เทียบฟอร์ม AIS-TRUE สงครามชิงเบอร์ 1 เทเลคอม

เทียบฟอร์ม AIS-TRUE สงครามชิงเบอร์ 1 เทเลคอม
AIS-TRUE

เทียบฟอร์ม AIS-TRUE สงครามชิงเบอร์ 1 เทเลคอม ด้าน “เอไอเอส” ไตรมาสแรกปีนี้ โกยรายได้ 4.6 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 6.7 พันล้านบาท โต 7.1% ผู้ใช้บริการมือถือรวม 46.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.08 แสนราย ตั้งเป้ารายได้ปีนี้โต 3-5% งบลงทุน 2.7-3 หมื่นล้านบาท นโยบายปันผล 70%

ฟาก “ทรู” กวาดรายได้รวม 5.1 หมื่นล้านบาท แต่ขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท ดรอป 95% เอฟเฟ็กต์ EBITDA ดิ่ง ผู้ใช้บริการมือถือรวม 50.46 ล้านราย เพิ่มขึ้น 6.77 แสนราย งบลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท นโยบายปันผล 50%

วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย อาจกำลังจะเริ่มกลายเป็นตลาดผูกขาด (Monopoly Market) ในอนาคต เพราะปัจจุบันเหลือผู้ขายเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น โดยเป็นการต่อสู้แข่งขันกันระหว่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส (AIS) ของนายสารัชถ์ รัตนาวะดี และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TURE) ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์

โดยในปี 2566 ผ่านมาแล้ว 1 ไตรมาส วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จะพาไปสำรวจผลการดำเนินงานของ 2 ยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือของประเทศไทย ภายใต้สมรภูมิการแย่งลูกค้าที่เกิดขึ้นนั้นว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง ?

เอไอเอส รายได้ 4.6 หมื่นล้าน

สำหรับ AIS พบว่ามีรายได้รวม 46,712 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่ลดลง 4.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) โดยพบว่ารายได้จากการให้บริการหลัก (ไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับเอ็นที) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% YOY แต่ลดลง 0.9% QOQ มาอยู่ที่ 33,531 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • รายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 29,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% YOY ลดลง 0.9% QOQ
  • รายได้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 2,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% YOY เพิ่มขึ้น 4.3% QOQ
  • รายได้การให้บริการอื่น ๆ 1,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% YOY ลดลง 9% QOQ
  • รายได้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายและการเป็นพันธมิตรกับเอ็นที 3,255 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% YOY ลดลง 3.5% QOQ
  • รายได้จากการขายเครื่องมือถือและซิม 9,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% YOY ลดลง 14% QOQ

โดยรายได้รวมที่เพิ่มขึ้น YOY มาจากการปรับตัวดีขึ้นของรายได้จากธุรกิจหลัก เติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านและธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ในขณะที่ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ฟื้นตัวจากการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ร่วมกับความพยายามในการยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการ (ARPU) ท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่ดีขึ้น

ร่วมกับการเติบโตของรายได้จากการขายอุปกรณ์ ซึ่งได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 ที่ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนที่ลดลง QOQ เกิดจากปัจจัยด้านฤดูกาลของรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่และการลดลงของรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์คลาวด์

กำไรสุทธิ 6.7 พันล้าน

ด้านทิศทางกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBITDA) พบว่าอยู่ที่ 22,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% YOY จากการปรับตัวดีขึ้นของธุรกิจหลัก ร่วมกับความพยายามในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อลดผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ แต่เทียบ QOQ ลดลง 1.1% จากปัจจัยด้านฤดูกาลซึ่งกระทบต่อรายได้

ส่งผลให้ AIS มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปีนี้ 6,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% YOY จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ EBITDA ร่วมกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง 5.3% YOY และการรับรู้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ แต่ถ้าเทียบ QOQ ยังปรับตัวลดลง 8.2% จากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่ลดลง

ลูกค้ามือถือ 46.1 ล้านราย

โดยพบจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 46.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.48 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 3.3% YOY และเพิ่มขึ้น 1.08 แสนราย หรือเพิ่มขึ้น 0.2% QOQ

  • ผู้ใช้บริการระบบรายเดือน 12.66 ล้านราย เพิ่มขึ้น 7.7% YOY เพิ่มขึ้น 0.9% QOQ
  • ผู้ใช้บริการระบบเติมเงิน 33.45 ล้านราย เพิ่มขึ้น 1.8% YOY ทรงตัว QOQ
  • จำนวนลูกค้าใช้บริการ 5G 7.17 ล้านราย เพิ่มขึ้น 155% YOY เพิ่มขึ้น 5% QOQ
  • จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน 2.26 ล้านราย เพิ่มขึ้น 22% YOY และเพิ่มขึ้น 4.6% QOQ

คาดการณ์รายได้ปีนี้โต 3-5%

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า ปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่บนความไม่แน่นอนจากความเสี่ยงในการเกิดเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศทั่วโลก ร่วมกับความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจทำให้เกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานและส่งผลต่อภาคการผลิตและอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับการสนับสนุนจากการเติบโตในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดไว้ของประเทศจีนในช่วงต้นปี 2566 และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชนให้สูงขึ้น

เอไอเอสได้วางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงองค์กรจากผู้ให้บริการดิจิทัลไลฟ์ (Digital Life Service Provider) สู่ Cognitive Tech-Co ด้วยการพัฒนารากฐานสำคัญ 3 แกน ได้แก่ โครงข่ายอัตโนมัติ (Autonomous Network), ระบบไอทีอัจฉริยะ (IT Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อผลักดันการเติบโตของทุกกลุ่มธุรกิจ

โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตแม้ว่าภาพการแข่งขันยังคาดเดาได้ยาก โดยยังคงเน้นการเติบโตในส่วนแบ่งทางการตลาดที่สร้างผลกำไรด้วยการส่งมอบประสบการณ์ 5G ที่เหนือระดับทั้งในด้านคุณภาพและความครอบคลุมของโครงข่าย

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้เล่นรายหลักที่มีการเติบโตของผู้ใช้บริการเติบโตในระดับเลขสองหลักของรายได้ และในปีนี้ตั้งเป้าหมายสร้างฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านราย และธุรกิจลูกค้าองคก์รเติบโตด้วยแนวโน้มดิจิทัลต่อเนื่อง โดยเน้นบริการใน 4 ภาคอุตสาหกรรมคือ การผลิต, ค้าปลีก, อสังหาริมทรัพย์ และการขนส่ง

ปีนี้คาดหวังผลให้ EBITDA เติบโตในอัตราเลขตัวเดียวระดับกลางจากการมุ่งเน้นที่ความสามารถในการทำกำไร

เตรียมงบลงทุน 2.7-3 หมื่นล้าน

โดยคาดการณ์งบการลงทุนปี 2566 ที่ประมาณ 27,000-30,000 ล้านบาท มีเป้าหมายที่จะคงความเป็นผู้นำทางด้านโครงข่ายพร้อมมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าแก่ลูกค้าด้วยการใช้เงินลงทุนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ มีนโยบายเน้นย้ำประสิทธิภาพของเงินลงทุน โดยมีบริหารจัดการลดปริมาณการใช้งานโครงข่ายที่สร้างมูลค่าต่ำ และการผลักดันการใช้งานในโครงข่าย 5G ให้มากขึ้น

รวมถึงจัดสรรการใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายการให้บริการเอไอเอสไฟเบอร์ไปยังพื้นที่ใหม่ รวมถึงการวางแผนขยายธุรกิจลูกค้าองค์กรและการให้บริการทางด้านดิจิทัลที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 70%

เอไอเอสให้ความสำคัญต่อการรักษาสถานะทางการเงินให้แข็งแกร่ง และมีความคล่องตัวเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต นโยบายการจ่ายเงินปันผลจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 70% ของกำไรสุทธิ โดยยังคงการจ่ายเงินปันผลปีละ 2 ครั้งจากผลการดำเนินงานบริษัท และกำไรสะสมบนงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยนโยบายการจ่ายเงินปันผลนี้จะทำให้เอไอเอสมีกระแสเงินสดเพื่อเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเป็นผู้นำตลาด ความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงพร้อมรับต่อสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเปลี่ยนแปลง

TRUE รายได้ 5.1 หมื่นล้าน

ด้าน TRUE พบว่ามีรายได้รวม 51,463 ล้านบาท ลดลง 6.7% YOY ลดลง 3.9% QOQ โดยรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) อยู่ที่ 38,985 ล้านบาท ลดลง 2% YOY ลดลง 1.8% QOQ ประกอบด้วย

  • รายได้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 31,142 ล้านบาท ลดลง 2.5% YOY ลดลง 1.7% QOQ
  • รายได้ธุรกิจออนไลน์ 5,628 ล้านบาท ลดลง 2.3 YOY ลดลง 0.9% QOQ
  • รายได้ธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก 1,667 ล้านบาท ลดลง 1.6% YOY ลดลง 1.9% QOQ
  • รายได้ธุรกิจอื่น 549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.1% YOY ลดลง 10.4% QOQ
  • รายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) 1,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 214% YOY เพิ่มขึ้น 273% QOQ
  • รายได้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่ 5,188 ล้านบาท ลดลง 23.7% YOY ลดลง 3.8% QOQ
  • รายได้จากการขาย 5,740 ล้านบาท ลดลง 28.9% YOY ลดลง 28.8% QOQ

โดยธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีสาเหตุหลักจาก ARPU อ่อนตัวลง เพราะการแข่งขันในตลาดที่ยังคงสูง อย่างไรก็ตาม ฐานผู้ใช้บริการยังคงเติบโตแข็งแกร่ง ด้านธุรกิจออนไลน์ รายได้จากการให้บริการในกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ถูกกดดันด้วยการแข่งขันที่สูง อย่างไรก็ตาม รายได้จากการให้บริการในกลุ่มลูกค้าองค์กรยังคงเติบโตได้ดี

ส่วนธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก รายได้จากค่าสมาชิกและค่าติดตั้งคิดเป็น 74% ของรายได้จากการให้บริการ ในขณะที่รายได้จากธุรกิจดนตรีและบันเทิงปรับตัวดีขึ้น จากการจัดคอนเสิร์ตที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่จำนวนสมาชิกในกลุ่ม mass ลดลง

ส่วนรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จากการบรรลุข้อตกลงในเชิงบวกในไตรมาส 1 ปีนี้ของข้อพิพาททางกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ และรายได้จากการขาย จากการขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลงในไตรมาส 1 ปีนี้ และการเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่ที่เร็วขึ้นในไตรมาส 3/2565

TRUE ขาดทุนสุทธิ 492 ล้าน

ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้มีกำไร EBITDA อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท ลดลง 8.7% YOY แต่เพิ่มขึ้น 10.1% QOQ จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการเจรจาทางสัญญาในไตรมาส 4/2565 และการบรรลุข้อตกลงในเชิงบวกในไตรมาส 1/2566 ของข้อพิพาททางกฎหมายที่กำลังดำเนินอยู่ มาตรการมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทยังคงส่งผลเชิงบวก ส่วนที่ดรอปลง QOQ เป็นไปตามการอ่อนตัวของรายได้ จากการให้บริการและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นในไตรมาส 1/2566 อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวมยังคงแข็งแกร่งที่ 37.8%

โดยมีขาดทุนสุทธิ 492 ล้านบาท ลดลง 95% QOQ จาก EBITDA ที่ลดลงและค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้น โดยได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากประกัน

ผลขาดทุนสุทธิส่วนท่ีเป็นของบริษัทในไตรมาส 4 ปี 2565 ได้รับผลกระทบทางลบจากค่าใช้จ่ายท่ีไม่ได้เกิดข้ึนเป็นประจำประมาณ 8.5 พันล้านบาท เป็นผลหลักจากการตัดจาหน่ายสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนหรือคาดว่าจะไม่ได้ใช้ในบริษัทใหม่ท่ีจะเกิดขึ้น ภายหลังการควบรวมกิจการ ค่าใช้จ่ายท่ีเก่ียวข้องกับการควบรวมกิจการ และการด้อยค่าของสินทรัพย์ประจำปี

ลูกค้ามือถือ 50.4 ล้านราย

โดยพบจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รวม 50.46 ล้านราย เพิ่มขึ้น 6.77 แสนราย หรือเพิ่มขึ้น 1.35% QOQ

  • ผู้ใช้บริการระบบรายเดือน 15.74 ล้านราย ลดลง 0.13% QOQ
  • ผู้ใช้บริการระบบเติมเงิน 34.71 ล้านราย เพิ่มขึ้น 2.05 QOQ
  • จำนวนลูกค้าใช้บริการ 5G 6.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 13% QOQ
  • สมาชิกโทรทัศน์บอกรับสมาชิก 1.4 ล้านราย ลดลง 2.7% QOQ

เป้าลงทุน 2.5-3 หมื่นล้านบาท

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRUE กล่าวว่า ปี 2566 (สำหรับระยะเวลา 10 เดือนของปี 2566 นับจากวันที่มีการควบรวม) คาดการณ์รายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้จากการเชื่อมต่อโครงข่ายจะทรงตัว โดย EBITDA ก็จะทรงตัวหรือลดลงด้วยตัวเดียวในระดับต่ำ

ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 2.5-3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทจะยังคงผลักดันการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการควบรวม (Revenue Synergies) ผ่านการขายพ่วงและขายเพิ่ม ในขณะเดียวกัน ก็ยังจะดำเนินมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง บริษัทมุ่งมั่นที่จะสร้าง Synergies ที่เกิดจากการควบรวมให้ได้ตามที่คาดหวังไว้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์สำหรับปีนี้ยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลัง เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจของ TRUE และการดำเนินงานหลังการควบรวม

จ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50%

สำหรับ TRUE มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะของบริษัทภายหลังการจัดสรรเป็นสำรองต่าง ๆ และขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและแผนการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต