วิจัยกสิกรไทยหั่นจีดีพีเหลือ 2.8% คาด กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งตามหลังเฟด

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% จับตาการเบิกจ่ายงบประมาณ-ปัญหาเชิงโครงสร้าง กดดันเศรษฐกิจโตต่ำ ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งปีนี้ ตามหลังเฟดลดดอกเบี้ย มิ.ย.นี้

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการเติบโตเศรษฐกิจ (จีดีพี) อยู่ที่ 2.8% จาก 3.1% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่โมเมนตัมยังแผ่วลง รวมถึงภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ยังหดตัวหลายเดือนติดต่อกัน

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงหนุนจากการกลับมาเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าที่คาดว่าขยายตัว 2% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีโอกาสโตถึง 36 ล้านคนในปีนี้

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามและมีผลต่อเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาในเดือนเมษายนนี้ จะสามารถเร่งลงทุนได้เร็วขนาดไหน เพราะเหลือเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น ซึ่งหากเทียบในอดีตการลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 60% ดังนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจึงมีเป็นประเด็น Down Side Risk ที่ต้องติดตาม

“การเติบโตของเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำ เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเราต้องสร้าง Engine of Growth ใหม่ เพราะเราส่งออกสินค้าเก่า ดังนั้น เราต้องปรับโมเดลการเติบโต และต้องปรับทั้งองคาพยพ”

สำหรับทิศทางนโยบายการเงิน ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง จากระดับ 2.50% ต่อปี หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยแล้ว ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ ส่วนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของปีอยู่ที่ระดับ 0.8%

นายบุรินทร์กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกันกับปี 2566 การค้าโลกน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดี แนวโน้มดอกเบี้ยทั่วโลกจะค่อย ๆ ปรับลดลงจากเงินเฟ้อที่กำลังปรับลดสู้เป้าของธนาคารกลางทั่วโลก จีนยังคงเผชิญกับปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย รวมถึงเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศปรับลดและผู้ประกอบการจีนยังคงลดราคาสินค้าต่อเนื่องเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

ขณะที่แนวโน้มการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัว 3% โดยมีนโยบายกีดกันการค้ายังเข้มข้นอยู่ แนวโน้มการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจากทั่วโลก และเทคโนโลยีอย่าง AI ที่กำลังมีผลกระทบทั่วโลก ส่วนประเทศไทยที่กำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ มากมาย จำเป็นต้องเร่งหาเครื่องจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งเรื่องการเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ศูนย์กลางด้าน Data Centre หรือการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในการลงทุนรูปแบบอื่น ๆ มีกุญแจสำคัญคือ ประเทศไทยต้องมีพลังงานสะอาดเพียงพอในราคาที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเชิง Green Economy เข้ามาเพื่อเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย