ธุรกิจกำไรแผ่ว-SCG รัดเข็มขัด กำลังซื้อหด-ลุ้นได้นายกฯคนใหม่ 4 ส.ค.

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส
รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

ธุรกิจกำไรตก โบรกเกอร์ประเมินไตรมาส 2 กำไร บจ.วูบ 12% เหตุเซ็กเตอร์ “ปิโตรเคมี-พลังงาน” ตัวฉุด-แย่ตามราคาน้ำมัน กลุ่ม “คอมเมิร์ซ” กำไรแผ่ว กำลังซื้อเริ่มเหือดแห้ง เหตุการเมืองไม่แน่นอน เซ็กเตอร์ “ฟู้ด” เติบโตดีเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม ด้านธุรกิจสนามบินรับอานิสงส์การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว “เอสซีจี” รัดเข็มขัดหั่นงบฯ ลงทุน ตั้งรับเศรษฐกิจท้าทายสูง

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมาณภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) งวดไตรมาส 2/2566 จำนวน 139 บริษัท จะปรับตัวลดลง 12% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และลดลง 30% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY)

โดยตัวถ่วงหลักคือเซ็กเตอร์ปิโตรเคมีและพลังงาน ตามราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่ปรับตัวลงในไตรมาส 2 ซึ่งหากตัดกลุ่มปิโตรเคมีและพลังงานออกไป ภาพรวมกำไรจะลดลง 6% QOQ และเพิ่มขึ้น 1% YOY สะท้อนกำไรจะค่อนข้างออกมาทรง ๆ

               

เซ็กเตอร์ที่สามารถมีกำไรเติบโตได้ทั้ง QOQ และ YOY คือเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว รับเหมาก่อสร้าง และอิเล็กทรอนิกส์ โดยกลุ่มนี้จะได้แรงหนุนจากกำไร บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) (DELTA) ที่ออกมาดี มีกำไรสุทธิ 4,668 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.1% QOQ และ 9.5% YOY โดยมีรายได้จากการขาย 35,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% YOY และ 11% QOQ

เติบโตจากกลุ่มผลิตภัณฑ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก จากกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเครือข่าย cloud storage และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง data center แต่กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานอ่อนตัว YOY และ QOQ จากตลาดยุโรปที่ลูกค้าระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น

ส่วนเซ็กเตอร์คอมเมิร์ซทิศทางกำไรอาจจะแผ่ว QOQ แต่เติบโตได้เล็กน้อย YOY สะท้อนจากกำลังซื้อเริ่มดรอปในช่วงเดือน มิ.ย. จากผลเรื่องการเมืองในประเทศที่มีความไม่แน่นอน ด้านเซ็กเตอร์ฟู้ดที่เติบโตดีเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่ม ขณะที่ทิศทางกำไรกลุ่มเนื้อสัตว์ยังไม่ค่อยดีนัก และทิศทางเซ็กเตอร์ขนส่ง อาทิ กลุ่มเรือไม่น่าจะดี แต่ที่มีกำไรจะออกมาดีคือหุ้นสนามบิน อย่าง บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

สำหรับภาพรวมกำไร บจ.งวดไตรมาส 3/2566 น่าจะฟื้นตัว QOQ และมีลุ้นกลับมาโตได้ YOY เนื่องจากเซ็กเตอร์ปิโตรเคมีและพลังงานที่เคยถ่วงทิศทางกำไรในไตรมาส 2 จะกลับมาดี ตามราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงเชื่อว่าไตรมาส 2 จะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้แล้ว โดยประเมินราคาน้ำมัน brent ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 85-90 เหรียญต่อบาร์เรล

ขณะที่เซ็กเตอร์ส่งออกน่าจะเติบโตดีตามช่วงไฮซีซั่น แต่กลุ่มค้าปลีกจะเข้าช่วงโลว์ซีซั่นที่การใช้จ่ายจะหดตัวเพราะเป็นช่วงฤดูฝน ประกอบกับการเมืองในประเทศที่ดีเลย์มาต่อในเดือน ก.ค.-ส.ค. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเซ็กเตอร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายฟื้นตัวได้ช้า

ทั้งนี้ ทิศทางราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้นนั้น จะส่งผลบวกต่อกลุ่มพลังงานและโรงกลั่นโดยตรง แต่จะส่งผลกระทบและกดดันต่อกลุ่มขนส่ง และกำลังซื้อการบริโภค จากราคาพลังงานที่ปรับตัวแพงขึ้นจากไตรมาสก่อน

สำหรับบริษัทใหญ่ที่ยังดูน่าเป็นห่วง อาทิ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ตามความกังวลสัญญาณหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นหลังหมดมาตรการช่วยเหลือ รวมถึง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.ซีพี แอ็กซ์ตร้า (CPAXT) ที่ต้องติดตามว่ากำไรไตรมาส 3 จะฟื้นตัวได้ขนาดไหน เพราะจะเป็นโลว์ซีซั่น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงคือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องติดตามสหรัฐและจีน ตามที่ตลาดคาดการณ์คือ จะชะลอตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (soft landing)

อย่างไรก็ดี อาจจะได้แรงหนุนจากประเด็นทางการเมืองในประเทศที่ชัดขึ้นประเมินว่าวันที่ 4 ส.ค.นี้ ควรจะต้องได้นายกรัฐมนตรี และน่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะออกมาได้เร็ว คาดว่ามาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาทน่าจะออกมาได้ช่วงต้นปี 2567

ทั้งนี้ เม็ดเงินที่ใช้ราว 5 แสนล้านบาท จะคิดเป็นประมาณ 3% ของ GDP ประเทศ จึงน่าจะช่วยหนุนให้ปีหน้าจะมีอัพไซด์ต่อประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี ที่ตลาดประเมินไว้จะโต 3% ปลาย ๆ ได้

ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี เปิดเผยว่า จากต้นปีที่เอสซีจีได้วางแผนงบฯลงทุนใหม่ในปี 2566 ไว้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท มองว่าไม่น่าจะเป็นไปตามแผน โดยอาจจะมีการลงทุนจริงแค่ 4 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ จะเป็นการลงทุนในโครงการปิโตรเลียมวงจร LSP ที่เวียดนาม และการลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด และโครงการที่จะช่วยลดต้นทุน

เนื่องจากต้องการรัดเข็มขัด เพราะเจอสถานการณ์กดดันทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจยังมีความท้าทายสูง มีปัจจัยเสี่ยงเยอะ เฟดเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ ดังนั้น มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะชะลอ เพราะฉะนั้น ในมุมของภาคธุรกิจต้องมีความระมัดระวังและเข้มงวดค่อนข้างมาก

เป้ายอดขายปีนี้ที่เคยวางไว้จะโต 10% ก็คาดการณ์ใหม่ว่าน่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว สาเหตุเป็นเพราะว่าตลาดภูมิภาคหดตัวลง ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุการก่อสร้างในบางประเทศหดตัวไปกว่า 10-20% ซึ่งจะมีผลกระทบกับเอสซีจีอยู่พอสมควร รวมถึงราคาผลิตภัณฑ์เคมีคอลส์ที่ลดลงกว่า 10-20% อีกด้วย เมื่อเทียบจากราคาเมื่อปีก่อน

สำหรับไตรมาส 2 มีกำไรสุทธิ 8,082 ล้านบาท ลดลง 51% QOQ และลดลง19% YOY และมีกำไรครึ่งปีแรก 24,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% YOY