เอสซีจี “รัดเข็มขัด” หั่นงบฯลงทุน ตั้งรับเศรษฐกิจท้าทายสูง

เอสซีจี

“รุ่งโรจน์” ซีอีโอเอสซีจี เผย “รัดเข็มขัด” หั่นงบฯลงทุนปีนี้เหลือแค่ 4 หมื่นล้านบาท ตั้งรับเศรษฐกิจท้าทายสูง-ปัจจัยเสี่ยงเยอะ คาดยอดขายต่ำกว่าปีก่อน สาเหตุตลาดภูมิภาคหดตัว-ราคาผลิตภัณฑ์เคมีคอลส์ลดลงจากปีก่อน หวั่นตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบโครงการลงทุนใหม่

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี เปิดเผยว่า จากต้นปีที่เอสซีจีได้วางแผนงบฯลงทุนใหม่ในปี 2566 ไว้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งปีก็มองว่าไม่น่าจะเป็นไปตามแผน โดยอาจจะมีการลงทุนจริงแค่ 4 หมื่นล้านบาท หลัก ๆ จะเป็นการลงทุนในโครงการปิโตรเลียมวงจร LSP ที่เวียดนาม และการลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด และโครงการที่จะช่วยลดต้นทุน

หั่นงบฯลงทุน รัดเข็มขัด

“การหั่นเป้างบฯลงทุนในปีนี้ เป็นเพราะเราต้องการรัดเข็มขัด เพราะว่าเจอสถานการณ์กดดันทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยเศรษฐกิจยังมีความท้าทายสูง ดูแล้วยังไม่ง่าย มีปัจจัยเสี่ยงเยอะ ล่าสุดเฟดเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อยังอยู่”

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

“ดังนั้นมีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจจะชะลอ เพราะฉะนั้นในมุมของภาคธุรกิจต้องมีความระมัดระวังและเข้มงวดค่อนข้างมาก แต่แน่นอนโครงการ LSP ต้องทำให้จบ และโครงการที่ลดต้นทุนเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันได้ รวมถึงเรื่องพลังงานสะอาดก็เป็นสิ่งที่เรามองว่าจะเป็นอนาคต ส่วนอื่น ๆ จะลดไปก่อน” นายรุ่งโรจน์กล่าว

คาดยอดขายต่ำกว่าปีก่อน

ส่วนเป้ายอดขายปีนี้ที่เคยวางไว้จะโตระดับ 10% นั้น ก็คาดการณ์ใหม่ว่าน่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว สาเหตุเป็นเพราะว่าตลาดภูมิภาคหดตัวลง ธุรกิจซีเมนต์และวัสดุการก่อสร้าง บางประเทศหดตัวไปกว่า 10-20% ซึ่งจะมีผลกระทบกับเอสซีจีอยู่พอสมควร รวมถึงราคาของผลิตภัณฑ์เคมีคอลส์ ที่ลดลงกว่า 10-20% อีกด้วย เมื่อเทียบจากราคาเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ประเมินภาพรวมธุรกิจของเอสซีจี ที่มีสัดส่วน 55% อยู่ในประเทศไทย และอีก 45% อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียนนั้น มองว่าธุรกิจในต่างประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ จากช่วงครึ่งปีแรกที่เห็นตลาดค่อนข้างซบเซามาก ทั้งในเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนธุรกิจในประเทศไทยยังไม่แน่ใจ หวังท่องเที่ยวจะมาได้อย่างต่อเนื่อง

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส

โดยคาดว่ากลุ่มธุรกิจที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างรายได้ของเอสซีจี คือ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ที่มีทิศทางที่ดีขึ้น แม้มีผลกระทบจากการบริโภคบ้าง แต่คนยังบริโภค และนักท่องเที่ยวยังเดินทางเข้าไทยอยู่ และคาดว่า บมจ.เอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) น่าจะทรงตัวได้

