
“อมร” เอ็มดี วิริยะประกันภัย กางแผนปี 2567 รักษากำไร 3,000 ล้าน ตั้งเป้าเบี้ยรับรวม 43,000 ล้านบาท โต 6% บุก EV แย้มเปิดคุยผู้ผลิต-เจ้าของแบรนด์อีวีทุกราย ตั้งหน่วยงานพิเศษ-ดึงวิศวกร ให้คำแนะนำเข้าศูนย์ซ่อม ลดข้อผิดพลาด
กาง 2 กลยุทธ์ ขยาย VClaim on VCall ทั่วประเทศ เปิดตัว V-Inspection บริการ AI ช่วยตรวจสภาพรถยนต์ก่อนรับประกัน โชว์พอร์ตลงทุน 6 หมื่นล้าน ลงทุนหุ้นเกือบ 3 หมื่นล้าน ปีที่แล้วผลตอบแทน 4.4%
วันที่ 14 มีนาคม 2567 นายอมร ทองธิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ระดับ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการรักษาระดับการทำกำไรที่ใกล้เคียงกับปี 2566 โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะอยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เติบโต 6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มาจากเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 38,000 ล้านบาท เติบโต 6% และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) อีกประมาณ 5,000 ล้านบาท เติบโต 11%
โดยพอร์ตการรับประกันรถอีวีปีนี้ ตั้งเป้าการเติบโตตามตลาด ในเบื้องต้นจะมีการเปิดพูดคุยกับทางผู้ผลิตหรือเจ้าของแบรนด์รถอีวีทุกราย เพราะบริษัทพร้อมที่จะรับประกัน แต่คงยังไม่สามารถที่จะคาดการณ์การเติบโตของตลาดได้ในเวลานี้
ทั้งนี้ปิดสิ้นปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีพอร์ตรับประกันรถอีวีรวม 18,000 คัน เบี้ยรับรวมกว่า 400 ล้านบาท เติบโต 200% จากปีก่อนหน้า ที่มีรถอีวีอยู่ 5,000 คัน อย่างไรก็ตามราคาเบี้ยประกันรถอีวีของบริษัทจะยังสูงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 10-15% ซึ่งเป็นอัตราเบี้ยที่มั่นใจว่าบริษัทยังรับประกันได้

“สถานการณ์ยอดเคลมสินไหมของรถอีวีถือว่ายังพอรับได้ ประเมินจากเบี้ยประกันส่วนที่ยังไม่ได้เป็นของบริษัท (Unearned Premium) ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพอร์ตงานรถอีวีรับไว้ไม่มากเกินไป และบริษัทกำลังอยู่ในช่วงระหว่างศึกษา ยังไม่บุกตลาดเชิงรุกเต็มที่ เพราะที่กังวลคือปัญหาทางเทคนิค ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เมื่อก่อนเรามีเจ้าหน้าที่ประเมินราคาค่าซ่อม จะรู้เฉพาะเรื่องเครื่องมือ กลไกในรถสันดาป แต่พอเป็นรถอีวีชิ้นงานเปลี่ยนไป กระบวนการซ่อมเปลี่ยนหมด
เราจึงต้องมีทีมงานที่เรียนรู้งานซ่อมรถอีวีเพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับผู้ใช้รถอีวีที่ทำประกันกับบริษัท จะได้รับการดูแลเหมือนรถสันดาป จึงตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเป็นพิเศษ และมีวิศกรที่จะมาให้คำแนะนำในกรณีรถเกิดเหตุแล้วเข้าศูนย์ซ่อม เราจะมีการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ดีปีนี้มีความพร้อมอาจจะรุกตลาดเพิ่มขึ้น” นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวเสริม
นายอมรกล่าวต่อว่า สำหรับกลยุทธ์ปีนี้บริษัทวางไว้ 2 ด้านหลัก ที่จะมุ่งเน้นส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด “ปีแห่งความมั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า” คือ กลยุทธ์ที่ 1 การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมและบริการ เพื่อให้ประสบการณ์ของผู้เอาประกันได้รับบริการเมื่อเกิดเคลม หรือระหว่างผู้เอาประกันภัยกับวิริยะประกันภัยมีประสบการณ์ที่ดี
อาทิ มีการเปิดตัว VClaim on VCall 1-2 ปีมาแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีประมาณ 400,000 เคลม ในกรณีที่ทางผู้เอาประกันต้องการให้บริษัทไปตรวจสอบอุบัติเหตุของเคลมต่าง ๆ
โดยบริษัทจะใช้ VClaim on VCall ในการติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกัน ทำให้การนัดหมายและการรอคอยร่นระยะเวลาลง ซึ่งผู้เอาประกันภัยได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น และปีนี้บริษัทมีแผนที่จะขยาย VClaim on VCall ไปใช้บริการให้ได้ทั่วประเทศ
และอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาเพิ่มความสะดวกสบายคือ ปีนี้จะเปิดตัวนวัตกรรม “V-Inspection” เป็นบริการที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการตรวจสภาพรถยนต์ก่อนการรับประกัน ให้ผู้เอาประกันสามารถตรวจสภาพรถยนต์ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ โดยไม่จำเป็นต้องรอการนัดหมายจากบริษัท
นอกจากนี้ในด้านประกันรถยนต์ยังคงมีการขยายจุดรอตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์อย่างต่อเนื่องไปทั่วประเทศ เสริมกับเครือข่ายศูนย์สาขาที่มีอยู่ 150 แห่งทั่วประเทศ
“ถึงแม้ว่าเรามีการใช้เทคโนโลยีเข้ามามาก แต่เราไม่ได้ลดคน ปัจจุบันเรามีพนักงาน 6,700 คน โดยเป็นพนักงานเคลม 2,000 คน แต่สิ่งที่เราทำคือเราพยายามมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพคนและเรียนรู้เพื่อการบริหารจัดการที่ทันสมัยมากขึ้น เพื่อดูแลลูกค้าได้ดีมากขึ้น ขอย้ำว่าวันนี้ถึงแม้เราจะเป็นเบอร์ 1 แต่เราก็ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งในปีต่อ ๆ ไป” นายสยมกล่าวเพิ่ม
นายอมรกล่าวอีกว่า และกลยุทธ์ที่ 2 การนำข้อมูล Big Data ที่ได้ดูแลบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ สะสมมาเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี เพื่อวิเคราะห์พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้เอาประกัน โดยขั้นตอนคือการวิเคราะห์ข้อมูล ความเสี่ยง และประเมินผลถึงเบี้ยประกันและความคุ้มครองที่เหมาะสม รวมถึงการพัฒนาโปรดักต์เฉพาะบุคคล
