ชง “วาระด่วน” รัฐบาลใหม่ ทุนจีนผวารถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ

นักธุรกิจ

ธุรกิจเกาะติดการจัดตั้งรัฐบาล 7 องค์กรภายใต้สภาตลาดทุน เตรียมวาระด่วนถกว่าที่คณะรัฐมนตรีใหม่ ชงชะลอเก็บภาษีขายหุ้น แนะตั้งกองทุนลดหย่อนภาษี-LTF เวอร์ชั่นใหม่ สมาคมแบงก์-ธุรกิจ รพ.ไม่รีบตั้งวาระเจรจากับว่าที่นายกฯ หวั่นเกมจัดตั้งรัฐบาลพลิกขั้ว เลือกข้างผิด ทุนจีนหวั่นนโยบายรถไฟไทย-จีนเปลี่ยนทิศ อสังหาฯน้องชายธนาธรชง 4 มาตรการ นักลงทุนตัวจริงฟันธง หากนโยบายไม่ตอบโจทย์นักลงทุน ย้ายฐานอีกรอบ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินหน้าทำแผนเสนอรัฐมนตรีคนใหม่

ชงรัฐบาลชะลอเก็บภาษีขายหุ้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ 7 องค์กรภายใต้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เตรียมพิจารณาข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อจะเข้าหารือกับรัฐบาลใหม่

โดยข้อเสนอหลัก ๆ ที่จะยื่นให้พิจารณาคือ ชะลอการจัดเก็บภาษีขายหุ้น (financial transaction tax) ในอัตรา 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) ซึ่งถูกเสนอโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้สั่งชะลอไว้ เพื่อให้กลับไปศึกษาอีกรอบหนึ่งก่อน

ทั้งนี้ จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับรัฐบาลใหม่ ถึงเหตุผลที่ไม่สนับสนุนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว โดยมีจุดยืนเหมือนเดิม คือได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจะกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทย ซึ่งกว่า 50% มาจากต่างประเทศ และนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในวันนี้เหมือนมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดหุ้นไทย หรือเข้ามาเพื่อเทรดดิ้ง ดังนั้น จะจ่ายค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่ต่ำพอสมควร ฉะนั้น หากเพิ่มภาษีขายหุ้น ซึ่งจะสูงกว่าค่าธรรมเนียมที่เขาจ่ายอยู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือนักลงทุนต่างประเทศคงจะถอนการลงทุนในประเทศไทยออกไป

“ประเด็นนี้เราห่วงที่สุด ต้องรีบเข้าไปคุย เพราะตลาดทุนต้องเป็นตลาดที่มีสภาพคล่อง หากสภาพคล่องกระทบกระเทือนจะทำให้การระดมทุนยากขึ้น และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจตามมา รวมถึงการพัฒนาตลาดทุนก็จะยากขึ้นไปด้วย และวันนี้ถึงแม้ไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้นสภาพคล่องก็หดลงไปมาก วอลุ่มซื้อขายเหลือแค่ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อวันเท่านั้น” นายไพบูลย์กล่าว

ลดหย่อนภาษี-LTF เวอร์ชั่นใหม่

นายไพบูลย์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังจะเสนอให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกองทุนประเภทลงทุนในหุ้น คล้าย ๆ กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สูงสุดที่ 5 แสนบาท แต่จะเสนอในรูปแบบใหม่ โดยจะมุ่งเน้น 1.เพื่อการออม และ 2.เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย โดยขีดเส้นข้อกำหนดเงื่อนไขให้ลงทุนในหุ้นที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.ลงทุนหุ้นกลุ่มยั่งยืน ซึ่งตอนนี้มีเกือบ 100 บริษัทในตลาดหุ้นไทย 2.ลงทุนหุ้นกลุ่ม Well-being และ 3.ลงทุนในกองทุนประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่มีเงินไปลงทุนในกิจการของรัฐ ยกตัวอย่าง ภาครัฐจะออกกองทุนอินฟราฟันด์ ก็สามารถระดมทุนผ่านช่องทางนี้ได้ ส่วนระยะเวลาในการถือครองอาจจะยาวถึง 10 ปีก็ได้

