ถึงเวลาแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ?

Reduce interest
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ซาร่า ผลพิบูลย์, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

ต้องยอมรับว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยอ่อนแอกว่าที่ประเมินกันไว้ โดยเฉพาะหลังจีดีพีไตรมาส 4 ออกมาต่ำกว่าคาด ทำให้ทั้งปี 2023 (พ.ศ. 2566) ไทยโตได้ไม่ถึง 2% ขณะที่แรงส่งต่อเศรษฐกิจในปี 2024 (พ.ศ. 2567) ก็ดูจะแผ่วกว่าที่เคยคิดไว้ โดยแม้ท่องเที่ยวจะมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใกล้ระดับก่อนโควิดเข้าไปทุกที แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังคงต่ำและอาจไม่ฟื้นกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดได้เร็ว

อีกทั้งส่งออกก็รายล้อมไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ทั้งเชิงโครงสร้างที่สินค้าไทยอาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกแล้ว รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ขณะที่ความหวังมาตรการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ก็ดูจะริบหรี่ ทำให้สำนักเศรษฐกิจต่าง ๆ พากันลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้ลง

ด้านเงินเฟ้อเองก็ติดลบและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายแบงก์ชาติที่ 1-3% มาหลายเดือน ซึ่งแม้จะบอกว่าเป็นผลจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ทั้งการลดค่าน้ำมันดีเซลและค่าไฟฟ้า แต่เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนแรงกดดันราคาจากฝั่งอุปสงค์แล้ว พบว่าเงินเฟ้อก็ยังคงต่ำมากอยู่ดี

โดยแบงก์ชาติเองก็ประเมินเงินเฟ้อปีนี้จะขยายตัวต่ำใกล้ขอบล่างของเป้าหมายที่ 1% เท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่าแบงก์ชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ควรเริ่มลดดอกเบี้ยแล้วหรือเปล่า ซึ่งนี่ยังไม่นับรวมแรงกดดันที่มีมาต่อเนื่องจากฝั่งรัฐบาลที่ต้องการให้รีบลดดอกเบี้ย

หากพิจารณาดูอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือดอกเบี้ยนโยบายหักด้วยเงินเฟ้อ พบว่าของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยสูงกว่าทั้งสหรัฐ และยูโรโซน แม้ว่าไทยจะขยับดอกเบี้ยขึ้นน้อยกว่ามากก็ตาม

ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในเครื่องบ่งชี้ว่านโยบายการเงินของไทยมีความตึงตัวมากเกินไป และแบงก์ชาติน่าที่จะต้องขยับดอกเบี้ยลง หากต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป และเงินเฟ้อกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี เวลานี้อาจจะยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมนัก สำหรับการลดดอกเบี้ยลงของแบงก์ชาติเรา เพราะจะนำไปสู่กระแสเงินไหลออกเป็นจำนวนมาก ซ้ำเติมปัจจุบันที่ไหลออกไปค่อนข้างมากอยู่แล้ว อีกทั้งยังจะกดดันเงินบาทอ่อนค่าลงไปอีก

เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตอนนี้ จะนับเป็นการลดก่อนธนาคารกลางหลักของโลก อย่างเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) และอีซีบี (ธนาคารกลางยุโรป) ที่ดูจะต้องการรอไปถึงช่วงกลางปีก่อนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อของเขาจะไม่กลับมาเร่งตัวอีก

กระนั้นแล้วเราควรจะเลือกชิงลดดอกเบี้ยลงก่อน หรือการรอให้ธนาคารกลางหลักเริ่มลดดอกเบี้ยก่อนดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ?