ดร.ประสาร แนะภาครัฐ-เอกชนส่งเสริมสินเชื่อสีเขียว ย้ำเป็นกติกาใหม่-โอกาสธุรกิจ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

“ดร.ประสาร” เผยภาครัฐ-เอกชนปล่อยสินเชื่อสีเขียวปี’65 โตเท่าตัวอยู่ที่ 4.12 หมื่นล้าน ชี้ ESG เป็นกติกาใหม่ในธุรกิจสากล และขยายโอกาสทางธุรกิจ แนะเอกชนเร่งปรับตัว

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวเปิดในงาน Money Expo ครั้งที่ 23 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ภายใต้หัวข้อ “Green finance Green living” ว่า โลกยุคเรากำลังเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมขั้นวิกฤต เป็นปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤต จากปัจจัย สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ โรคอุบัติใหม่ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทุกวันนี้กิจการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไม่เพียงเป็นแค่ทางรอดและการเติบโตของรุ่นเรา แต่จะส่งผลถึงความปลอดภัยและชะตากรรมการมีชีวิตที่ดีของรุ่นต่อไป

“โจทย์ของการพัฒนาวันนี้ยาก ซับซ้อน กว้างขวาง และต้องใช้เวลา ไม่มีรัฐบาลไหน หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง องค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหน หรือผู้นำคนใดคนหนึ่งทำเองได้ทั้งหมดทันที สำหรับภาคการเงินและการลงทุน เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ” ดร.ประสารกล่าว

ดร.ประสารกล่าวว่า Green Financing หรือ sustainable financing เป็นการแบ่งสัดส่วนของเงินลงทุนในเศรษฐกิจให้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เพิ่มมากขึ้น เช่น สินเชื่อภาคธนาคาร ภาคประกันภัย และภาคลงทุน ทั้งนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงการบริหารจัดการ ลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้เม็ดเงินตอบแทนคุ้มค่าที่สุดในแง่การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส หรือการนำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ให้พิจารณาในการปล่อยสินเชื่อ และดำเนินด้านธุรกิจนั่นเอง

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา ตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond ปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 28,706 ล้านบาท มาที่ 41,219 ล้านบาท และมีการออกเพิ่มขึ้นอีก 8,000 ล้านบาทในช่วงต้น 2566 เพื่อการลงทุนในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ภาคเอกชนเริ่มมีบทบาทมากขึ้น จากการระดมทุนของบริษัทเพื่อไปสร้างงานและพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนท้องถิ่น หรือส่งเสริมการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการหญิง เป็นต้น

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ในภาคการเงิน เมื่อต้นเดือนเมษายนมีการลงนามในสินเชื่อ Green loan มูลค่า 2,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงการรถโดยสารไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อเพิ่มศักยภาพการเดินรถ และลดมลพิษสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการ มีบริษัทที่ใช้กรอบ ESG ในการดำเนินธุรกิจแล้วทำได้ดีถึง 169 บริษัท

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามผลักดันและจัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Taxonomy เพื่อลดปัญหา Green washing สอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์ที่เปิดระบบ ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์ข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียน

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ดร.ประสารกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน Green Financing มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการ คือ 1.กติกาใหม่ในธุรกิจระดับสากล จากประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ที่จะสร้างข้อได้เปรียบทางการค้า

และ 2.คือโอกาสทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างของเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังรวมไปถึงโอกาสในตลาด เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีภาคอาหารที่ยังเปิดกว้างอีกมาก