“เดิม LTF เป็นกองทุนลงทุนในหุ้นทั้งหมด 100% แต่ลงทุนหุ้นอะไรก็ได้ ซึ่งอาจเปิดกว้างไป บางทีก็มีไปลงทุนหุ้นปั่น และบังคับให้ถือ 7 ปี แต่เมื่อขอต่ออายุ LTF รัฐบาลชุดที่แล้วเปลี่ยนมาให้กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แทน แต่กองทุน SSF มีข้อเสียคือ วงเงินลดหย่อนต่ำ และลงทุนในตราสารหนี้ทั้งหมดได้ จึงไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ที่สนับสนุนให้คนมาลงทุนในหุ้นเพื่อออมระยะยาว” นายไพบูลย์กล่าว

สมาคมแบงก์รอฝุ่นหายตลบ

แหล่งข่าวในสมาคมธนาคารไทย (TBA) เปิดเผยความเคลื่อนไหวว่า ขณะนี้สมาคมธนาคารไทย รอดูความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจึงจะมีการเรียกประชุม เพราะประเมินว่าสถานการณ์ยังไม่แน่นอน และอาจพลิกได้ จึงต้องรอให้ทุกอย่างมีความชัดเจน เพราะถ้าออกตัวเร็วจะกลายเป็นเลือกฝ่าย

ทุนจีนจับตารถไฟไทย-จีน

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่พูดคุยกับนักธุรกิจจีนบางส่วน มีความคิดเห็นต่อนโยบาย 23 ข้อของพรรคร่วมรัฐบาล ว่าประเด็นส่วนใหญ่เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาภายใน ซึ่งหากนำมาซึ่งเสถียรภาพความมั่นคงในประเทศก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญของภาคการต่างประเทศ

ขณะที่นโยบายการต่างประเทศ บางส่วนน่าจะสอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศของจีน เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์โดยเร็วที่สุด การดำเนินนโยบายต่างประเทศฟื้นฟูบทบาทผู้นำไทยในอาเซียน และรักษาสมดุลทางการเมืองของไทยกับมหาอำนาจ

อย่างไรก็ดี นักธุรกิจจีนต้องรอดูการฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ให้ชัดเจน และประกาศอย่างเป็นทางการก่อน เพราะอาจมีท่าทีและความชัดเจนด้านนโยบายการลงทุนของต่างประเทศที่มากขึ้น สิ่งที่นักลงทุนจีนกังวลมากที่สุดก็คือ “การเปลี่ยนแปลงนโยบายการลงทุนจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้การพัฒนาขาดความต่อเนื่อง เช่น โครงการความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน”

ธุรกิจ รพ. ยังหวั่นรัฐบาลพลิกขั้ว

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ ได้จับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เรื่องความเห็นความเคลื่อนไหวการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า นโยบายด้านสาธารณสุขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ รพ.เอกชนยังไม่มีความชัดเจนนัก และรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเมดิคอลฮับเท่าที่ควร สิ่งที่อยากเห็นก็คือการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเดินทางเข้ามารักษาตัวของชาวต่างประเทศ ทั้งเรื่องวีซ่าป่วยและผู้ติดตาม

แหล่งข่าวยังแสดงความเห็นด้วยว่า “ตอนนี้ที่เป็นห่วงก็คือ การจับมือการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกล และ 7 พรรคอาจจะบรรลุเป้าหมาย และอาจนำไปสู่การสลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันต่อไป”

หอการค้าพบพิธา สัปดาห์หน้า

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะประชุมหารือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดว่าจะหารือได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีการร่วมประชุมหารือกับหอการค้าจังหวัด กลุ่ม YEC (Young Entrepreneur chamber of commerce) หรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ด้วย

สำหรับประเด็นที่จะมีการหารือ คงจะเป็นมาตรการระยะสั้น เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะมีมาตรการใดออกมาบ้าง การลดค่าไฟฟ้า การแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคการประกอบธุรกิจ มาตรการค่าแรง เนื่องจากมีกลไก คณะกรรมการไตรภาคี และหอการค้าไทย พร้อมเป็นกำลังให้กับการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล

สภาอุตฯ โล่งใจไม่มี ม. 112

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ก่อนที่จะเข้าหารือกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่าหลังการลงนาม MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เห็นความชัดเจนทางการเมืองมากขึ้น และการไม่มีวาระแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ใน MOU ทำให้เอกชนคลายข้อกังวลลง และเตรียมยื่นสมุดปกขาว หลังมีรัฐบาลใหม่อย่างเป็นทางการ ส่วนวาระหารือกับนายพิธาและคณะ เช่น เรื่องของค่าจ้างแรงงานขึ้นต่ำ 450 บาท นโยบายการที่จะเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ

ถ้านโยบายไม่ชัด ย้ายฐานอีกรอบ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า นักลงทุนยังคงเตรียมเข้ามาดูพื้นที่เพื่อขยายการลงทุน “เอกชนก็ลุ้นรัฐบาลใหม่ ทุกคนรอดูนโยบาย”

ด้านนายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า รอดูการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งอยากเห็นการจัดตั้งโดยเร็ว ยังคงเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่เปลี่ยนนโยบายการลงทุน การเมืองจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาวแน่นอน แม้ว่าอาจจะมีความกังวลเรื่องนโยบายขึ้นค่าแรง และอาจต้องดูว่าจะเกิดปรากฏการณ์ย้ายฐานอีกรอบหรือไม่

นานฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บี.กริมฯอยากเห็นนโยบายพลังงานจากรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน (renewable) ด้วยการเร่งเดินหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5,000 เมกะวัตต์ ที่ชะลอออกไปก่อนหน้านี้ “หากนโยบายรัฐไม่ตอบโจทย์นักลงทุน เขาก็ย้ายไปลงทุนต่างประเทศที่อื่นแทน มันเป็นเรื่องปกติของนักลงทุน”

ลดค่าไฟ 70 สตางค์ เป็นไปได้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับลดค่าไฟฟ้าในงวดที่ 3 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 มีโอกาสจะเป็นไปได้ 70 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟงวด 3 เหลือประมาณหน่วยละ 4 บาทได้ ขึ้นอยู่กับราคา LNG SPOT ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าตอนนี้ราคาลดลง หากนำเข้าได้ในราคาต่ำเท่าไรก็จะมีผลให้ค่าไฟลดลงไปด้วย เช่น หากสามารถนำเข้าได้ ราคา 9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ค่าไฟจะลดลงลงได้ 70 สตางค์ แต่หากซื้อในราคาเฉลี่ย 9.50-10 เหรียญสหรัฐ ค่าไฟอาจจะลดลงได้ 40-50 สตางค์ต่อหน่วย

สำหรับประเด็นด้านพลังงานที่ต้องเตรียมแผนรองรับการพิจารณาของรัฐบาลใหม่ นอกจากเรื่องค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อหรือไม่ ในหลายโครงการ เช่น โรงไฟฟ้าชุมชน ที่ทำแล้ว 150 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานหมุนเวียน (RE) การบริหารจัดการ GAS Pool

น้องชายธนาธร ขอกระตุ้นอสังหา

นายบดินทร์ธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด น้องชายนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ในการสนับสนุนภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มี 4 เรื่อง 1.มาตรการกระตุ้นด้วยการลดค่าโอน-จดจำนอง แต่กำหนดเพดานบ้านและคอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เสนอให้ขยายเพดานไม่เกิน 10 ล้านบาท เพราะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง หรือลูกค้าเรียลดีมานด์ ไม่ได้ซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร

2.มาตรการ LTV-loan to value ให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น 3.ส่งเสริมกำลังซื้อลูกค้าต่างชาติ ปรับเกณฑ์ซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ 1 ไร่ เงินลงทุนแล้ว 30-40 ล้านบาท เป็นเวลา 5 ปี ลดไม่ถึง 30-40 ล้านบาท หรือลดเวลาที่จะสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้เหลือ 1 ปี หรือไม่ต้องกำหนดเรื่องระยะเวลาลงทุน

