ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โรงแรมไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก สูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โรงแรมไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โรงแรมในไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย แนะผู้ประกอบการโรงแรมไทยเร่งปรับตัวรับความต้องการใช้บริการโรงแรมยั่งยืนของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรับมือการแข่งขัน กับจี้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า กระแสการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้ทุกธุรกิจต่างตื่นตัว รวมถึงธุรกิจโรงแรม แม้ว่าโรงแรมจะปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น
จากรายงาน A Net Zero Road Map for Travel and Tourism ของ World Travel & Tourism Council (WTTC) ระบุว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8% ของ GHG ในทุกกิจกรรมของโลก และโรงแรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยไม่ถึง 1% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมของโลก

แต่สาเหตุที่โรงแรมทั่วโลกและไทยตื่นตัว ทั้งที่กฎกติกาจะไม่ได้บังคับให้ธุรกิจต้องปรับวิถีการทำธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1.ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มที่เดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) การจัดงานประชุมสัมมนา ทั้งจากองค์กรต่างประเทศและในประเทศ จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป โดย HRS พบว่า กว่า 78% ของกลุ่มตัวอย่างในยุโรป และ 61% ของกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาเหนือ ต้องการให้โรงแรมที่บริษัทจะใช้บริการแสดงหลักฐานข้อมูล หรือเอกสารรับรอง (Certificate อาทิ Green Key, GSTC และ Green Globe) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานสากล หรือของแต่ละประเทศ สำหรับบริษัทที่ประกาศใช้นโยบายดังกล่าว เช่น Siemens, Microsoft, Amazon และ Ernst & Young

2.การแข่งขันกับหลายแบรนด์ที่เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนแล้ว อาทิ โรงแรมเชนรายใหญ่ของโลก มีการประกาศเป้าหมายการลดหรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเริ่มมีการปรับมาใช้พลังงานงานหมุนเวียนบางส่วน การปรับเปลี่ยนทั้งด้านฮาร์ดแวร์ อย่างการเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการใช้ไฟและน้ำให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่ในด้านซอฟต์แวร์ ได้แก่ การติดตั้งระบบการบริหารจัดการพลังงาน การติดเซ็นเชอร์เพื่อบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและน้ำ รวมถึงการใช้วัสดุตกแต่งในโรงแรมที่ทำมาจากวัตถุดิบ Recycle และ Upcycle การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการขนส่ง ขณะที่โรงแรมที่สร้างใหม่มีการออกแบบโรงแรมและรูปแบบการบริหารจัดการให้ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Decarbonize)

3.พันธมิตรทางการค้าที่ต้องการคู่ค้าที่มีการปรับตัวสู่ความยั่งยืน อย่างออนไลน์ทราเวลเอเจ้นท์ (OTAs) รายใหญ่เริ่มมีการระบุสถานะของโรงแรมและที่พักที่ได้รับการรองรับว่ามีการจัดการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการ

ทั้งนี้ พบว่าสถานะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของโรงแรมในไทยสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในเอเชีย ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีการตั้งเป้าหมาย Net Zero ยังน้อยและดำเนินการเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่

โดยจากข้อมูลของ Cornell Hotel Sustainability (ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567) พบว่าค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อการเข้าพักของลูกค้า 1 ห้อง ของโรงแรมในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0.064 ตันคาร์บอน (tCO2e) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงแรมในภูมิภาคเอเชียที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ประมาณ 0.057 ตันคาร์บอน และเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 0.019 ตันคาร์บอน

โดยผู้ประกอบการโรงแรมไทยสนใจดำเนินการด้านความยั่งยืน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดทำรายงานความยั่งยืน หรือเพียงเริ่มดำเนินการจากส่วนที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง และทำได้ทันที เนื่องจากรายได้ธุรกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้โรงแรมไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า

-ผู้ประกอบการกว่า 52.8% มีการปรับตัว อาทิ การเปลี่ยนเป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ส่วนกลาง การเปลี่ยนอุปกรณ์และติดตั้งระบบการประหยัดน้ำ การคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล หรือทำเป็นปุ๋ย รวมถึงการลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ซึ่งโรงแรมที่มีการปรับตัวส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศ

-ผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด (96.5%) ยังขาดความเข้าใจในการวัดผลกระทบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำรายงานความยั่งยืน

-ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการเกือบครึ่ง (43.8%) มีแผนที่จะยกระดับโรงแรมให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีแผน หรือยังไม่แน่ใจมีสัดส่วนมากกว่าครึ่ง เนื่องจากมีความกังวลเรื่องเงินทุน ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวดีหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 และยังไม่มีความชัดเจนในมาตรฐานการวัด

ดังนั้น เพื่อให้โรงแรมในไทยมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน คงจะต้องมีการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง และกำหนดกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล การออกมาตรการทางภาษีชั่วคราว อย่างการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่มีการลงทุน หรือปรับปรุงโรงแรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาครัฐควรจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพลังงานทางเลือก/พลังงานหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการใช้ในต้นทุนที่ถูกลง