ธปท. เผยคืบหน้าโครงการทดสอบ “Central Bank Digital Currency” หรือ CBDC ยันไม่เร่งใช้ Retail CBDC ภาคประชาชน ชี้ความเสี่ยงเยอะ-ประโยชน์ที่แตกต่างจากพร้อมเพย์น้อย หลังเดินหน้าทดลองในวงจำกัด ระบุเป็น Pilot to Learn ไม่ใช่ Pilot to Launch ย้ำ Wholesale CBDC คาดนำมาใช้ได้จริง เล็งเชื่อมระบบประเทศอื่น ลดอุปสรรคธุรกรรมโอนเงินข้ามประเทศ
วันที่ 25 เมษายน 2566 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนา “Central Bank Digital Currency” หรือ CBDC ว่า ปัจจุบัน ธปท.ดำเนินการทดลองอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ 1.Wholesale CBDC สำหรับธุรกรรมขนาดใหญ่ และ 2.Retail CBDC สำหรับภาคประชาชนรายย่อย
โดยในส่วนของโครงการ “Wholesale CBDC” มีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้ในระยะเวลาไม่ไกล ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการ “อินทนนท์” ที่เป็นการทำธุรกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศ (Cross Border) ที่จะเข้ามาช่วยลดอุปสรรคในเรื่องของระยะเวลา ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เป็นต้น
โดยเริ่มจากความร่วมมือกับฮ่องกง และล่าสุดขยายความร่วมมือภายใต้โครงการ “mBridge” หรือ Multiple Central Bank Digital Currency Bridge จะประกอบด้วย สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BISIH)
ทั้งนี้ เป้าหมายการทดสอบโครงการ mBridge ภายในปีนี้จะดูเรื่องของผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมกับระบบในประเทศอื่น ๆ ให้ได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ที่มีการทดสอบโครงการในลักษณะนี้อยู่ราว 10 ประเทศ และสามารถนำมาใช้ได้ (Roll out) จึงมองว่าเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้จริง อย่างไรก็ดี การเข้าร่วมเชื่อมระบบจะต้องดูว่าหากมีการเข้าร่วมจริงไทยจะต้องไม่เสียเปรียบ
“โจทย์ของการทดสอบโครงการ mBridge คือการช่วยเรื่องธุรกรรมโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งท้ายสุดเป้าหมายคือจะต้องเชื่อมกับระบบในประเทศอื่น ๆ ได้ด้วย”
สำหรับโครงการคือ “Retail CBDC” จะทำการทดสอบภายในไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งเป็นทดสอบแบบวงจำกัดมาก ๆ และแบ่งการทดสอบ 2 ส่วน คือ 1.แบบพื้นฐาน (Foundation Track) ที่เป็นการทดสอบใช้งานทั่วไปสามารถจับจ่ายใช้สอยได้ และ 2.การทดสอบแบบนวัตกรรม (Innovation Track) ที่จะต้องพัฒนาฟีเจอร์อื่น ๆ เพิ่มเข้าไป
อย่างไรก็ดี Retail CBDC ถือเป็น Pilot to Learn ไม่ใช่ Pilot to Launch เพราะ Use Case ไม่ได้มีความจำเป็นต้องรีบเร่ง หรือมีความต้องกรใช้มากขนาดนั้น เนื่องจากไทยมีระบบพร้อมเพย์ที่ดีอยู่แล้ว และประโยชน์จาก Use Case ที่เหนือจากพร้อมเพย์ไม่เยอะ แต่หากพิจารณาเรื่องความเสี่ยงมีค่อนข้างเยอะ
ดังนั้น การทดสอบต้องทำให้พร้อม และจำเป็นต้องปิดความเสี่ยงให้หมด และเดินอย่างระมัดระวัง จึงเป็นการทดสอบเพื่อศึกษา Pilot to Learn และหากเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าไทยไม่ได้ล่าช้าหรือล้าหลังกว่าประเทศอื่น
“ประเทศไทยมีการใช้ระบบพร้อมเพย์อย่างกว้างขวางอยู่แล้ว ในการใช้งานขั้นพื้นฐาน Retail CBDC กับ พร้อมเพย์ไม่ได้แตกต่าง แต่สิ่งที่ ธปท.สนใจคือเรื่อง Innovation Track ของ Retail CBDC ที่สามารถสั่งเงื่อนไขในการใช้งานได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำผ่านระบบพร้อมเพย์ได้ลำบาก แต่ก็ยังศึกษาอยู่และคงไม่ได้ออกมาใช้ในวงกว้างได้เร็ววัน เพราะต้องทำให้ทุกอย่างเสถียร ไม่ได้วิ่งหาแค่ Innovation อย่างเดียว เราต้องดูว่าถ้าเสี่ยงแล้วคุ้มหรือเปล่า ดังนั้น โจทย์ที่รีบเร่งจะออกมาใช้ไม่ได้จำเป็นมาก”