โดยในปีนี้บริษัทมีโปรดักต์ในไปป์ไลน์เตรียมออกสู่ตลาดหลายแบบ อาทิ V-Motor ประกันรถยนต์ตามระยะทาง ขับเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น, ประกันภัยชั้น 1 Good Drive เป็นการการันตีเงินคืนถึง 30% ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่มีการเกิดเหตุ เป็นฝ่ายผิด ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจาก 2+Good Drive
“และเพื่อให้มั่นใจว่าจะส่งมอบประสบการณ์ที่คุ้มค่าให้กับผู้เอาประกันภัยได้ บริษัทได้ออก Viriyah Privileges เป็นสิทธิพิเศษที่ทางผู้เอาประกันภัยสามารถลงทะเบียนผ่าน Line Official ของบริษัท เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากทางร้านค้าต่าง ๆ ได้มากมาย”

นายอมรกล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 40,077 ล้านบาท แยกเป็นเบี้ยประกันรถยนต์ 35,633 ล้านบาท และเบี้ยประกันน็อนมอเตอร์ 4,444 ล้านบาท สำหรับสถานการณ์อัตราค่าสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ของธุรกิจประกันรถยนต์ ปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 60% ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า
ส่วนลอสเรโชประกันสุขภาพถือว่ามีเคลมที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases) โดยเฉพาะจากโรคทางเดินหายใจจากผลไข้หวัดสายพันธุ์ A และ B
อย่างไรก็ดีบริษัทยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัยอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกับตลาดประกันภัยรถยนต์ ที่วิริยะประกันภัยยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22% สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแกร่ง และความน่าเชื่อถือของบริษัท
โดยมีความมั่นคงแข็งแกร่งทางการเงิน ในปีที่แล้วบริษัทมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 180% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด โดยปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มระดับ CAR ไปแตะ 200%
ในส่วนสินทรัพย์รวมปีที่แล้วมีมูลค่าทั้งสิ้น 68,335 ล้านบาท เป็นสินทรัพย์ลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท แยกเป็นพอร์ตลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝาก ประมาณ 31,000 ล้านบาท และพอร์ตลงทุนในหุ้นอีก 29,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นปีที่แล้วจะติดลบไปประมาณ 6% จากผลกระทบภาวะตลาดหุ้นไทยที่ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากระดับ 1,600 จุด เหลือระดับ 1,400 จุด แต่การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและเงินฝากได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น
ทำให้ปิดสิ้นปี 2566 ยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ได้อยู่ที่ระดับ 4.4% และคาดหวังว่าปีนี้จะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ได้ ในเบื้องต้นยังไม่มีนโยบายปรับพอร์ตหรือเพิ่มการลงทุนในหุ้น เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นไทยยังผันผวน
นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า สำหรับแผนธุรกิจน็อนมอเตอร์ปีนี้ จะให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพเฉพาะโรค และประกันภัยโรคร้ายแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคุ้มครอง และบริการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (Good Health and Wellbeing)
นอกจากนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทาง เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประกันภัย Carrier Liability Insurance, Cyber Security Insurance และ Professional Liability Insurance ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละประเภทธุรกิจ
“บริษัทยังมีนโยบายที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองแนวคิด ESG Responsibilities ออกมาในรูปแบบ Green Insurance ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ช่วยส่งเสริมการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริษัทจึงนำแนวคิด Green Insurance มาพัฒนาร่วมกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีอยู่
อาทิ ให้ความคุ้มครองการทดแทนสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยวัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly ในการประกันอัคคีภัย นอกจากนี้จะสร้างแรงจูงใจด้วยการให้ส่วนลดเบี้ยประกันพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้ใช้วัสดุในการปลูกสร้างที่เป็น Eco-Friendly มากขึ้น ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ แต่เชื่อว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยลดปัญหาของสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้” นางฐวิกาญจน์กล่าว
ในส่วนของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทมี Roadmap ในการพัฒนาระบบ New Core System โดยมีการเริ่มใช้งานระบบ New Core Phase 1 ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทาง เมื่อช่วง ธ.ค. 2566 และ Phase ต่อไปในปี 2567 จะเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการประกันภัยและสินไหมรองรับการเติบโตของบริษัท