แห่ปรับลด GDP เปิดมุมมองศูนย์วิจัยแบงก์ เศรษฐกิจไทยปี 67 จะโตได้เท่าไร

economy
economy

ศูนย์วิจัยแบงก์ แห่ปรับลดประมาณการจีดีพีปี’67 เหลือโตต่ำกว่า 3% หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง-ฟื้นตัวช้าเปราะบาง-งบประมาณภาครัฐล่าช้า ฉุดการเติบโต

วันที่ 14 มีนาคม 2567 ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน โดยนอกจากเผชิญปัญหาโครงสร้างภายในประเทศแล้ว ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างต่างประเทศด้วย ทั้งในส่วนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และปัญหาซัพพลายเชนของโลกที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

โดยประเด็นดังกล่าวนำมาสู่คำว่า “3 ลด” คือ 1.เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นเติบโตลดลง โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2567 จากเดิม 3% เหลือ 2.7% ซึ่งเป็นการปรับตามศักยภาพการเติบโตที่ลดลง และ 2.ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (Potential Growth) ลดลง ซึ่งในช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2560-2562 ระดับศักยภาพของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% และคาดการณ์ระยะยาวในปี 2567-2588 ระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยจะเหลือเพียง 2.7%

และ 3.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) เมื่อเศรษฐกิจระยะสั้นโตช้า และศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวลดลง จึงนำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดย EIC คาดการณ์ว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้ จาก 2.50% ต่อปี เหลือ 2.00% ซึ่งจะปรับครั้งแรกในการประชุมวันที่ 10 เมษายนนี้ และอีกครั้งในเดือนมิถุนายน

โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวเป็นการปรับดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว (Neutral Rate) ที่ต่ำลง ซึ่ง EIC ประเมินว่า Neutral Rate ของไทยได้ลดต่ำลงมาอยู่ที่ราว 2.13% จากระดับเดิม 2.52%

“การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ช่วยเรื่องของปัญหาเชิงโครงสร้าง แต่จะเป็นการเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนที่จะสร้างจุดคุ้มในระยะยาว แต่การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องทำควบคู่กับการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อด้วย เพื่อให้เกิดการลงทุน แต่หากลดดอกเบี้ยเพื่อไม่กระตุ้นการบริโภคไม่มีความจำเป็น รวมถึงไทยจะต้องออกไปหาพันธมิตร (Partner) ข้างนอก ซึ่งการเจรจาไม่ได้เป็นการขยายตลาดใหม่ แต่เป็นการเจรจาเพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิต”

กสิกรไทย เฉือนจีดีพีเหลือ 2.8%

นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาลและการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสโตถึง 36 ล้านคนในปีนี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามและมีผลต่อเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถเร่งลงทุนได้เร็วขนาดไหน เพราะเหลือเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากเทียบในอดีตการลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 60% ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจึงมีเป็นประเด็น Down Side Risk ที่ต้องติดตาม

“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเราต้องสร้าง Engine of Growth ใหม่ เพราะเราส่งออกสินค้าเก่า ดังนั้น เราต้องปรับโมเดลการเติบโต และต้องปรับทั้งองคาพยพ”

CIMBT ชี้ 3 ปัจจัยฉุดจีดีพีโต 2.3%

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า สำนักวิจัยปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมมองไว้ที่ 3.1% ซึ่ง GDP 2.3% เป็นระดับที่ต่ำมากอีกปีหนึ่ง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก การบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และการส่งออกฟื้นตัวช้า

การบริโภคของคนไทยเผชิญความเสี่ยงมากกว่าที่คาด โดยครึ่งแรกของปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายโดยทั่วไปในการชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า แม้ว่าการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาจะสนับสนุนการใช้จ่ายได้บ้าง แต่ยังกระจุกตัวแค่บางทำเล บางธุรกิจ

ขณะที่ภาคการเกษตรอ่อนแอจากการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในบริการและสินค้าไม่คงทนเป็นการชั่วคราว แต่ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่อ่อนแอ

การลงทุนภาครัฐ แม้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาครัฐยังไม่ผ่านเรื่องงบประมาณจนถึงเดือนพฤษภาคม แต่จากการพิจารณาตัวเลขเดือนต่อเดือนเห็นชัดว่า การลงทุนภาครัฐทรุดตัวหนักกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า การใช้จ่ายงบฯต่าง ๆ ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นของเอกชน อาจทำให้เอกชนชะลอการลงทุน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่มีการกระจายเม็ดเงินสูง หากชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนักกว่าที่คาด การขาดการลงทุนสาธารณะคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางลบเพิ่มเติม

การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์มากจากการฟื้นตัวของตลาดโลก เพราะปัจจัยต่างประเทศมีความผันผวน ทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก กระทบการส่งออก และกระทบไปสู่การผลิตในประเทศ ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว เฟดอาจเลื่อนปรับดอกเบี้ยนโยบายจากพฤษภาคมเป็นมิถุนายน ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้บาทอ่อนค่า

กรุงศรีฯ คาดโต 2.7% ชี้ใช้จ่ายภาครัฐพระเอก

ดร.พิมพ์นารา หิรัญกสิ หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7% สูงกว่าปี 2566 ที่ขยายตัวเพียง 1.9% โดยเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนจะมาจากการใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งคาดว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 9.3% จากงบประมาณปีก่อน จะได้รับการอนุมัติภายในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การบริโภคกลับมาขยายเป็นบวกที่ 1.5% และการลงทุนภาครัฐขยายตัว 2.4%

ขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะเติบโต 3.3% ส่วนหนึ่งได้รับผลบวกจากการใช้จ่ายภาครัฐ และตามการเติบโตของภาคบริการ และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยในปี 2566 จะเห็นว่าปีก่อนมีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีอัตราการเติบโต 43% โดยจะเห็นเม็ดเงินการลงทุนจริงในปีนี้ โดยเฉพาะการลงทุนจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น เป็นหลัก

ขณะที่การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้อยู่ที่ 35.6 ล้านคน จากปีก่อนอยู่ที่ 28.2 ล้านคน ซึ่งในเดือนมกราคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 1 ล้านคน เป็นคนจีน 5 แสนล้านคน สะท้อนว่าจีนกำลังจะกลับมามากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการฟรีวีซ่า และการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ส่งผลต่อมายังการบริโภคและการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 3.1% อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 90% ต่อจีดีพี และกดดันให้การบริโภคขยายตัวไม่เต็มที่

กรุงไทย ชี้ เศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบางโตได้ 2.7%

Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า สภาพัฒน์คาดจีดีพีปี 2567 ขยายตัวได้จำกัด สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจฟื้นตัวได้ แต่ยังอ่อนแอ โดยสภาพัฒน์ระบุว่า จีดีพีไทยปี 2566 ขยายตัวเพียง 1.9% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจไทยปีที่ผ่านมาเติบโตในระดับต่ำ (คาดไว้ที่ 1.8%)

ส่วนในปี 2567 นั้น สภาพัฒน์คาดว่าอาจเติบโตในช่วงประมาณการ 2.2-3.2% (ค่ากลาง 2.7%) เป็นไปในทางเดียวกับ สศค. ซึ่งประเมินไว้ที่ 2.8% ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8%) และสอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่ 2.7% เศรษฐกิจไทยจึงมีแนวโน้มฟื้นตัวเปราะบางและเติบโตได้ค่อนข้างต่ำ

KKP มองโต 2.6% ไทยเจอปัญหาเชิงโครงสร้าง

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้ที่ระดับ 2.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7% (การประมาณการที่ไม่รวมผลของนโยบาย Digital Wallet ก่อนหน้านี้คือ 2.9%) และคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 2.8% ในปี 2568 ตามแนวโน้มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเริ่มลดต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง

โดยการปรับประมาณการเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.การนำผลของนโยบาย Digital Wallet ออกจากกรณีฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ จากความไม่ชัดเจนและความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบาย 2.การปรับตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมลง เพื่อสะท้อนปัญหาสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ และความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

3.รายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 มาก และมีแนวโน้มยังไม่กลับมาปกติ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถโตได้ดีขึ้นในช่วงครั้งหลังของปี 2567 เมื่อการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่จะกลับมาชดเชยการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและระดับสินค้าคงคลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