“ปิติ” ทีทีบี แนะทำธุรกิจ “ดอกไม้กับแมลง” รายใหญ่โตพร้อมรายเล็กสู่ความยั่งยืน

นายปิติ ตัณฑเกษม

“ปิติ” ซีอีโอ “ทีทีบี” หนุนธุรกิจรายใหญ่ต้องอยู่ร่วมธุรกิจรายเล็ก แนะทำธุรกิจรูปแบบ “ดอกไม้กับแมลง” ผลักดันสู่ความยั่งยืน หลังเอสเอ็มอีสร้างจ้างงานกว่า 13 ล้านราย ชี้บทบาทธนาคารไม่ใช่พาตัวเองสู่ “Net Zero” แต่ต้อง Empower ธุรกิจสู่ Net Zero

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวในงานสัมมนาปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “ESG Game Changer” ในหัวข้อ “จุดเปลี่ยน…ศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย” จัดโดย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

ความยั่งยืนไม่สามารถทำคนเดียวได้ ซึ่งเราอยากเห็นหลายสิ่งหลายอย่างเหมือนเดิม สิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม อุณหภูมิเท่าเดิม และธุรกิจเหมือนเดิม จึงไปผูกกับการไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่ความยั่งยืนคู่กับการเปลี่ยนแปลง

               

“หากไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีทางเลยที่จะยั่งยืน แต่ไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความยั่งยืน ดังนั้น ท้าทายมากที่จะเปลี่ยนอะไรให้เกิดความยั่งยืน เพราะโลกเปลี่ยนและบริบทเปลี่ยนไป”

ทั้งนี้ หากดูการเติบโตของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะมาจากการบริโภคเป็นส่วนใหญ่ แต่การบริโภคเกิดจากการกู้มาใช้จ่าย ทำให้มาพร้อมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยจะเห็นว่าเราอยู่ในจุดท็อป ๆ ของโลก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องออกมาตรการมาดูแล เพราะการบริโภคที่เกิดจากการกู้มาจับจ่ายไม่ยั่งยืนแน่นอน

ดังนั้น จะเห็นว่าหนี้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนเยอะขึ้น ซึ่งจากเดิมธนาคารพาณิชย์ไม่ได้เข้าไปเล่นมาก แต่หลังจากเศรษฐกิจไม่เติบโต ลูกค้ารายใหญ่หันไปออกหุ้นกู้ และผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) โตมากขึ้น

ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเข้ามาเล่นในสินเชื่อบริโภคมากขึ้น ซึ่งเราจะเป็นอย่างนี้ต่อไปหรือ เพราะหนี้ครัวเรือนเพิ่ม คนแก่ขึ้นเรื่อย ๆ และหากดูธุรกิจเอสเอ็มอีมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น แม้ว่าผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2/2566 ออกมาดี แต่จะเห็นว่าต้นทุนหนี้เสียก็ปรับเพิ่มขึ้น

และหากดูธุรกิจของธนาคาร หากดูในต่างประเทศ เช่น สหรัฐมีส่วนต่างกำไร (มาร์จิ้น) จะเห็นการเติบโตดี เพราะรูปแบบธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพื่อหาการเติบโต หากเทียบกับไทยการเติบโตน้อย มาร์จิ้นน้อย และความสามารถในการแข่งขันต่ำ

ซึ่งวงเงิน 14 ล้านล้านบาทที่ธนาคารรับฝากเข้ามา และนำไปปล่อยสินเชื่อต่อ หากดู 6 ล้านล้านบาทปล่อยให้ธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 40% ของจีดีพี วงเงิน 3 ล้านล้านบาทให้เอสเอ็มอี สร้าง 30% ของจีดีพี และอีก 5 ล้านล้านบาทปล่อยกู้ให้รายย่อย

โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ 3 ล้านล้านบาท สามารถจ้างงาน 13 ล้านคน เมื่อเทียบกับรายใหญ่ 6 ล้านล้านบาท หรือ 1.4 หมื่นบริษัท สามารถจ้างงานได้ 5 ล้านคน สะท้อนโครงสร้างประเทศว่าวงเงิน 3 ล้านล้านบาท แต่เป็นนายจ้างคนกว่า 13 ล้านคน

ดังนั้น เราต้องคิดใหม่ทำใหม่ ว่าธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็กหรือเล็กกว่า เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยอยู่ในรูปแบบดอกไม้กับแมลง ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่ก็โตไป จนทำให้ธุรกิจเล็กอยู่ไม่ได้ เพราะถ้าลูกจ้างเหล่านี้อยู่ไม่ได้ เพราะนายจ้างอยู่ไม่ได้ ก็ไม่มีคนซื้อของ เพราะธุรกิจใหญ่ 1.4 หมื่นบริษัทจ้างงาน 5 ล้านคน ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีรายได้ 1 ใน 4 หากรายได้ตรงกลางหายไป ธุรกิจขนาดใหญ่ก็หายไปด้วย

“หากเอสเอ็มอีไม่ยั่งยืน จะเกิดอะไรขึ้น หากแข่งขันไม่ได้ ซึ่งจะวนมาว่าคนไทยมีรายได้ไม่พอจ่าย ต้องเป็นหนี้เรื่อย ๆ อันนี้คือความยั่งยืนระดับชาติ จะปล่อยให้กลไกเศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ได้หรือ เพราะมีหนี้ครัวเรือนที่สูง และแก่ขึ้น ทำให้กระทบต่อผลิตภาพที่ไม่พัฒนา และในท้ายที่สุดก็กระทบต่อรายได้ ซึ่งก็วนกลับมากู้เพื่อใช้จ่าย”

นายปิติกล่าวต่อไปอีกว่า ในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการเข้าสู่การลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ในส่วนของธนาคารเปรียบเหมือนมดหายใจ โดยธนาคารไม่ค่อยสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่เราคือต้นทางของการสร้างคาร์บอน ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารควรทำไม่ใช่พาตัวเองเพื่อเป้าหมายสู่ Net Zero แต่ธนาคารควรสร้าง Empower ให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ Net Zero

“ความยั่งยืนทำไม่ได้เพื่อรางวัล แต่ต้องวัดผลได้ในทุกมิติ และการทำเรื่อง ESG เพื่อไล่ล่าการเปลี่ยนแปลง ส่วนรางวัลที่ได้มาก็แสดงให้เห็นว่าเราสามารถไล่ล่าการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนร่วมกันได้”