4.ปัญหายอดปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รัฐบาลใหม่อาจใช้ช่องทางแบงก์รัฐที่มีอยู่ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ในรูปแบบตั้งเป็นกองทุนเฉพาะขึ้นมา เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มากขึ้น รวมทั้งใช้กลไกที่มีอยู่เดิม เช่น ธอส. ที่มีโครงการสินเชื่อบ้านล้านหลัง ให้ดอกเบี้ยต่ำ 3% แต่กำหนดเพดานราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท อาจขยับเพดานราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท สามารถได้รับดอกเบี้ย 3% เป็นต้น

ท่องเที่ยวถก 34 หอการค้านานาชาติ

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียใจและเสียดายอย่างมาก ว่าเนื้อหาใน MOU ทั้ง 23 ข้อของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของประเทศ และยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดพูดถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเคยสร้างรายได้ถึง 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP เมื่อปี 2562

นายชำนาญกล่าวว่า ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมจัดทำแผนเดินหน้าท่องเที่ยวไทย เสนอต่อรัฐมนตรีคนใหม่ที่จะมาดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งอยากได้คนที่จะผลักดันให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ “เรามีแผนจัดเวทีประชุมการอภิปราย ร่วมกับ 34 หอการค้านานาชาติ เพื่อหาแนวทาง และความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เสนอให้รัฐบาล ทั้ง 34 หอการค้านานาชาติ ส่วนใหญ่มีการลงทุนในภาคธุรกิจท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้น เวทีนี้จะเป็นเสียงสะท้อนจากตัวจริงในหลายมุมมอง ว่าเราจะทำจะช่วยกันนำนักท่องเที่ยวต่างชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเราอย่างไร” นายชำนาญกล่าว

หอการค้าอีสาน อยากได้รัฐบาลเร็ว

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญในตอนนี้คืออยากให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด แม้ยังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองไหนจะได้เป็นแกนนำรัฐบาล หรือเป็นนายกรัฐมตรี แต่ต้องคำนึงถึงประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจของประเทศตอนนี้ถือว่าเปราะบางมาก เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี ต้องเรียกความเชื่อมั่น แยกให้ออกกับเรื่องการเมือง เป็นนักบริหารประเทศอย่างสมดุล นำประเทศไปข้างหน้าเพื่อแก้วิกฤตที่จะเกิดขึ้น และเชื่อว่าในวิกฤตจะมีโอกาสเสมอ

ว่าที่นายกรัฐมนตรี ถกสภาอุตฯ

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล, นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รวมถึงนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ตัวแทนจากพรรคไทยสร้างไทย พบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นำโดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายจากภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อกังวลของตัวแทนภาคอุตสาหกรรม

นายพิธากล่าวว่า ตนมีโอกาสทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมครั้งแรกตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ในวันนั้นประเทศไทยคุยกันเรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผ่านยุทธศาสตร์การรวมกลุ่มทางอุตสาหกรรมคลัสเตอร์พลัส แต่เวลาผ่านไปเห็นได้ว่าหลายเรื่องที่คุยกันค้างไว้ไม่ได้มีการทำต่อ

พรรคก้าวไกล จึงต้องการเข้ามาผลักดันอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ใหม่ ๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น blockchain มาใช้ การสร้างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะการเปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand ที่ประเทศไทยไม่ใช่แค่รับจ้างผลิต แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้าไปอยู่ใน Value Chain ของอุตสาหกรรมโลก

อุตสาหกรรมไทยในอนาคตจำเป็นต้องมี 3F หนึ่งคือ Firm Foundation หรือพื้นฐานที่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่มีทักษะสูง เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานที่ดี สองคือ Fair หรือความเป็นธรรม เพราะ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมไทยเติบโตจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สิ่งที่ตามมาคือความเหลื่อมล้ำ ในการพาประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูงจำเป็นที่จะต้องคิดเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำด้วย

