เทียบเงื่อนไข TESG กองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่กับ SSF-RMF

เทียบเงื่อนไข TESG กองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่กับกองทุน SSF-RMF คลังเล็งเสนอ ครม.อังคารที่ 21 พ.ย.66 

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ช่วงปลายปีแบบนี้ “กองทุนลดหย่อนภาษี” เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของทุกคนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF: Super Savings Fund) กองทุนรวมเพื่อการเลื้ยงชีพ (RMF: Retirement Mutual Fund) เพราะเป็นเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ใช้ในการหักลดหย่อนภาษี

และปีนี้กระทรวงการคลังมีแผนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่จะถึงนี้ เพื่อจัดตั้งกองทุนลดหย่อนภาษีตัวใหม่ โดยจะใช้ชื่อว่า กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG: Thailand ESG Fund) เพื่อวัตถุประสงค์การออมในระยะยาวในตลาดทุนไทย

วันนี้ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักและเทียบเงื่อนไขกองทุน TESG กับกองทุน SSF และ RMF ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

เปิดหลักเกณฑ์กองทุน TESG

  • ระยะเวลาถือครองลงทุน 8 ปีเต็ม (10 ปีปฏิทิน)
  • ลงทุนหุ้นไทยในดัชนี SETTHSI และ SETESG ปัจจุบันมี 210 บริษัทจดทะเบียน
  • ลงทุนในตราสารหนี้ไทย ESG Bond
  • นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท – การลดหย่อนภาษีแยกออกจากวงเงิน SSF-RMF
  • เริ่มซื้อกองทุนได้ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2566
  • หักลดหย่อนภาษีรอบเดือน มี.ค.2567 ได้ทันที

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะต้องออกหลักเกณฑ์เรื่องกองทุน TESG มาให้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องให้เสร็จภายใน 2 วัน

และกรมสรรพากรจะทำเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนภายในวันศุกร์ (17 พ.ย. 2566) เพื่อจะนำเรื่องนี้เสนอ ครม. ภายในวันอังคารที่ 21 พ.ย. 2566 โดยคาดว่าจะให้เริ่มซื้อกองทุนได้ตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.2566 เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เลยในรอบเดือน มี.ค. 2567 เบื้องต้นภายในระยะเวลา 1 เดือน คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ากองทุนดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

“เชื่อว่ากองทุนตัวนี้จะเป็นแรงหนุนให้ บจ.รายอื่น ๆ สนใจจะเข้าเกณฑ์ ESG เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ซึ่งไม่ใช่บริษัทใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่บริษัทเอสเอ็มอีก็เป็นบริษัทที่มี ESG ที่ดีได้ เราไม่ได้ปิดกั้น และเชื่อว่าจะตอบโจทย์ประเทศไทยที่จะเข้าร่วมในกติกาโลกที่มุ่งไปสู่ความเป็นกรีน ฉะนั้นแนวทางนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งการส่งสัญญาณว่าเรามีเครื่องมือที่จะตอบโจทย์ความเป็นกรีนในเรื่องของตลาดทุน” ปลัดคลัง กล่าว

เงื่อนไข SSF

สำหรับกองทุน SSF ถือเป็นกองทุนที่มติ ครม. ได้อนุมัติจัดตั้งขึ้นมาแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF: Long Term Fund) ที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกองทุน SSF มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและพัฒนาปรับปรุงนโยบายการลงทุน ซึ่งสำหรับเงื่อนไขกองทุน SSF คือ

  • ระยะเวลาถือครองลงทุน 10 ปี นับจากวันแรกที่ซื้อ
  • นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท
  • ลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท
  • การลดหย่อนภาษีนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ (กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท)
  • ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปี 2563-2567

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า หลังจากนี้เฟทโก้จะมีการนัดหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจะนำเสนอมาตรการทบทวนเงื่อนไขกองทุน SSF ซึ่งจะหมดอายุในปี 2567 รวมถึงการออมเพื่อการศึกษาของเด็ก และเรื่องกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund : IFF) เพราะเชื่อว่ารัฐบาลคงจะมีการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นในอนาคต และพยายามหามาตรการให้ตลาดทุนมีส่วนช่วยสังคมเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสอดรับนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือคนตัวเล็ก

หลักเกณฑ์ RMF

  • ระยะเวลาถือครองลงทุนขั้นต่ำ 5 ปี และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปี
  • นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ แต่สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท
  • การลดหย่อนภาษีนับรวมกับการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น ๆ (กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ แต่จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท)

ทั้งนี้หากรวมวงเงินลดหย่อนภาษีของกองทุน TESG สูงสุด 1 แสนบาท เพิ่มเติมจากกองทุน RMF และกองทุน SSF ที่รวมกันลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท ดังนั้นเมื่อนับรวมกองทุน TESG ต่อไปจะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 6 แสนบาท (TESG+SSF+RMF)