd-Barron) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอ ลา รู บริษัทพิมพ์ธนบัตรในสหราชอาณาจักร ต้องการไปถอนเงินที่ธนาคารในวันสุดสัปดาห์ แต่ไม่สามารถถอนได้ เพราะมาช้าไป 1 นาทีหลังปิดให้บริการ

เชพเพิร์ด จึงพยายามคิดวิธีการใหม่ในการที่สามารถถอนเงินสดได้ แม้นอกเวลาทำการของธนาคาร กระทั่งเชพเพิร์ด ปิ๊งไอเดียระหว่างกำลังแช่น้ำในบ้าน นำแนวคิดของเครื่องจำหน่ายช็อกโกแลต มาทำเป็นเครื่องถอนเงินอัตโนมัตื โดยใช้ชื่อว่า “Hole In The Wall” และนำไอเดียนี้ไปเสนอกับธนาคารบาร์เคลย์ (Barclays Bank) เมื่อ 27 มิถุนายน พ.ศ.2510 กระทั่งนำไปสร้างและเปิดใช้งานจริงเป็นครั้งแรกในโลกที่ธนาคารบาร์เคลย์ สาขาเอ็นฟิลด์ กรุงลอนดอน

Photo Credit : Barclays Bank

หลักการทำงานของเครื่องนี้ ในขณะนั้น คือการใช้ใบสั่งจ่ายพิเศษ และระบุรหัส 6 หลัก เพื่อถอนเงิน โดยในช่วงนั้น สามารถถอนได้เพียงครั้งละ 10 ปอนด์เท่านั้น ก่อนที่ภายหลัง จะปรับระบบให้ระบุรหัสเพียง 4 หลักเท่านั้น เพียงเพราะว่า ภรรยาของเชพเพิร์ด ไม่สามารถจำรหัสได้

และในปีเดียวกันนี้เอง ธนาคารบาร์เคลย์ ได้ว่าจ้างเชพเพิร์ด ให้สร้างตู้อัตโนมัติลักษณะดังกล่าว เพิ่มอีก 6 ตู้ ก่อนที่ธนาคารอื่น ๆ จะเริ่มพัฒนาตู้อัตโนมัติตามกันมา จนกลายเป็นตู้เอทีเอ็ม (Automated Teller Machine : ATM) ที่ให้บริการในปัจจุบัน

เอทีเอ็มเครื่องแรกในไทย

จากปีที่มีเครื่องเอทีเอ็มเครื่องแรกในโลก อีก 16 ปีต่อมา ประเทศไทย มีเครื่องเอทีเอ็มให้บริการเป็นครั้งแรก โดยธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาให้บริการเป็นครั้งแรก

แต่ตู้เอทีเอ็มเครื่องแรกในประเทศไทย ไม่ได้ถูกตั้งไว้ที่หน้าสาขาของธนาคาร แต่ถูกตั้งที่ตึกธุรการที่ประทับ พระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นบุคคลแรกที่มาทดลองใช้บริการและพระราชทานบัตรให้แก่ธนาคาร

กรมสมเด็จพระเทพ ตู้เอทีเอ็ม ไทยพาณิชย์
ภาพจาก ธนาคารไทยพาณิชย์

จากนั้น ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทย เริ่มนำเครื่องอัตโนมัติดังกล่าวมาให้บริการจนถึงปัจจุบันนี้ ที่สามารถให้บริการได้ทั้งฝาก-ถอนเงินสด

เอทีเอ็มไทย แต่ละยุคสมัย

ในช่วงแรกที่ตู้เอทีเอ็ม เริ่มเข้ามาให้บริการในประเทศไทย จะมีเครือข่ายการให้บริการถอนเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มข้ามธนาคาร แบ่งเป็น 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายแบงก์เนต นำโดยธนาคารกรุงเทพ และเครือข่ายสยามเนต นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย

กระทั่งปี พ.ศ. 2536 ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องการผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ รวมกันจัดตั้งเครือข่ายเอทีเอ็มเป็นเครือข่ายเดียวทั่วประเทศเรียกว่า ATM Pool โดยให้ธุรกรรมที่ทำผ่านเครื่องเอทีเอ็มของทุกธนาคาร จะส่งไปประมวลผลผ่านบริษัท ศูนย์ประมวลผล จำกัด (Processing Center Company Limited: PCC) ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท National ITMX ผู้พัฒนาระบบกลางสำหรับธนาคารและระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่ใช้กันอย่างมากในปัจจุบัน

และระหว่างทางจนถึงทุกวันนี้ ตู้เอทีเอ็ม ไปจนถึงบัตรต่าง ๆ บัตรเอทีเอ็ม-บัตรเดบิต ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่สามารถใช้งานได้แค่การถอนเงินและสอบถามยอดเงิน ก็ถูกพัฒนาจนสามารถทำธุรกรรมประเภทอื่น ๆ ได้ ทั้งเติมเงิน ชำระบิล สมัครบริการต่าง ๆ ซึ่งใกล้เคียงกับการเข้าไปทำธุรกรรมที่สาขา

ปัจจุบันนี้ ตู้เอทีเอ็ม ได้พัฒนาหน้าตาของตัวเองไปเยอะจากในอดีต บริษัทผู้ผลิตเครื่องเอทีเอ็มในปัจจุบัน พัฒนาความสามารถของตู้เอทีเอ็มให้ดียิ่งขึ้น ทั้งการใช้หน้าจอระบบสัมผัส (Touch Screen) การใช้งานทั้งฝากเงิน-ถอนเงินได้ในเครื่องเดียว (Recycling ATM) และการเพิ่มระบบคำบรรยายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตาในการทำธุรกรรม

ยังไม่รวมถึงการพัฒนา White Label ATM ที่เป็นแผนอนาคตของธนาคารต่าง ๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบตู้เอทีเอ็มกลาง ให้สามารถใช้ได้กับบัตรทุกธนาคาร และลดต้นทุนเรื่องการดูแลรักษาตู้อัตโนมัติและการบริหารเงินสด

ไม่มีบัตร ก็ใช้ตู้เอทีเอ็มได้

เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ทำให้หลายสิ่งรอบตัวพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับระบบธนาคาร ที่เทคโนโลยีทำให้ทันสมัยขึ้น และช่วยให้ทำธุรกรรมได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม

ปี 2560 ธนาคารออมสิน เริ่มต้นให้บริการกดเงินไม่ใช้บัตร (Cardless ATM Withdrawal) เป็นธนาคารแรก ผ่านแอปพลิเคชั่น MyMo โดยทำรายการผ่านทางแอปพลิเคชั่น จากนั้นจึงสแกน QR Code ที่ตู้เอทีเอ็ม เพื่อรับเงินสดได้

ถัดมาเพียงไม่กี่เดือน ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งปรับโฉม Mobile Banking ของตัวเองใหม่ ได้เปิดตัวบริการดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยใช้วิธีการกรอกรหัสที่ได้จากแอป เพื่อถอนเงินสด และเป็นหนึ่งในวิธีหลัก ๆ ของการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการสแกน QR Code

ปัจจุบัน มีธนาคารให้บริการ Cardless ATM Withdrawal แล้วอย่างน้อย 8 แห่ง คือ

  1. ธนาคารไทยพาณิชย์
  2. ธนาคารกรุงไทย
  3. ธนาคารทหารไทยธนชาต
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารกรุงเทพ
  6. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  7. ธนาคารออมสิน
  8. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส)

แต่ข้อจำกัดใหญ่อย่างหนึ่ง คือการที่ธนาคารส่วนใหญ่ที่ว่ามานี้ ยังให้บริการ Cardless ATM เพียงแค่ธนาคารนั้น ๆ เท่านั้น กล่าวคือ ทำรายการ Cardless ATM ธนาคารไหน ต้องทำรายการต่อที่ตู้ของธนาคารน้ัน ๆ เท่านั้น

แต่ปัจจุบันนี้ National ITMX ได้พัฒนาโครงการ Cardless ATM Withdrawal ซึ่งต่อยอดบริการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของธนาคารสมาชิกให้สามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารได้เป็นครั้งแรก ผ่านระบบ ITMX’s Single Payment ATM Switch ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเดิมสำหรับบริการถอนเงินสดข้ามธนาคาร

National ITMX ระบุว่า บริษัทมีแผนพัฒนาบริการ Cardless ATM Withdrawal เพิ่มเติมบนบริการ ATM Switching เดิมโดยรองรับทั้งการทำรายการแบบ One-Time-Password (OTP) และแบบ QR Code โดยธนาคาร Issuer จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมที่ mobile application ส่วนธนาคาร Acquirer จะต้องพัฒนาเพิ่มเติมที่ตู้ ATM ให้รองรับบริการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรข้ามธนาคาร

ปัจจุบันมีธนาคารที่ให้บริการ Cardless ATM แบบข้ามธนาคาร 5 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 3 เมษายน 2566) ดังนี้

  1. ธนาคารไทยพาณิชย์
  2. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
  3. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH bank)
  4. ธนาคารเกียรตินาคินภัทร
  5. ธนาคารไทยเครดิต (เพื่อรายย่อย)

อนาคตของตู้เอทีเอ็ม

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 เชพเพิร์ด เคยทำนายไว้ว่า อีกไม่กี่ปีคนจะไม่ใช้เงินสดแต่ใช้โทรศัพท์มือถือในการทำธุรกรรมทางการเงินแทน และคำทำนายก็เริ่มเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่ปีถัดมา

แต่แม้ว่าเราจะสามารถทำธุรกรรมได้จากมือถือแล้ว แต่ความต้องการในการใช้เงินสดก็ยังไม่ได้หายไปถาวร

ข้อมูลจากรายงาน “The Way We Pay 2022” โดยฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หลังจากช่วงวิกฤตของสถานการณ์ COVID-19 คนไทยคุ้นชินกับการชำระเงินดิจิทัล ทำให้การใช้งานยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากปริมาณ 425 ครั้งต่อคนต่อปี ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 อยู่ที่ 312 ครั้งต่อคนต่อปี และ 202 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2563

ขณะเดียวกัน รายงานยังระบุว่า ปี 2565 พฤติกรรมการถอนเงินสดมีแนวโน้มลดลงจากปี 2561 ถึง 30.9% แต่การถอนเงินแบบไม่ใช้บัตร (ผ่าน Mobile Banking) เพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 มีสัดส่วนเป็น 32% ของช่องทางทั้งหมด สะท้อนให้เห็นความนิยมในการใช้บริการผ่าน mobile baking ที่สะดวก

แม้สุดท้าย อนาคตข้างหน้า ตู้เอทีเอ็มอาจต้องสูญพันธุุ์ไป จากเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการเงินได้มากยิ่งขึ้น แต่เครื่องอัตโนมัติที่เราคุ้นเคยนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เราเข้าถึงเงินสดได้ ในวันที่สังคมไร้เงินสด ยังไปไม่ถึงในทุกพื้นที่

ข้อมูลจาก Thai Cashless Society, BARCLAYS, National ITMX