และสุดท้าย คือ Fast Growing Industry ที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการผลักดันการวิจัยและพัฒนา (R&D) และส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ประเทศไทยถึงแม้ไม่มีทรัพยากร เช่น โคบอลต์ นิกเกิล ที่จำเป็นในการผลิตแบตเตอรี่แบบต่างประเทศ แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องหาช่องว่างในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ยังมีคู่แข่งน้อย เช่น การผลิตชิป ซิลิคอนคาร์ไบด์ นี่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมมือกันทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน

“ประเทศไทยในอนาคตต้องเติบโตด้วยการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและเพิ่มการใช้เทคโนโลยี ให้ผลิตสิ่งที่มีมูลค่าสูง ไม่ใช่เติบโตด้วยการกดค่าแรงให้ต่ำและกดความสามารถในการแข่งขันให้ต่ำ” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า ภายหลังจากที่ประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว เชื่อว่าการเจรจา FTA ไทย-อียู จะเสร็จสิ้นได้โดยเร็วแต่ในขณะเดียวกันเมื่อดูอัตราการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี (FTA Utilization) ก็จะเห็นว่าการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ภายใต้รัฐบาลใหม่การใช้ประโยชน์จาก FTA นี้จะต้องเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการทำงานต่อไป

ทั้งนี้ ในการพูดคุย สภาอุตสาหกรรมฯได้เสนอนโยบายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Next-GEN Industries, นโยบายด้านพลังงาน, นโยบายด้านแรงงาน, นโยบายด้าน SMEs ส่วนใหญ่เห็นตรงกันกับนโยบายของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะนโยบายด้านราคาพลังงานที่มีความเป็นธรรม ซึ่งศิริกัญญากล่าวว่า มีสัญญาณที่ดีจากคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานที่พร้อมเปลี่ยนสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติ สามารถทำได้ทันทีที่มีรัฐบาลใหม่ จะเห็นผลในบิลค่าไฟที่ลดลงภายในเดือนมกราคม 2567

นายพิธายังระบุถึงความกังวลในการปรับขึ้นค่าแรงของภาคธุรกิจว่า ให้คำมั่นว่าการเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องทำไปพร้อมกับการดูแลปากท้องของพี่น้องแรงงาน ถ้าท้องไม่อิ่มก็ไม่สามารถคิดเรื่องการเพิ่มทักษะได้ แต่นโยบายพรรคก้าวไกลเป็นการขึ้นค่าแรงพร้อมกับมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชน การเสริมทักษะแรงงาน และมีระบบในการปรับขึ้นค่าแรงทุกปีตามสภาพเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพื่อให้ผลิตภาพและรายได้ของประชาชนเป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน

“ความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันคือภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำของโลก (Global Minimum Tax) ที่จะทำให้การดึงดูดการลงทุนด้วยการใช้มาตรการทางภาษีแบบเดิมเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป การดึงดูดการลงทุนในอนาคต ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องการจูงใจทางภาษี แต่เป็นเรื่องความง่ายในการทำธุรกิจ การกิโยตินกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น การปราบคอร์รัปชั่น

การที่ไทยมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเป็นอันดับ 5-6 ของอาเซียน แย่กว่าฟิลิปปินส์ แย่กว่าอินโดนีเซีย เป็นเรื่องที่มีความท้าทายพอสมควร ตอนนี้เรื่องของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และความท้าทายทางสังคมอื่น ๆ เป็นเรื่องเดียวกัน” นายพิธากล่าว


แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า ส่วนในขั้นต่อไปที่ตนและพรรคก้าวไกล อยากทำงานต่อกับสภาอุตสาหกรรมฯ คือการตั้งคณะทำงานรายคลัสเตอร์ โดยเอาโจทย์ของแต่ละอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันมาแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย เทคโนโลยี เงินทุน แรงงาน เพื่อทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต