
บทความโดย "ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์" CEO Jitta Wealth
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 อีกแค่ 1 เดือน ก็จะหมดปี 2566 แล้ว ผมเชื่อว่า จนถึงตอนนี้ ยังมีคนที่อยากลงทุน แต่หวาดหวั่นมากมายจนไม่กล้าลงทุนกันสักที เพราะเห็นแต่ข่าวร้ายมาตลอดทั้งปี เอาจริง ๆ แล้ว ถ้าคุณวางแผนจัดพอร์ตลงทุนดี ๆ กระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ให้สมดุล ผมเชื่อว่า จนถึงวันนี้คุณอาจจะเห็นเงินลงทุนของคุณมีกำไรขยับขึ้นมาแน่นอน
สำหรับใครที่บอกว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นลงทุนยังไงดี ไปไม่ถูกจริง ๆ ไม่รู้ประเทศไหนที่ยังพอน่าจะลงทุนได้ ยิ่งตอนนี้มาเห็นตลาดหุ้นไทยทรงอย่างแบดไหลรูดตลอดช่วงครึ่งปีหลัง ยิ่งทำเอานักลงทุนขวัญกระเจิงกันไปทีเดียว
แต่เอาจริง ๆ นะครับ ถ้าคุณมีเงินลงทุนอยู่ก้อนหนึ่งและต้องนำไปสร้างผลตอบแทนจริง ๆ ผมแนะนำให้ ‘จัดพอร์ตลงทุนกระจายความเสี่ยง’ สูตรนี้เอาอยู่จริง ๆ ครับ แม้คุณบอกมีเงินน้อยก็ไม่เป็นไรครับ ค่อย ๆ เริ่มต้นลงทุนไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาอย่างต่ำ 3-5 ปี คุณจะเริ่มเห็นการเติบโตของพอร์ตครับ
และหนึ่งในตลาดที่ผมอยากแนะนำให้ลงทุนคือสินทรัพย์ในตลาดสหรัฐอเมริกาครับ
ทำไมผมถึงเสนอในช่วงโค้งท้ายปีตอนนี้หรือครับ นั่นเพราะในปีหน้า 2567 สหรัฐอเมริกากำลังจะมีจุดเปลี่ยนที่ทั่วโลกจับตาอยู่ หลังจากที่เผชิญกับมรสุมเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยขาขึ้นที่กดดันเศรษฐกิจแปรปรวนมาตลอด 2 ปี
ไอดอลนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จของโลก ‘Warren Buffett’ ที่มีปรัญชาการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) เรียกสั้นๆ ว่า VI โดยปู่ Buffett เคยพูดไว้ว่า “Never bet against America” หรือแปลเป็นไทยว่า ‘อย่าแทงสวนอเมริกา’
ปู่ต้องการจะสื่อว่า ตลาดหุ้นอเมริกา หรือสภาพเศรษฐกิจอเมริกาในระยะยาวก็จะยังคงไปได้ดีอยู่ เพราะจากที่อเมริกาเคยผ่านวิกฤตมาหลายครั้งมาก และในหลายวิกฤตก็รุนแรงกว่านี้มาก แต่อเมริกาก็ยังผ่านมาได้จนถึงทุกวันนี้ และสุดท้ายแล้ว ดัชนีฯ ก็จะกลับมาขึ้นอยู่ดี
เพราะฉะนั้น แม้ในบางเวลาที่บรรยากาศการลงทุนดูขมุกขมัว แต่ผมก็พยายามมองหาโอกาสการลงทุนอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่าในระยะยาวไม่ว่าเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น เมื่อถึงเวลาจะต้องพลิกฟื้นกลับมาได้ตามวัฏจักร แต่ก็ไม่ได้บอกว่าความเสี่ยงจะหมดไปนะครับ เพราะเมื่อใดที่โลกยังหมุนเปลี่ยนอยู่ ก็ย่อมมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่คุณต้องติดตามและระมัดระวังเสมอ
ถามว่า เศรษฐกิจอเมริกาที่เป็นเบอร์หนึ่งของโลก มีอาการแย่มากมายหรือ ? ก็ไม่ใช่ แม้ว่าตลอดช่วง 2 ปีที่อเมริกาตกอยู่ในวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น และมีการคาดการณ์กันว่าจะเห็นภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ บางสำนักวิจัยคาดการณ์ไปถึงขนาดว่าจะเกิดภาวะถดถอยรุนแรง หรือ Hard Landing ด้วยซ้ำ
เศรษฐกิจสหรัฐแกร่งเกินคาด ดอกเบี้ยสูงข้ามปี
แต่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ กลับออกมาดีกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แถมตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง แม้ระหว่างทางจะเกิดปัญหาวิกฤตสถาบันการเงิน หรือภาคธุรกิจที่บาดเจ็บล้มหายตายจากไปบ้างเพราะทนพิษต้นทุนดอกเบี้ยสูงไม่ไหว แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงตามสภาพ แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่ปรับตัวอยู่รอดและยังทำผลประกอบการออกมาได้ดี ภายใต้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่สูงระดับ 5.25-5.50%