ตั้งรัฐบาลช้า หวั่นกระทบโครงการลงทุนใหม่

ส่วนกรณีจากการจัดตั้งรัฐบาลที่มีความล่าช้านั้น ในมุมมองของเอสซีจีค่อนข้างมีความกังวลในเรื่องว่าจะส่งผลให้โครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนสำหรับโครงการลงทุนใหม่ ๆ จะมีความล่าช้าไปมากหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ นอกจากนั้นแล้วยังค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับ “เรื่องภัยแล้ง” จากปีนี้ไปจนถึงสิ้นปีหน้าที่จะเข้าสู่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แม้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว แต่หากฝนขาดช่วงจะกระทบต่อภาคเกษตรและอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยวตามมาได้ ซึ่งหากลากยาว 10-20 เดือน จะทนกันได้หรือไม่ และธุรกิจจะมีระบบบริหารจัดการกันอย่างไรบ้าง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ค่อนข้างกังวลมาก

ประชุมบอร์ด ส.ค.-ก.ย. กำหนดแผนไอพีโอ SCGC

ส่วนความคืบหน้าของแผนการนำ บมจ.เอสซีจี เคมีคอลส์ (SCGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น ประมาณช่วงเดือน ส.ค-ก.ย. 2566 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาแผนเสนอขายหุ้นไอพีโออีกครั้งหนึ่ง โดยตามแผนเดิมจะไอพีโอประมาณช่วงไตรมาส 4/2566 ซึ่งรอผลประชุมว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน

Q2 กำไร 8 พันล้าน ลดลง 51% เจอรายการพิเศษ

นางจันทนิดา สาริกะภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2566 มีรายได้จากการขาย 124,631 ล้านบาท ลดลง 3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) และลดลง 18% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) โดยธุรกิจแพ็กเกจจิ้งมีรายได้จากการขายลดลง ในขณะที่ธุรกิจเคมีคอลส์มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น

โดยมีกำไรสุทธิ 8,082 ล้านบาท ลดลง 51% QOQ และลดลง 19% YOY เนื่องจากไตรมาสแรกมีการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน SCG Logestic จากการธุรกิจ SCGJWD Logestic และในไตรมาสนี้มีการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนใน บริษัท NocNoc.com อีกประมาณ 2,860 ล้านบาท ขณะที่เป็นกำไรจากการดำเนินงาน ประมาณ 5,200 ล้านบาท ทั้งนี้จะมีกำไรไม่รวมรายการพิเศษเติบโตขึ้น 14% QOQ “เป็นอานิสงส์ในเรื่องของต้นทุนพลังงานที่ลดลง และธุรกิจเคมีคอลส์สามารถเพิ่มปริมาณการขายได้”

กำไรครึ่งปี 2.4 หมื่นล้าน

ในส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 2566) มีรายได้จากการขาย 253,379 ล้านบาท ลดลง 17% YOY สาเหตุหลักจากดีมานด์ที่อ่อนตัวลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคอาเซียน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยมีกำไรสุทธิ 24,608 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% YOY จากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนไตรมาส 1-2 รวมกัน 1.4 หมื่นล้านบาท โดยหากไม่นับรวมจะเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 9,786 ล้านบาท ลดลง 49% YOY

สำหรับสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ในครึ่งปีแรกมียอดขาย 86,411 ล้านบาท คิดเป็น 34% ของรายได้จากการขายรวม และยอดขายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Choice) 137,258 ล้านบาท คิดเป็น 54% ของรายได้จากการขายรวม

ปัจจุบันมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในประเทศ สัดส่วน 57% ที่เหลืออีก 43% เป็นรายได้จากต่างประเทศรวมการส่งออกจากประเทศไทย จำนวน 108,672 ล้านบาท และจนถึง 30 มิ.ย. 2566 เอสซีจีมีสินทรัพย์รวม 942,018 ล้านบาท อยู่ในประเทศไทย 55% และอีก 45% อยู่ในอาเซียน

เคาะปันผล 2.50 บาทต่อหุ้น XD 9 ส.ค.

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทมีมติเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นเงินสดในอัตรา 2.50 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท โดยจ่ายปันผลจากผลกำไรงวดครึ่งปีแรกของปี 2566 (1 ม.ค.-30 มิ.ย.) โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD (วันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล) ในวันที่ 9 ส.ค. 2566 และกำหนดวันกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผลในวันที่ 10 ส.ค. 2566 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 2 ส.ค. 2566