
การวางแผนภาษีคืออะไร ทำไมคนทำธุรกิจต้องทำ พร้อมหาความแตกต่างระหว่างการหลบหลีกและหลีกเลี่ยงภาษีแบบไหนสามารถทำได้ไม่ผิดกฎหมาย
“ภาษี” เรื่องยุ่งเหยินวุ่นวายที่เราต้องเจอหลังจากเริ่มทำงานอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่การเตรียมเอกสารการเงิน การยื่นภาษี และการเสียภาษี แต่อีกขั้นตอนหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนทำ แต่อาจจะไม่ได้เจาะลึกมากนัก นั่นคือ “การวางแผนภาษี”
การเตรียมตัวเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้องครบถ้วน ที่ไม่ใช่แค่การเตรียมเอกสาร แต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เราสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ในแต่ละปี เพื่อลดภาระไม่ให้เราเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่ม หรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ ซึ่งการวางแผนภาษีนี้จะช่วยให้เราเหลือเงินไว้ไปต่อยอดให้เงินก้อนที่มีอยู่งอกเงยได้
โดยเฉพาะอาชีพคนทำธุรกิจที่มีรายรับ-รายจ่ายเข้าออกจำนวนมาก สำหรับการวางแผนภาษีนี้ จะเป็นการกำหนดแนวทางในอนาคตสำหรับรายการทางการเงิน (Financial Transactions) อาทิ รายการรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจำนวนกำไรหรือขาดทุนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางภาษีอากรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
ขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจเข้าใจผิดคำว่า “วางแผน” เป็นการเตรียมตัวในการไม่จ่ายภาษี หรือจ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คือการหาหนทางเพื่อไม่ให้ต้องเสียภาษีที่ผิดกฎหมาย แต่การวางแผนทางภาษีจะช่วยกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมทางภาษีของกิจการต่อไป ซึ่งการวางแผนภาษีนี้ทำให้เราสามารถแบ่งประเภทคำว่า หลบหลีก และหลีกเลี่ยง ตามความหมายไว้ดังนี้
การหลีกเลี่ยงภาษี (Tax Evasion)
การมีเจตนาหรือจงใจหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยทุจริต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ได้แก่
1.มีเจตนาแจ้งความเท็จในการยื่นแบบแสดงรายการ หรือการให้ถ้อยคำแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรอันเป็นเท็จ หรือการแสดงหลักฐานเท็จต่อเจ้าพนักงาน
2.ผู้เสียภาษีจงใจไม่ยื่นแสดงรายการที่กิจการต้องยื่นแบบต่อกรมสรรพากร หรือกรอกข้อมูลในแบบแสดงรายการไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้กิจการเสียภาษีน้อยลง
ผู้หลีกเลี่ยงภาษีนอกจากจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มแล้ว ยังต้องรับโทษทางอาญาด้วย โดยค่าปรับทางอาญา กิจการผู้หลีกเลี่ยงภาษีไม่สามารถนำค่าปรับไปเป็นรายจ่ายทางภาษีได้
การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance)
การนำช่องโหว่ของกฎหมายทางภาษี (Tax Loopholes) มาใช้เป็นประโยชน์ในการเสียภาษี เพื่อให้กิจการไม่ต้องเสียภาษีในส่วนที่ไม่จำเป็น ซึ่งการหลบหลีกภาษีอากรมีความคล้ายกันกับการวางแผนภาษี คือมีเป้าหมายเหมือนกันในการประหยัดภาษีให้มากที่สุด
โดยการหลบหลีกภาษีเป็นการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในการประหยัดภาษี บ้างก็มองว่าเป็นการบริหารจัดการภาษีอีกรูปแบบหนึ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็ยังมีหลายคนที่มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะทำให้รัฐขาดรายได้
วางแผนก่อนเสียภาษี ส่งผลดีต่อธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม การวางแผนเสียภาษีอย่างถูกต้องไม่ใช่เพียงหน้าที่ในฐานะพลเมือง หรือการแสดงความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น แต่การวางแผนภาษีมีผลดีต่อธุรกิจ ดังนี้
1.ช่วยให้การเสียภาษีอากรของธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องและครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายภาษีอากร
2.ช่วยให้กิจการประหยัดภาษี จากการนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาใช้ เช่น ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงระยะเวลาที่กำหนด, สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุหรือผู้พิการ
3.ช่วยขจัดปัญหาในการเสียภาษีของธุรกิจ เช่น ปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้ไม่เข้าใจของผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานภาษีเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร เป็นต้น
4.เป็นการเตรียมความพร้อมของกิจการ ในกรณีที่มีการเรียกตรวจสอบจากกรมสรรพากร อย่างไรก็ตาม การวางแผนภาษีก็ช่วยลดความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายประเภทเบี้ยปรับเงินเพิ่มของกิจการด้วย
5.ช่วยลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็น ทำให้ระบบเอกสารทางบัญชีและภาษีมีความเป็นมาตรฐาน เป็นไปตามกฎหมายภาษีอากร
6.ช่วยส่งเสริมระบบการควบคุมภายในของกิจการให้มีประสิทธิภาพในการวางแผนภาษี มีขั้นตอนหนึ่งที่ต้องศึกษาแนวปฏิบัติของธุรกิจ ทำให้เห็นปัญหาของระบบการทำงาน จุดเสี่ยง สิ่งที่ควรปรับปรุงไปพร้อม ๆ กัน
นอกจากนี้ การที่ระบบบัญชีและภาษีของกิจการได้รับการปรับปรุงส่งผลให้ระบบการควบคุมภายในของกิจการมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
ข้อมูลจาก ธนาคารกรุงไทย และ SET