ทั้งนี้สหรัฐฯ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3/2566 ขยายตัว 4.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ
โดยการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 3 ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งขึ้น 4% การเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลัง การส่งออก การลงทุนของภาคเอกชนที่พุ่งขึ้น 8.4% และการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 4.6% สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของสหรัฐที่เร่งตัวขึ้น
ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งมีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจยังเติบโตต่อเนื่อง ล่าสุด จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนลดลงสู่ 2.17 แสนราย ต่ำกว่าคาดที่ 2.18 แสนราย
แนวโน้มในไตรมาส 4 ปีนี้ก็ยังมีความไม่แน่นอน เพราะตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนที่ทยอยออกมาบ้างก็ดี บ้างก็แย่ อย่างดัชนี CPI เดือน ต.ค. ปรับตัวขึ้น 3.2%YoY และดัชนี CPI พื้นฐาน เพิ่มขึ้น 4.0%YoY ต่ำกว่าตลาดคาด
ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดคาดหวังการยุติวงจรปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และอาจเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงิน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนพ.ย. ปรับตัวลงต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ ส่วนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเมื่อต้นเดือน พ.ย. ลดลงสู่ 2.17 แสนราย ต่ำกว่าคาดที่ 2.18 แสนราย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ยังประมาณการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ จะเติบโต 1.8% ในปีนี้และเติบโต 1% ในปีหน้า ขณะที่การประชุมของเฟดเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการปรับเพิ่มการเติบโตของ GDP เป็น 2.1% จากคาดการณ์เมื่อเดือนมิ.ย. โต 1%
และคาดอัตราว่างงานจะอยู่ที่ 3.8% ปรับลดลงจาก 4.1% พร้อมปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพี ปี 2567 จากคาด 1.1% เป็น 1.5% ขณะเดียวกัน นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวย้ำในการประชุมรอบนี้ว่า เป้าหมายของเฟด คือ การนำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงจอดอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ซึ่งมีทั้งความเป็นไปได้และความไม่แน่นอน สอดรับการคาดการณ์ GDP สหรัฐปี 2567 จะเติบโตลดลงมาอยู่ระดับ 1%
สำหรับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ประธานเฟดส่งสัญญาณล่าสุด ในงานเสวนา 24th Jacques Polak Annual Research Conference ซึ่งจัดขึ้นโดย IMF เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า เจ้าหน้าที่เฟดก็ยังไม่มั่นใจว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงมากพอที่จะควบคุมเงินเฟ้อได้หรือไม่ รวมถึงออกตัวแล้วว่า
ไม่มั่นใจว่าการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อมุ่งดึงเงินเฟ้อลงมาสู่กรอบเป้าหมาย 2% ในช่วงที่ผ่านมาจะบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ ดังนั้น หากเห็นว่าเป็นการเหมาะสมที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดมากขึ้นต่อไป เฟดก็จะไม่ลังเลเลย
“เฟดไม่ต้องการให้นโยบายการเงินมีความเข้มงวดมากเกินไป แต่เราตระหนักว่าความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงที่สุดคือความล้มเหลวในการควบคุมเงินเฟ้อ โดยขณะนี้เฟดกำลังประเมินว่า เราควรจะดำเนินการมากขึ้นอีกหรือไม่ และจากนั้นเราจะประเมินว่าควรตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าใด”
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินในขั้นต่อไปนั้น เฟดจะดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้มีเวลาในการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากประเมินที่ผิดพลาดเกี่ยวกับข้อมูลเศรษฐกิจบางด้าน และความเสี่ยงของการใช้นโยบายที่เข้มงวดมากเกินไป โดยจะตัดสินใจในการประชุมแต่ละครั้ง
ปีเตอร์ คาร์ดิลโล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทสปาร์ตัน แคปิตอล ซิเคียวริตีส์ มองว่า การสัญญาณนายพาวเวลว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นการสื่อว่า ภารกิจการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ และหากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจ เฟดก็ไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ข้อมูลล่าสุดจาก CME เฟดWatch Tool บ่งชี้ว่า นักลงทุนยังคงคาดการณ์ว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในปีนี้ แม้ได้รับรู้ถ้อยแถลงของนายพาวเวล แต่นักลงทุนมองว่า การเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าอาจจะถูกเลื่อนออกไป แน่นอนว่า ถ้อยแถลงของเขา ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ปรับตัวลงอีกระลอกรับข่าวดังกล่าว
หากถามว่าหุ้นลงมารอบที่เท่าไหร่ ผมไม่นับแล้วครับ เพราะความผันผวนขึ้นๆ ลงๆเป็นเรื่องปกติเมื่อมีข่าวร้ายพัดผ่านมา พอตลาดซึมซับแล้ว ตลาดก็ฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติ
หุ้นสหรัฐซึมซับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอน
ในรอบปี 2566 นี้ เป็นอีกปีที่ตลาดหุ้นสหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสูงนับตั้งแต่ต้นปี โดยในเดือนเม.ย. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง ดัชนี Dow Jones (DJIA) +1.75% สูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. หากดูดัชนี S&P 500 +1.96% ทำจุดสูงสุดตั้งแต่เดือนเม.ย. 2566
ดัชนี NASDAQ ให้ผลตอบแทน +2.43% สูงสุดตั้งแต่เดือนมี.ค. ที่ผ่านมา แต่ครั้นมาถึงวันที่ 10 ต.ค. ดัชนี S&P 500 ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว 5.03% ส่วนดัชนี NASDAQ ได้ปรับตัวลดลงมาแล้ว 5.53%
เมื่อมาถึงเดือนพ.ย. ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ รายสัปดาห์ (ณ 12 พ.ย. ) ดัชนี S&P 500 +1.31% ดัชนี DJIA +0.65% และดัชนี NASDAQ +2.37% ซึ่งปรับบวกเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันแล้ว หลังนักลงทุนคลายกังวลเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ย ทาง Raphael Bostic ประธานธนาคารกลางแอดแลนตา (เฟดeral Reserve Bank of Atlanta) กล่าวว่า เฟด จะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% ได้โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติมเนื่องจากผลกระทบทั้งหมดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้องใช้เวลา
