
เงินบาทแข็งค่าหลังราคาทองพุ่ง ตลาดจับตา ผลการประชุมคณะนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(29 พ.ย.) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ(PCE) ของสหรัฐ
ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/11) ที่ระดับ 34.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ (27/11) ที่ระดับ 35.11/12 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก หลังดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลงที่ระดับ 103.19 สอดคล้องกับการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี โดยภาพรวมค่าเงินดอลลาร์สหรัฐถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ยุติวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว หลังการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาดก่อนหน้านี้
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐนั้น กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวลดลง 5.6% สู่ระดับ 679,000 ยูนิต ในเดือน ต.ค. ต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 723,000 ยูนิต จากระดับ 719,000 ยูนิตในเดือน ก.ย. และเมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านใหม่ปรับตัวขึ้น 17.7% ในเดือน ต.ค. ทั้งนี้ยอดขายบ้านใหม่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง
นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ลดลง 17.6% สู่ระดับ 409,300 ดอลลาร์ในเดือน ต.ค. ส่วนสต๊อกบ้านใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 439,000 ยูนิต จากระดับ 433,000 ยูนิตในเดือน ก.ย. และเมื่อพิจารณายอดขายบ้าน และสต๊อกบ้านในตลาด พบว่าผู้ขายบ้านต้องใช้เวลา 7.8 เดือนในการขายบ้านจนหมดสต๊อกในตลาด เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.2 เดือนในเดือน ก.ย.
โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.87-34.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.91/92 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/11) ที่ระดับ 1.0956/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/11) ที่ระดับ 1.0950/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดยังคงรอติดตามถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนและทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างไร
ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0933-1.0962 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0947/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/1) ที่ระดับ 148.20/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (27/11) ที่ระดับ 149.29/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากแรงหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต
ซึ่งทำให้การแข็งค่าของค่าเงินเยนอาจจะเป็นปัจจัยลบต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่น หนุนให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นทยอยแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 148.5 เยน/ดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ตามการปรับตัวลดลงของส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลต์สหรัฐกับญี่ปุ่นโดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 147.96-148.83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.61/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐประจำเดือน พ.ย. (28/11), ดัชนีราคาบ้านเดือน ก.ย.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ (28/11), ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของสหรัฐ (29/11),
ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยและถ้อยแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (29/11), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน (30/11) และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐ (Personal Consumption Expenditures: PCE) เดือน ต.ค. (30/11)
สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -8.50/-8.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.00/-10.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