ดอลลาร์แข็งค่า รับคาดการณ์เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

ประธานธนาคารกลางสหรัฐ
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ /REUTERS/ Jonathan Ernst

ดอลลาร์แข็งค่า รับคาดการณ์เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ออกมาแสดงความเห็นว่า เฟดยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50%ในปีนี้ เหตุเงินเฟ้อมีความเสี่ยงอาจไม่ปรับตัวลง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 34.55/56 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 34.44/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงินยังคงปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 103.25 จากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

หลังจากนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์แสดงความเห็นล่าสุดว่า “เฟดยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีความเสี่ยงที่จะไม่ปรับตัวลง และตราบใดที่ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องมั่นใจว่าปัญหาเงินเฟ้อจะไม่กลับมาเกิดขึ้น และซ้ำรอยช่วงทศวรรษ 1970”

ซึ่งบ่งชี้ว่า หากเฟดประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่าเฟดได้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

คำกล่าวของนายบูลลาร์ดสอดคล้องกับนายนีล แคชแครี ประธานเฟด สาขามินเนอาโพลิส โดยกล่าวว่า “เขาเปิดกว้างต่อการที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ นายแคลแครี กล่าวว่า หากเงินเฟ้อยังไม่ชะลอตัวลง เขาจะสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป”

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาพัฒน์เผยภาวะสังคมไตรมาส 1 ปี 2566 อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับ 1.05% ต่ำกว่า 1.15% ในไตรมาสก่อนหน้าและต่ำกว่า 1.53% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ อีกทั้งแรงงานได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ในส่วนหนี้ครัวเรือน ของไตรมาส 4 ปี 2565 อยู่ที่ 86.9% ต่อจีดีพี ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง พร้อมแนะนำรัฐบาลใหม่ควรพิจารณาปรับค่าแรงให้รอบคอบ

ส่วนกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติไหลออกจากหุ้นและพันธบัตรไทยนั้น อาจดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.40-34.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.65/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 1.0809/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดลาดเมื่อวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 1.0816/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 0.1 จุดอยู่ที่ -17.4 ในเดือนพฤษภาคม แต่ยังคงต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -17.00

อีกทั้งนายฟรองซัวร์ วิลเลรอย เดอ กาลโฮ ผู้กำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า ECB อาจจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นฤดูร้อนนี้ ส่วนนายฟิลิป เลน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ECB ระบุว่า นโยบายของ ECB มีประสิทธิภาพ และนักลงทุนดูเหมือนยังคงมีความเชื่อมั่นในความสามารถของ ECB ที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

นอกจากนี้ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงกดดันหลังตัวเลขประมาณการเบื้องต้นดัชนีราคาผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อประจำเดือนพฤษภาคม (PMI) ของสหภาพยุโรปและเยอรมนีนั้นยังออกมาค่อนข้างอ่อนแอ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0783-1.0820 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0797/1.0801 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/5) ที่ระดับ 138.51/54 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/5) ที่ระดับ 137.89/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนพฤษภาคม ของญี่ปุ่นจาก Jibun Bank ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 50.8 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รับการปรับตามฤดูกาลแล้ว เทียบกับตัวเลขขั้นสุดท้ายที่ 49.5 ในเดือนเมษายน และถือเป็นการปรับขึ้นเหนือระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว

โดยกลุ่มผู้ผลิตในผลสำรวจฉบับนี้บ่งชี้ว่า ภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานจากผลพวงของโรคระบาดซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต เริ่มส่งสัญญาณคลี่คลายในส่วนของดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นจาก Jibun Bank ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 56.3 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ได้รับการทบทวนปรับแล้ว จาก 55.4 ในเดือนเมษายน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 138.23-138.87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 138.30/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือนพฤษภาคม จากเอสแอนด์พี โกลบอลของสหรัฐ (23/5), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนพฤษภาคม จากเอสแอนด์ดี โกลบอลของสหรัฐ (23/5), ยอดขายบ้นใหม่เดือนเมษายนของสหรัฐ (23/5), และรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ วันที่ 2-3 พฤษภาคม 24/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.00/-11.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.00/-9.90 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