ย้อนดูสถิติช่วงแย่ที่สุดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่เคยเกิดขึ้นก็เมื่อครั้งวิกฤต COVID-19 ปี 2563 ดัชนี S&P 500 ร่วงต่ำสุดที่ 2,237.40 จุด ในช่วงปิดตลาดวันที่ 23 มี.ค. 2563 ขณะที่เศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอย -3.5% จากผลกระทบการปิดประเทศ แต่หลังจากนั้น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็รีบาวด์ขึ้นมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะตลาดหุ้น NASDAQ ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากกลุ่มเทคโนโลยีที่มีน้ำหนักมากสุดในตลาดนี้ ท่ามกลางผลประกอบการที่พลิกฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง
หากมองไปปีหน้า คุณอาจมีคำถามว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงหนักๆ อยู่ยังลงทุนในสหรัฐฯ ได้จริงหรือ มุมมองส่วนตัวของผมคือ
อย่างแรก สหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับความอ่อนแอจากการค้างดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงครับ ถ้าดูผลสำรวจของ Reuters ชี้ว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25% – 5.50% จนถึงกลางปีหน้า แต่เฟดก็ยังไม่ได้ปิดประตูที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง แม้ว่าความเป็นไปได้จะต่ำก็ตาม
ตลาดก็คาดว่า ครึ่งปีหลังของปี 2567 อาจเห็นเฟดลดดอกเบี้ย ถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวหรืออ่อนแอเกินคาด แต่ก็คงไม่ได้จะเกิดขึ้นในเวลาอันสั้นนี้ โดยตลาดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ จะชะลอตัวลงเหลือ 1.1% ต่อปีในไตรมาส 4 ปีนี้ และเฉลี่ยเพียง 1.1% ในปี 2567
และนักวิเคราะห์ก็คาดการณ์ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเฟดไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก เพียงแต่ต้องรอให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลง จากนโยบายและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมา
ตอนนี้นักลงทุนต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์ แม้จะคาดการณ์ว่าเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงไปอีกสักระยะ แต่หากมีการปรับลดที่เร็วขึ้น จะส่งผลต่อการกลับตัวของตลาดหุ้นในปีหน้า ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป อาจจะได้เห็นข่าวดีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปี 2567 ก็เป็นได้
ทั้งนี้ วัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา การประชุมของ FOMC จำนวน 13 ครั้ง ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2565 จนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2566 ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ที่ 5.25-5.50% หลังจากนั้นเฟดมีมติคงดอกเบี้ยระดับนี้ 2 ครั้งติดต่อกันจนถึงปัจจุบันนี้
อีกความเสี่ยงใหญ่ รัฐบาลขาดดุลการคลังที่อยู่ระดับสูง ล่าสุด เมื่อต้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา Moody’s ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือรัฐบาลสหรัฐฯ สู่เชิงลบ จากมีเสถียรภาพ โดยคาดการขาดดุลการคลังจะอยู่ในระดับสูง และจะทำให้ความสามารถชำระหนี้ลดลงอย่างมาก แต่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ระยะยาว ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ์และไม่มีประกันของรัฐบาลไว้ที่ระดับ Aaa
ทั้งนี้ ปีนี้สหรัฐฯ รอดพ้นวิกฤต Government Shutdown หรือการปิดทำการหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เมื่อสภาคองเกรสตัดสินใจผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเมื่อต้นเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยในปีหน้า จึงยอมเปิดเพดานขาดดุลการคลังตามที่รัฐบาลขอ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป
ด้านความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่ทั่วโลก ยังคงเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เรียกกันว่า สงครามการค้า หรือ Trade War ที่ยืดเยื้อมานานหลายปี และไม่น่าจะหายไปง่ายๆ ตามมาด้วย Chip War อีก แม้ล่าสุดประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้พบปะกับประธานาธิบดี สีจิ้นผิงเป็นครั้งแรก เพื่อหารือบรรเทาความขัดแย้งทางทหาร การค้า ยาเสพติดและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งอาจทำให้โลกผ่อนคลายบ้างและต้องเฝ้าติดตามอยู่ตลอด หลังจากที่นักลงทุนโลกชินชาและสะท้อนในตลาดลงทุนเป็นระยะ ๆ
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากสงครามตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่ยังระอุในดินแดนปาเลสไตน์ และอาจเชื่อมไปถึงสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าได้ แต่แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันผันผวน กดดันต้นทุนต่อเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูง ซึ่ง Bloomberg เคยคาดการณ์ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดว่า ราคาน้ำมันอาจสูงถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงเหลือ 1.7% ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจทำให้ผลผลิตโลกลดลงประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในระยะข้างหน้า ผมยังเชื่อว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะชะลอตัวแบบ Soft Landing อาจจะเรียกได้ว่าเป็นก้นกระทะของวัฏจักรเศรษฐกิจขาลงและวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นที่ใกล้ยุติแล้ว
ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้ได้ปรับตัวลดลงมากกว่าปรับตัวขึ้น ปัจจัยพื้นฐานด้านผลประกอบการของบริษัทในตลาดก็ยังออกมาดูดีในหลาย ๆ กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีหลายๆ บริษัทที่โชว์ฟอร์มสวย แม้แต่หุ้นกลุ่มอื่นๆ ก็ยังโชว์ผลงานเติบโตดี สวนทางกับราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาไม่น้อย แต่ก็ยังมีบริษัทในตลาดอีกมากที่ผลประกอบการยังไม่ดีเพราะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงินและเศรษฐกิจที่เปราะบางเกิดขึ้นตามวัฏจักรการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน
ตั้งหลักลงทุนในสหรัฐฯ ยิ่งลงทุนเวลานาน ความเสี่ยงยิ่งลดลง
ช่วงเวลานี้เป็นฤกษ์ดีที่จะหาโอกาสลงทุน ถ้าคุณต้องการการเลือกหุ้นรายตัว เหมาะสำหรับในภาวะที่ตลาดยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น สิ่งที่คุณจะต้องมองคือการลงทุนระยะยาว มุ่งหาหุ้นคุณภาพที่มีคุณลักษณะของธุรกิจที่มีการเติบโตดี มีความสามารถทำกำไรได้ดีในระยะยาว จะต้องมีจุดแข็งที่คู่แข่งก็ตามไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม ข้อได้เปรียบจากขนาด (Economy of Scale) หรือเป็นแบรนด์ที่มีอิทธิพลต่อโลก
ยกตัวอย่างหุ้นที่ปู่ถืออันดับต้นๆ Apple, Bank of America, American Express, Coca-Cala, Chevron เป็นต้น หรือหากใครที่มองหาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีระดับโลก เช่น Google และ Microsoft ที่ปีนี้ทำผลดำเนินงานออกมาเติบโตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) หุ้นคุณค่า (Value Stock) และหุ้นที่ราคาปรับขึ้นช้า (Laggard Stock) มีโอกาสที่จะกลับเป็นขาขึ้นตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ถ้าคุณสนใจหุ้นสหรัฐฯ จริงๆ ผมมีแหล่งข้อมูลดีๆ ที่ทีมงานผมรวบรวมไว้ให้คุณเข้าไปศึกษาข้อมูลการลงทุนใน Jitta.com ที่จะมีการจัด Ranking หุ้นดีราคาถูกของแต่ละประเทศเอาไว้ หรือหากเป็นแผนการลงทุนก็สามารถศึกษากองทุนส่วนบุคคลนโยบายลงทุน Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ ได้ครับ
แต่หากคุณอยากลงทุนแบบพอร์ตที่กระจายความเสี่ยงให้แล้ว ผมมีสูตรที่จัดพอร์ตตอบโจทย์ทุกสภาวะการลงทุนที่ไม่แน่นอนในเวลานี้ นั่นก็คือ Global ETF ที่มีการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) และการกระจายความเสี่ยง (Diversification) ตามหลักการ Modern Portfolio Theory (MPT) ซึ่งทั้ง 2 เป็นเพียงไม่กี่สิ่งในโลกการลงทุนที่คุณสามารถควบคุมได้ครับ ไม่เหมือนสภาวะตลาด เศรษฐกิจ หรือราคาหลักทรัพย์ ที่คุณไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ได้
โดย Global ETF มีการลงทุนในพันธบัตรกับหุ้นกู้ (เสี่ยงต่ำ) และหุ้นบริษัทจดทะเบียน (เสี่ยงสูง) จัดสัดส่วนที่แตกต่างกัน ตามระดับความเสี่ยงที่รับได้(พอเพียง สมดุล และเติบโต) พร้อมทั้งจะทำการปรับพอร์ตลงทุนอัตโนมัติเพื่อรักษาวินัยการลงทุน ซึ่งการทำ Back Test ผลตอบแทนเฉลี่ย 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2556-2565) ของ Global ETF ทั้ง 3 แผน แผนเติบโตอยู่ที่ 7.57% ต่อปี แผนสมดุลอยู่ที่ ต่อปี 5.23% ต่อปี ซึ่งทั้งสองแผนนี้จะเห็นว่า สูงกว่าดอกเบี้ยเฟดในปัจจุบันและสูงกว่าดอกเบี้ยไทยมากด้วย ส่วนแผนพอเพียงอยู่ที่ 2.30% ซึ่งก็ยังสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทยนะครับ
ทั้ง 3 แผนการลงทุนของ Global ETF ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวแนวทางนี้จะช่วยประคองพอร์ตลงทุนไม่ให้ขาดทุนหนัก และลดความผันผวนของผลตอบแทนได้ นักลงทุนสามารถลงทุนได้อย่างสบายใจ ไม่ว่าจะเผชิญความเสี่ยงใดๆ ก็ตาม และพอร์ตลงทุนสร้างผลตอบแทนในระยะยาว นี้คือตัวช่วยที่ให้ลงทุนระยะยาวได้แบบสบายใจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความซับซ้อนและสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง หลาย ๆ เรื่องอาจเกิดขึ้นยืดยาวกว่าที่คิด ตัวตลาดเองก็ยังคงมีความอ่อนไหวอยู่พอสมควร ฉะนั้นเราจึงมีแนวทางปฏิบัติมาแนะนำ 3 แนวทางด้วยกัน
- สำหรับนักลงทุนที่ยังคงกังวล ก็สามารถติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจ
- หากใครที่กลัวจะพลาดโอกาสในการลงทุน เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงเดินหน้าต่อไปท่ามกลางความผันผวนของตลาด เราแนะนำให้ DCA คือทยอยลงทุนหรือเพิ่มทุนแบบถัวเฉลี่ย
- จัดสรรพอร์ตลงทุน แบ่งสัดส่วนไปลงในกลุ่มตราสารหนี้ เพราะในสถานการณ์ปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มสูงขึ้นและตลาดหุ้นผันผวน แต่ฝั่งตราสารหนี้กลับได้รับประโยชน์ หากแบ่งสัดส่วนลงทุนในสินทรัพย์ทั้ง 2 แบบก็จะทำให้พอร์ตมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย
สุดท้าย ผมอยากบอกคุณว่า ‘เวลา’ คือ กลยุทธ์การลงทุนที่เรียบง่ายแต่สู้ตลาดได้ครับ นับเป็นสิ่งที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง คือ ระยะเวลาสามารถช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนหรือแม้กระทั่งลดความเสี่ยงได้
‘เวลา’ จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการลงทุนของคุณ ว่าการลงทุนครั้งนี้คุณมองเอาไว้ยาวแค่ไหนและสินทรัพย์ใด กลยุทธ์ หรือวิธีแบบไหนที่เหมาะกับเป้าหมายของคุณ
ยิ่งลงทุนในระยะเวลานานขึ้น โอกาสขาดทุนก็จะยิ่งต่ำลง ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลง แต่แนวโน้มในระยะยาวก็ยังคงเป็นการขยับเพิ่มขึ้นอยู่ดี อย่างที่ปู่ Buffet บอกไว้
ถ้าคุณมั่นใจว่าลงทุนอย่างถูกหลักการแล้วพอร์ตของคุณก็จะเติบโตได้แน่นอนครับ