
เปิดชื่อ 3 บลจ. ขายกองทุน Thai ESG ได้ทะลุ 1,000 ล้าน โดย บลจ.กสิกรไทย ยอดขายนำอันดับ 1 ที่ 1,425 ล้านบาท ด้าน บลจ.ไทยพาณิชย์ ทำยอดขายรองมาที่ 1,420 ล้านบาท-บลจ.บัวหลวง ขายได้ 1,000 ล้านบาท
วันที่ 3 มกราคม 2567 นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG : TESG) ซึ่งเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี ที่เปิดเสนอขายพร้อมกัน 22 กองทุน จาก 16 บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมานั้น ยอดขายปัจจุบัน (ข้อมูล วันที่ 2 มกราคม 2567) มีเม็ดเงินไหลเข้ามากกว่า 5,000 ล้านบาท โดย บลจ.กสิกรไทย และ บลจ.ไทยพาณิชย์มียอดขายที่ใกล้เคียงกัน สำหรับ 5 อันดับแรก ที่มียอดขายสูงสุดได้แก่
อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย ทำยอดขายได้ 1,425 ล้านบาท โดยตั้งขายเพียงแค่กองเดียวแบบ Passive Fund (ลงทุนแบบเกาะไปตามดัชนีอ้างอิง) กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน ชนิดเก็บสะสมกำไรโดยไม่จ่ายปันผล เป็นกองที่จะเกาะไปกับหุ้นดัชนี SET100 TRI ที่มีการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์ ทำยอดขายได้ 1,420 ล้านบาท โดยตั้งกอง Thai ESG ไว้ 6 แบบ แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ แบบกองผสม (หุ้นและตราสารหนี้แบบยืดหยุ่นน้ำหนัก) แบบกอง Active (คือใช้ฝีมือผู้จัดการกองทุนมากและคิดค่าธรรมเนียมสูง) และแบบกอง Passive (ลงทุนแบบเกาะน้ำหนักตามดัชนี และคิดค่าธรรมเนียมต่ำ)
อันดับ 3 บลจ.บัวหลวง ทำยอดขายได้ 1,000 ล้านบาท โดยตั้งขายกองเดียวในแบบกอง Active ชื่อ บัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าลงทุนหุ้นที่มี ESG ที่ดี และคัดเลือกว่าจะให้ผลตอบแทนดีที่สุด 10 อันดับแรก เก็บค่าธรรมเนียมในระดับกลาง ๆ ราว 1.6% ต่อปี สอดคล้องกับความเป็นกอง Active ซึ่งผมสังเกตว่าเก็บต่ำกว่ากอง Active ของหลายค่ายที่เก็บแถว 2% ต่อปี
อันดับ 4 บลจ.กรุงไทย ทำยอดขายได้ 665 ล้านบาท โดยมีทั้งหมด 3 กอง คือ 1.แบบผสมหุ้น ESG เกรด A กับตราสารหนี้ ในสัดส่วน 70/30 ส่วนแนวทาง 2.Active Fund ลงในหุ้น ESG เกรด A และแนวทาง 3.หุ้น ESG 50 ตัวที่ใหญ่สุด โดยทั้ง 3 กองมีนโยบายจ่ายปันผลเช่นเดียวกัน โดยกองที่ขายดีสุด คือกองแบบผสมหุ้นกับตราสารหนี้ 70/30 ทำยอดขายได้ 335 ล้านบาท
อันดับ 5 บลจ.เกียรตินาคินภัทร ทำยอดขายได้ 589 ล้านบาท ซึ่งมีการเสนอขายเป็น 2 กองทุน คือ กองพันธบัตรรัฐบาล กับกองหุ้นในแนว Active Fund
ส่วนอีก 11 บลจ. เช่น กรุงศรี ทิสโก้ ยูโอบี และ บลจ.อื่น ๆ นั้นก็มียอดลดหลั่นกันลงไป ตั้งแต่ 100 กว่าล้านบาท ลงไปถึงระดับหลายสิบล้านบาท และน้อยสุดคือ ต่ำกว่า 10 ล้านบาท