สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยในไตรมาสแรกปี 2566 ออกมาแล้ว ว่าขยายตัวได้ 2.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.4% แม้ว่าการส่งออกจะหดตัว -6.4% ก็ตาม แต่ได้ภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
“ท่องเที่ยว-บริโภค” พยุงไตรมาส 1
“เศรษฐกิจไทยมีแรงสนับสนุน จากการบริโภคภายในประเทศที่พยุงสถานการณ์ไว้ได้” ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช. กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สศช. คงประมาณการจีดีพี ปี 2566 ว่าจะเติบโตได้ที่ 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) โดยมีการปรับไส้ใน ได้แก่ ปรับเพิ่มประมาณการบริโภคเอกชนเป็น 3.7% จากเดิมคาด 3.2%
ขณะที่ปรับลดประมาณการการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะหดตัวมากขึ้นจาก -1.5% เป็น -2.6% การลงทุนภาคเอกชนที่จะโตลดลงเหลือ 1.9% จาก 2.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐยังคาดหดตัวที่ -1.6%
“ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว ในปี 2566 มาจากการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวที่คาดการณ์จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 28 ล้านคน”
โดย สศช. มองปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา จะเป็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และการปรับดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางหลักของโลก เพื่อกดอัตราเงินเฟ้อ ปัญหาหนี้ของสหรัฐ และปัญหาแบงก์ล้ม
ซึ่งจะก่อให้เกิดความผันผวนของตลาดการเงินโลก ซึ่งไทยจะต้องติดตามเพื่อรับมือลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้น หากสถานการณ์รุนแรงกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ท่องเที่ยวแรงส่งเศรษฐกิจไทย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ยังคงมุมมองเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ใกล้เคียงประมาณการเดิมที่ 3.4% โดยเศรษฐกิจจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่อาจเติบโตต่อเนื่องจากแรงส่งในไตรมาสที่ 1 ซึ่งเติบโตดีและมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติจีน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาจถูกกดดันจากการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งชะลอตัวท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง
กลางปีเศรษฐกิจฟื้นเท่าก่อนโควิด
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2566 ขยายตัว 2.7% เมื่อตัดปัจจัยด้านฤดูกาลออกไป พบว่าเศรษฐกิจไทยเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QOQ) สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ 1.9% สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส หลังจากหดตัว -1.1% ในไตรมาสก่อน
ทำให้ SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียน รวมถึงการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวดี
โดยเฉพาะไตรมาส 2 ที่มีเม็ดเงินหาเสียงช่วงเลือกตั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยเข้าใกล้ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดและคาดจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ในช่วงกลางปีนี้
อย่างไรก็ดี การส่งออกยังน่าห่วงและมีแนวโน้มหดตัวในครึ่งแรกของปี แต่มีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีจากอานิสงส์การฟื้นตัวของอุปสงค์ในจีนหลังเปิดประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
เลือกตั้งจบจับตาผลกระทบเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ EIC ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เป็นปัจจัยที่ต้องจับตา ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยในกรณีฐาน SCB EIC มองการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะส่งผลกระทบไม่มากต่อเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี
เนื่องจากงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2566 ครอบคลุม รวมถึงมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา
อย่างไรก็ดี SCB EIC คาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบด้านลบชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีงบประมาณปี 2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้งคาดว่านโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2567
โจทย์ใหญ่รับมือ Q4 โลกชะลอ
ฟากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้โตที่ 3.7% โดยเมื่อมองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในไตรมาส 4/2566 ได้
“ดร.เชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โจทย์สำคัญด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเตรียมการก็คือ เตรียมการรับมือเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่จะชะลอตัวในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะกระทบกับภาคการส่งออกของไทย
“ไตรมาส 4 ส่งออกที่เคยมองว่าจะฟื้น ก็จะเจอสหรัฐ ยุโรปชะลอ เพราะดอกเบี้ยสหรัฐอาจค้างระดับสูงอยู่นาน ไม่ลง แล้วก็เรื่องแบงก์ที่ยังมีปัญหา ยังไม่นิ่งอีก ดังนั้นโจทย์สำคัญก็คือจะรับมือการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐกับยุโรปยังไง”
คงต้องเอาใจช่วยให้การจัดตั้งรัฐบาลราบรื่นโดยเร็ว เพราะมีโจทย์ทางเศรษฐกิจให้เข้ามาแก้ทันที