เลขาฯ ก.ล.ต.คนใหม่ ดันแก้กฎหมาย-ไล่บี้ทุกคดีฟื้นเชื่อมั่น

พรอนงค์ บุษราตระกูล

รัฐบาลชุดใหม่ ภายใต้การบริหารของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแต่งตั้ง “พรอนงค์ บุษราตระกูล” เข้ามาดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คนใหม่ เป็นคนที่ 8 หลังจากกระบวนการคัดเลือกล่าช้าออกมา

ซึ่งหลังได้รับแต่งตั้ง เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ก็เข้าทำงานทันที เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2566 และล่าสุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการแถลงเปิดวิสัยทัศน์และนโยบายการทำงานเป็นครั้งแรก

Quick Wins ฟื้นความเชื่อมั่น

โดย “พรอนงค์” กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต. เปรียบเสมือน “บ้านหลังที่ 2” ของตนอยู่แล้ว เพราะก้าวขาเข้ามาร่วมงานตั้งแต่ปี 2555 ในคณะอนุกรรมการออกเกณฑ์ด้านต่าง ๆ และต่อมาก็ขยับขึ้นเป็นกรรมการกำกับตลาดทุน ตั้งแต่ปี 2557-2564 จากนั้นก็ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานชุดต่าง ๆ ของ ก.ล.ต. จึงมีความคุ้นเคยในเนื้องานและทีมงานของ ก.ล.ต.เป็นอย่างดี

สำหรับวาระการทำงาน 4 ปีนับจากนี้ ในส่วน “แผนระยะสั้น” ก็คือ ต้องกอบกู้ความไว้วางใจและความมั่นใจ (trust and confidence) ของนักลงทุนที่มีต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ให้กลับมาก่อน โดยสำนักงาน ก.ล.ต.จะต้องเป็นมืออาชีพ มีความสามารถ รักษาองค์กรให้มีความอิสระ รวมถึงต้องสร้างสมดุลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ แผน Quick Wins มีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1.ทบทวนกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้อำนาจ ก.ล.ต. เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ส่วนถ้าเกินอำนาจหน้าที่ ก็จะต้องสื่อสารว่า ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ (facilitator) เช่น การส่งเรื่องการดำเนินทางกฎหมายไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับลูกต่อ ขณะที่ ก.ล.ต.จะสนับสนุนกลไกตรงนั้นอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“จากนี้จะเห็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และดีเอสไอ มากขึ้น ในการดำเนินการทางกฎหมายกับเคสต่าง ๆ ซึ่งถึงแม้ไม่มีเคสใหม่ ๆ เข้ามา แต่เคสเก่า ๆ เรายืนยันว่าจะไม่เงียบ”

ADVERTISMENT

2.ยกระดับ gatekeeper เพื่อล้อมคอก ป้องกัน และขันนอต ปัญหาการทุจริต หรือสัญญาณที่จะบ่งชี้ว่าจะเกิดปัญหาในตลาดทุนให้ได้ เช่น บริษัทจดทะเบียนต้องมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน มีคณะกรรมการตรวจสอบ และต้องยกระดับป้องกัน แก้ไข ระบบภายในบริษัท เพื่อไม่ให้ทุกอย่างมาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายเมื่อกระทำผิดไปแล้ว

3.เพิ่มบทบาทการปราบปรามและตรวจจับในฐานะหน่วยงานกำกับตลาดทุน เพื่อไม่ให้เกิดไฟลุก หรือที่เรียกว่า ระบบ resilience ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) กว่า 800 บริษัท มีทั้งบริษัทที่ดี เกือบดี และไม่ดี จึงต้องเข้าไปพิจารณามากขึ้น เมื่อดำเนินการแล้วคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต น่าจะทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นลดน้อยลงไปได้

ADVERTISMENT

ลุยเอาผิด 2 เคสดัง

สำหรับการดำเนินการทางกฎหมายกับ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ทาง ก.ล.ต.ไม่ได้รอผล special audit ระยะที่สอง แต่ได้มีการตรวจสอบ และอยู่ในชั้นรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อขยายผลในฐานความผิดอื่น หรือผู้กระทำความผิดอื่นอยู่ ทั้งตัวกลางที่ขายหุ้นกู้ และผู้สอบบัญชี

“ที่ดำเนินการไปแล้วคือความผิดฐานกรณียื่นไฟลิ่งและหนังสือชี้ชวนในการขายหุ้นกู้อันเป็นเท็จ มีการตกแต่งบัญชี และการทุจริต ส่วนการตรวจสอบความผิดในการสร้างราคา การแพร่ข่าวสาร หรือการใช้ข้อมูลภายใน ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา”

ส่วนกรณี บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) หลังจากได้ดำเนินการกล่าวโทษไปแล้ว 2 ครั้งกับกลุ่มบุคคล ในฐานความผิดสร้างราคา และส่งเรื่องไปให้ดีเอสไอแล้ว หากมีเบาะแสเพิ่มเติม (หลักฐานใหม่) จะนำไปพิจารณามาตรการหรือเอาผิดต่อไป

“อันไหนที่หลักฐานชัดเชิงประจักษ์ได้ จะทำไปก่อน อันไหนมีหลักฐานที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม เราก็ดำเนินการอยู่ แต่ขอย้ำว่าเราไม่ได้อยู่เฉย ๆ มีการดำเนินการอยู่ตลอดเวลา โดยทุกเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามาอยู่ระหว่างการตรวจสอบ”

ดันตลาดทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ส่วนแผนระยะยาว “พรอนงค์” กล่าวว่า อยากผลักดันให้ ก.ล.ต.มีบทบาทในฐานะกลไกหลักในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ โดยจะส่งเสริมให้เกิดช่องทางการระดมทุนของทุกขนาดกิจการ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม และมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินและการลงทุนที่มีความหลากหลายมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ตลาดทุนต้องเป็นเครื่องมือของการออมระยะยาว โดยเฉพาะบริบทประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ซึ่งตอนนี้พยายามมุ่งส่งเสริมการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ให้เป็นทางเลือกมากยิ่งขึ้น

“เราอยากเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโต ทำให้ บจ.มีศักยภาพในการทำกำไรที่ดีขึ้น จะเห็นว่ากำไร บจ.ในช่วง 4-5 ปี ทรงตัวระดับ 1 ล้านล้านบาท อาจจะยังไม่เห็นการเติบโต ฉะนั้นเราต้องพยายามหา new growth หรือหา new s-curve ให้ตลาดหุ้นมีเสน่ห์มากขึ้น”

เล็งตั้งกองทุนเยียวยาผู้ลงทุน

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการคุ้มครองนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อยที่ได้รับความเสียหายจากการทุจริตหรือการฉ้อฉลในตลาดทุนนั้น ขณะนี้ ก.ล.ต.อยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “กองทุนเยียวยาผู้เสียหาย” คล้ายกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมถึงข้อจำกัด และรูปแบบในการดำเนินการ เมื่อได้ข้อสรุปของการศึกษาจะนำมาพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ดันแก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ อาทิ 1.เพิ่มบทบาทให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งตอนนี้กำลังอบรมทักษะพนักงานอยู่ 2.ควบคุมดูแลสำนักสอบบัญชีที่จะเข้ามาสอบบัญชีให้กับบริษัทในตลาดทุน เช่น การให้ใบอนุญาต, การดูแลกำกับกระบวนการต่าง ๆ ปัจจุบันนี้มีอำนาจควบคุมดูแลเฉพาะตัวผู้สอบบัญชีเท่านั้น ซึ่งต่อไปจะต้องยกระดับการทำงานของผู้สอบบัญชีให้มีคุณภาพมากขึ้น

และ 3.โอนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภท investment token ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อทำให้การพัฒนาและการกำกับเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการระดมทุนหุ้น โดยระหว่างทางจะปรับแก้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สินทรัพย์ดิจิทัล ให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย

“แน่นอนว่าคน ก.ล.ต.ต้องปรับ mind set และวิธีการทำงาน นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้มีบทบาทและการพัฒนาให้ชัดขึ้น ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของตัวเองที่จะถ่ายทอดลงมาให้ทีม และเดินไปด้วยกัน เชื่อว่าน่าจะบรรลุสิ่งที่เป็นบทบาทเดิม ๆ แต่ทุกคนจะมั่นใจมากขึ้น” เลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่กล่าว