หนุนรัฐบาลใหม่ ปั๊มท่องเที่ยว ขอ “เอกชน“ นำทัพปลุกเศรษฐกิจ

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งโรงแรมที่พัก สายการบิน ร้านอาหาร การขนส่งทางรถ-เรือ ฯลฯ ไปจนถึงแรงงานที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน ส่งสัญญาณชัดเจนมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

โดยจากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 66) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.6 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 3.5 แสนล้านบาท และยังคาดว่าเดือนพฤษภาคม 2566 นี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคน และมีเป้าหมายสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวปี 2566 ไว้ 2.38 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 30 ล้านคน

ขอเอกชนนำหน้า-รัฐสนับสนุน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “โกจง-ชำนาญ ศรีสวัสดิ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ถึงแนวคิด มุมมอง รวมถึงแนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ภายใต้แกนนำของรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 ไว้ดังนี้

“ชำนาญ” บอกว่า สถานการณ์ในวันนี้ยังไม่รู้ว่าใคร หรือพรรคไหน จะมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งจะมาเป็นผู้นำขับเคลื่อนการท่องเที่ยวให้เดินหน้าต่อ แต่ก็เชื่อมั่นอย่างมากว่าไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนที่มาเป็นรัฐบาล รู้อยู่แล้วว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ดี และเห็นเงินได้เร็วที่สุด

ดังนั้น ในเชิงนโยบายจึงไม่มีอะไรน่ากังวล แต่ส่วนตัวเป็นห่วงเรื่องวิธีการ หรือ implement มากกว่า หากรัฐบาลมาจับมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ สทท. ว่าเราจะเดินหน้าท่องเที่ยวกันอย่างไรจะเป็นผลดีมาก

เพราะสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เป็นศูนย์รวมของคนในฟากเอกชนท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่จับต้องได้ทั้งนั้น ดังนั้นหากให้ภาคเอกชนเดินหน้าและรัฐบาลสนับสนุน ส่งเสริม ทั้งด้านการตลาด การดูแลและพัฒนาโปรดักต์ รวมถึงการซ่อม-สร้างแหล่งท่องเที่ยว และซ่อม-สร้างคนเพื่อรองรับอนาคต เชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยจะสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างแข็งแรง

“เชื่อว่าทุกรัฐบาลที่มาบริหารประเทศจะใช้ท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือต้องร่วมกับภาคเอกชนจริง ซึ่งสภาท่องเที่ยวนั้นเรามีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนอยู่แล้ว ขอเพียงแค่รัฐบาลสนับสนุนเท่านั้น”

เดินหน้าท่องเที่ยววาระแห่งชาติ

ที่สำคัญ “ท่องเที่ยว” ควรเป็นวาระแห่งชาติ ฟื้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการท่องเที่ยว เนื่องจากการท่องเที่ยวเกี่ยวเนื่องกับหลายกระทรวง ทบวง กรม หากนายกรัฐมนตรี หรือผู้ได้รับแต่งตั้ง สั่งการให้เดินไปในทางที่ถูกที่ควร จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก

เพราะเชื่อว่าศักยภาพของประเทศไทยสามารถเป็นมหาอำนาจด้านการท่องเที่ยวของโลกได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งในเรื่องศูนย์กลางการเดินทาง แหล่งท่องเที่ยว อาหาร อัธยาศัยไมตรีในการให้บริการ ฯลฯ

โดย “ดีมานด์” หรือความต้องการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยนั้นยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง จะมีปัญหาคือในฝั่งซัพพลาย หรือศักยภาพในการรองรับเท่านั้น เนื่องจากบางส่วนยังฟื้นกลับมาได้ไม่เต็มที่ และบางส่วนยังกระจุกอยู่ในบางพื้นที่ ทำให้เกิดภาวะ over tourism ในบางพื้นที่ เป็นต้น

Re-design ซัพพลายไซด์

“ชำนาญ” ยังบอกด้วยว่า วันนี้ท่องเที่ยวของเราค่อนข้างเดินมาถูกทิศถูกทางแล้ว เพียงแต่เราต้องเน้นย้ำโพซิชันนิ่งของเราให้ชัดเจนขึ้น ด้วยการออกแบบการท่องเที่ยวใหม่ หรือ re-design ให้เกิดความสมดุลในทุก ๆ มิติ

และวันนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้อง re-design การท่องเที่ยวเพื่อทำให้ซัพพลายไซด์ของประเทศมีศักยภาพและกลับมารองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 40 ล้านคนได้อีกครั้ง อาทิ การสร้างสมดุลเมืองหลัก-เมืองรอง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม หรือในเมืองท่องเที่ยวหลัก การสร้างคลัสเตอร์ท่องเที่ยวเพื่อกระจายโอกาสและรายได้

การสร้างสมดุลด้านสินค้า ลดการพึ่งพาแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบของ manmade หรือการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและบริการ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจและไมซ์ การท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ

หรือการพัฒนาผู้ประกอบการและเติมทุนผู้ประกอบการรายเล็กให้กลับมาดำเนินธุรกิจคู่ขนานไปกับผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงมีแผนพัฒนาทั้งระยะสั้น-ระยะยาว เพื่อทำให้การท่องเที่ยวของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“แม้ว่ารัฐบาลจะประเมินว่าปี 2566 นี้ เราจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 25-30 ล้านคน แต่หากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ สร้างความพร้อมในด้านซัพพลายไซด์ เรามีความมั่นใจอย่างมากว่า ปีนี้ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 30-40 ล้านคน”

ย้ำ Implement คือหัวใจ

“ชำนาญ” ยังย้ำอีกว่า การออกแบบการท่องเที่ยวใหม่ หรือ re-design ดังกล่าวนี้เป็นแนวทางที่จะสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย เพราะวันนี้การรับรู้ของคนทั่วโลกนั้นรู้ว่า “ประเทศไทย” เป็นเมืองท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมในระดับโลก มีจุดขายที่ชัดเจนอยู่แล้ว

“หัวใจ” สำคัญจึงอยู่ที่การ implement ทำอย่างไรถึงจะกระจายนักท่องเที่ยว กระจายรายได้ และทำให้การท่องเที่ยวเข้าไปสู่ทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง