กรุงเทพประกันภัย จ่อร่วมทุนจีนเปิดอู่ซ่อมรถอีวี เป้าเบี้ยปีนี้ 3.42 หมื่นล้าน โต 8% พอร์ตรถยนต์โต 11% ประกันที่ไม่ใช่รถโต 7% ไตรมาส 2/68 เล็งเปิดตัวสินค้าใหม่เพียบ
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH และ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนชาวจีนในการพัฒนาขยายสร้างอู่ซ่อมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นศุูนย์ซ่อมมาตรฐานของกรุงเทพประกันภัย (อู่ในสัญญา) ขึ้นมา หรือที่เรียกว่า General Garage เพื่อจะส่งรถอีวีที่เกิดความเสียหายเข้าไปซ่อมด้วยมาตรฐานเดียวกับซ่อมอู่ศุูนย์ แต่บริษัทจะสามารถควบคุมราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่ได้ดีกว่า เนื่องจากพันธมิตรที่อยู่ระหว่างเจรจามีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ
โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพเป็นหลักก่อน เพราะเป็นพื้นที่ของการใช้งานรถอีวีซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าหากแนวทางนี้เกิดขึ้นแล้ว ทางอู่ศุูนย์ต้องลงมาแข่งขันแน่นอน ซึ่งจะหนุนให้ราคาค่าซ่อมและค่าอะไหล่รถอีวีจะปรับตัวลดลงมาได้ และจะเป็นจุดขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถเข้าไปแข่งขันรับประกันรถอีวีได้มากขึ้นในอนาคต
“ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา จึงยังไม่มีกรอบและเวลาที่แน่ชัดสำหรับดีลนี้ รวมทั้งยังไม่ได้กำหนดงบลงทุนไว้อย่างชัดเจน แต่การสร้าง General Garage ทุกบริษัทประกันที่รับประกันรถอีวีเล็งที่จะทำกันอยู่” ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว
เป้าเบี้ยปีนี้ 3.42 หมื่นล้าน โต 8%
สำหรับทิศทางธุรกิจในปี 2568 ได้ตั้งเป้าหมายของบริษัทกรุงเทพประกันภัย จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 34,200 ล้านบาท เติบโต 8% เมื่อเทียบจากปี 2567 ที่ทำได้ 31,736 ล้านบาท โดยการเติบโตจะมาจากเบี้ยประกันรถยนต์ (มอเตอร์) จำนวน 14,700 ล้านบาท เติบโต 11% คิดเป็นสัดส่วน 43% และเบี้ยประกันที่ไม่ใช่รถยนต์ (น็อนมอเตอร์) อยู่ที่ 19,500 ล้านบาท เติบโต 7% คิดเป็นสัดส่วน 57%
สำหรับการเติบโตของธุรกิจประกันรถยนต์ จะไม่ใช่การเติบโตจากปลาใหม่ที่เกิดขึ้นในบ่อ เพราะยอดขายรถใหม่ยังมีความเปราะบางอยู่ ซึ่งปีที่แล้วตั้งเป้ายอดขายรถใหม่ 8 แสนคัน แต่ขายจริงได้แค่ 5 แสนคัน เพราะฉะนั้นบริษัทกรุงเทพประกันภัยจะต้องสร้างการรับรู้เพื่อให้ลูกค้าหรือคู่ค้าตัดสินใจเลือกทำประกันกับบริษัท โดยทั้งองคาพยพต้องสร้างบริบทของการพัฒนาคุณภาพบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ และพัฒนาระบบการรองรับการให้บริการอย่างโดดเด่นและแตกต่าง
ส่วนการเติบโตของธุรกิจประกันที่ไม่ใช่รถ จะมาจากการขยายตัวของงานประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจากโครงการภาครัฐขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็กต์ ซึ่งงบประมาณภาครัฐที่อนุมัติแล้วจะเข้าสู่ระบบประกันภัยอย่างสมบูรณ์ในปีนี้
“อย่างไรก็ตาม ปีนี้ความท้าทายสำคัญคือความเปราะบางของเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการดำเนินธุรกิจประกันภัย จึงมีความยากขึ้นกว่าปีก่อน รวมไปถึงปัจจัยหนี้ครัวเรือนสูงก็ทำให้การขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตได้ยากด้วยเช่นกัน” ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว
อุตฯทั้งระบบโต 1.5-2.5%
โดยแนวโน้มธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2568 ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่าจะมีเบี้ยรับรวมระหว่าง 2.91-2.95 แสนล้านบาท ขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตมาจากการเร่งขยายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากเงินลงทุนภาครัฐ ประกอบกับประกันสุขภาพที่เติบโตจากการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่นำไปสู่โรคประจำฤดูกาล ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation)
ด้านตลาดบ้านที่อยู่อาศัย ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการประกันความเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมและลมพายุ
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนผนวกกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย จากผลกระทบด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ขณะเดียวกันความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ส่งผลต่อเนื่องมายังยอดจำหน่ายสินทรัพย์ เช่น บ้านและรถยนต์ ยังเป็นปัจจัยที่ชะลอการเติบโตของเบี้ยประกันอัคคีภัยและประกันภัยรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลสหรัฐ ที่เพิ่มแรงกดดันต่อการค้ากับประเทศจีน และส่งผลให้สินค้าจากจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะรถอีวีที่แนวโน้มการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผันผวนของราคาและทุนประกันภัยที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ไตรมาส 2/68 เปิดตัวสินค้าใหม่เพียบ
นางสาวลสา โสภณพนิช ผู้อำนวยการใหญ่ BKI กล่าวถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ว่า บริษัทได้สร้างสรรค์ประกันภัยใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอความคุ้มครองที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผ่านกลยุทธ์ Lifestyle Insurance ที่สามารถตอบโจทย์ทุก Pain Point ของลูกค้า เพื่อนำไปสู่การเป็น “Product Excellence” พร้อมกับการเพิ่มทางเลือกด้านความคุ้มครอง เพื่อให้ลูกค้ารับมือกับสภาวะเศรษฐกิจได้อย่างมั่นใจ โดยคาดว่าจะวางขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/2568
ประกันภัยโรคร้ายแรง
โปรดักต์ตัวแรกคือประกันภัยโรคร้ายแรง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผู้คนมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักมาพร้อมกับค่ารักษาพยาบาลที่สูงและระยะเวลาการรักษาที่ยาวนาน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้และภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
กรุงเทพประกันภัยจึงพัฒนาตัวนี้ ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมโรคสำคัญ อาทิ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน โรคไตวายเรื้อรัง โรคสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส และโรคเบาหวาน ด้วยความคุ้มครองตั้งแต่ 100,000 – 1,000,000 บาท เมื่อตรวจพบโรคร้ายแรงดังกล่าวเป็นครั้งแรก พร้อมเงินชดเชยรายวันเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่ต้องหยุดพักรักษาตัว ซึ่งแผนประกันภัยนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยเพิ่มความอุ่นใจแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ด้วยเบี้ยประกันภัยเริ่มต้นเพียง 1,600 บาทต่อปี
ทั้งนี้เมื่อลูกค้าซื้อกรมธรรม์ประกันภัยโรคมะเร็งกับบริษัทโดยตรง หรือผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงเทพ จะมีส่วนร่วมในการบริจาคเงิน 50 บาทต่อกรมธรรม์ ให้แก่องค์กรการกุศล โดยไม่มีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยแต่อย่างใด ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
และเพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกค้าของบริษัทมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ดี จะมอบส่วนลดเบี้ยประกันหรือ Gift Voucher แก่ลูกค้าที่ซื้อประกันสุขภาพ ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าต่ออายุ เมื่อแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มะเร็งปากมดลูก บาดทะยัก ไข้เลือดออกหรือแสดงผลตรวจสุขภาพประจำปีที่มีค่าสุขภาพต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ประกันเดินทาง เพิ่มความคุ้มครองสุนัข-แมว
ต่อมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ โดยเฉพาะช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 ที่คนไทยมีการเดินทางไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กรุงเทพประกันภัยได้พัฒนาแผนประกันภัยการเดินทาง Travel Delight Plus โดยเพิ่มความพิเศษยิ่งขึ้น ด้วยความคุ้มครองสำหรับผู้เดินทางที่มีสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) เพื่อรองรับเทรนด์ Pet Humanization ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงและร่วมเดินทางด้วยกันมากขึ้น
ซึ่งจะครอบคลุมกรณีการได้รับบาดเจ็บของสัตว์เลี้ยง ขณะร่วมเดินทางในต่างประเทศไปกับผู้เอาประกันภัยโดยมีวงเงินคุ้มครอง 10,000 บาท/ตัว/ครั้ง เเละในกรณีเสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครอง 10,000 บาท/ตัว/ครั้ง นอกจากนี้ ยังให้ความคุ้มครองกรณีฝากสัตว์เลี้ยงไว้ที่โรงแรมสัตว์เลี้ยงหรือศูนย์รับฝากเลี้ยง หากเกิดเหตุเที่ยวบินล่าช้าจนทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการฝากเลี้ยงที่ไทย
ประกันบ้านหรู 20-50 ล้านบาท
ถัดมาเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียม พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง บริษัทเตรียมพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับบ้านอยู่อาศัยที่มีมูลค่า 20-50 ล้านบาท สำหรับเจ้าของบ้านที่ต้องการความคุ้มครองแบบครบครัน โดยจะเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินมีค่า ความสูญเสียหรือเสียหายของ Solar Rooftop และอุปกรณ์บ้านอัจฉริยะ ซึ่งให้ความคุ้มครองการกู้ข้อมูลที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล พร้อมบริการเสริม Nursing at Home ดูแลช่วงพักฟื้นโดยบุคลากรทางการแพทย์ซี่งจะมาดูแลลูกค้าถึงบ้าน
นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยบ้านอยู่อาศัยแบบพิเศษ ที่ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับวัสดุก่อสร้างแบบ Green ซึ่งมีราคาสูงกว่าวัสดุปกติราว 30-40% รวมถึงค่าติดตั้งที่แพงกว่า เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการซ่อมแซมบ้านด้วยวัสดุรักษ์โลก ซึ่งเบี้ยประกันภัยจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากกรมธรรม์ประกันภัยบ้านอยู่อาศัยแบบปกติ
ประกันรถยนต์ 2+ ขยายอายุรถถึง 25 ปี
และในปัจจุบันประกันภัยรถยนต์ 2+ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยความคุ้มครองที่ตรงใจในราคาที่คุ้มค่า โดยหลังจากแผนประกันภัยรถยนต์ 2+ Super Special ของกรุงเทพประกันภัยที่เปิดตัวในปี 2566 ล่าสุดมียอดขายเติบโตขึ้นถึง 3 เท่า และเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในปี 2568 บริษัทจะขยายเงื่อนไขการรับประกันภัยให้ครอบคลุมรถยนต์ที่มีอายุรถสูงสุด 25 ปี นอกจากนี้ ยังเตรียมปรับปรุงแผนประกันภัยรถยนต์ประเภท 3+ ให้สอดรับกับสภาวะเศรษฐกิจ ตอบโจทย์ลูกค้าที่กำลังมองหาทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากประกันภัยรถยนต์ประเภท 1
นอกจากนี้จะมีกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ราคาประหยัด สำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเข้าถึงประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแบบปกติได้อย่างจำกัด พร้อมเพิ่มความคุ้มครองค่าปลงศพ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
ปีแห่งความเป็นเลิศที่โดดเด่นและแตกต่าง
นางสาวปวีณา จูชวน ผู้อำนวยการใหญ่ BKI กล่าวว่า หลังจากในปี 2567 เป็นปีแห่ง Regenerative ที่กรุงเทพประกันภัยมุ่งเน้นการต่อยอดและพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุกกิจกรรมในห่วงโซ่คุณค่าที่จะส่งมอบให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และกิจกรรมทางธุรกิจต่าง ๆ โดยนอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการบริการที่เหนือความคาดหวัง ซึ่งส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจประกันวินาศภัยแล้ว ยังช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท ตลอดจนสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ในปี 2568 จะเป็นก้าวย่างครั้งสำคัญที่จะสร้างโอกาสใหม่ในการขยายธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง พร้อมยกระดับองค์กรให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ภายใต้แนวคิด Distinguished Excellence มุ่งสร้างความเป็นเลิศที่โดดเด่นและแตกต่าง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนยุคใหม่ ควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านการบริการที่ตรงใจ นำเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชันมาเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถรอบด้าน
กรุงเทพประกันภัยให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้าในทุกมิติ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีและสร้างความประทับใจ โดยบริษัทได้นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในหลากหลายด้าน เพื่อยกระดับการบริการสู่การเป็น “Service Excellence” ให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุด ดังต่อไปนี้
1. RPA (Robot Process Automation) เทคโนโลยีที่บริษัทฯ ใช้มาตั้งแต่ปี 2562 เพื่อช่วยให้ระบบทำงานอัตโนมัติ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนและข้อผิดพลาด ส่งผลให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ โดยในปี 2568 นี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยี RPA และ AI OCR (Optical Character Recognition) เข้ามาใช้ร่วมกัน ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถของระบบงานต่างๆ ภายในองค์กรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรได้มีเวลาทำงานเพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นไปยังงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ และการติดต่อกับลูกค้า รวมถึงเป็นการส่งเสริมด้านการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร โดยบริษัทฯ จะนำ RPA และ AI OCR มาใช้ในหลายส่วน อาทิขั้นตอนการออกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ การออกใบสั่งงาน และการเปิดเคลม ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการทำงาน ได้ 450,000 Transactions ต่อปี และลดชั่วโมงการทำงานได้ถึง 35,160 ชั่วโมงต่อปี
2. AI OCR (Optical Character Recognition) เทคโนโลยีที่สามารถแปลงภาพหรือแปลงเอกสารเป็นข้อความดิจิทัลแบบอัตโนมัติ โดยนำระบบ AI เข้ามาช่วยทำความเข้าใจและตีความในภาษาแบบอัตโนมัติเพื่อนำข้อมูลจากภาพและเอกสารไปใช้ในกระบวนการทำงานต่อไปได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการที่เคยใช้เวลาและแรงงานมาก เป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ ได้นำ AI OCR มาใช้ในหลายด้าน เริ่มจากฝ่ายบัญชีและการเงิน
เช่น ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และเอกสารอื่นๆ ซึ่งช่วยลดเวลาการทำงาน ลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการป้อนข้อมูลด้วยมือ พร้อมทั้งช่วยให้การจัดการข้อมูลมีความแม่นยำและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2568 จะสามารถช่วยจัดการเอกสารต่างๆ ได้ 327,119 แผ่นต่อปี และลดชั่วโมงการทำงานได้ 16,356 ชั่วโมงต่อปี
3. AI Agent รับแจ้งอุบัติเหตุที่ไม่เร่งด่วน (เคลมแห้ง) และให้บริการตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลทั่วไป เช่น ขั้นตอนการเคลม การจ่ายสินไหมทดแทน โดยคาดว่าจะมีจำนวน 235,000 สายต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอสายเป็นเวลานาน นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อนของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้า ช่วยลดอัตราสายที่พลาดการติดต่อ และเพิ่มประสบการณ์การให้บริการที่ราบรื่นและพึงพอใจแก่ลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการแจ้งอุบัติเหตุที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น
4. AI ช่วยอนุมัติการซ่อมรถได้รวดเร็ว บริษัทฯ ได้นำ AI มาใช้ในกระบวนการอนุมัติการจัดซ่อมรถยนต์ของอู่ สำหรับกรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ได้ภายใน 1 วัน ทำให้อู่ซ่อมสามารถเริ่มงานซ่อมได้ทันที และช่วยลดระยะเวลาการรอคอยของลูกค้า
5. Self-Service Analytics เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พนักงานสามารถเข้าถึง วิเคราะห์ และใช้ข้อมูลได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีการออกแบบให้ใช้งานง่าย ไม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านเทคนิคสูง โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สนับสนุนการตัดสินใจที่แม่นยำและรวดเร็ว ลดความผิดพลาดจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มความคล่องตัวและส่งเสริมวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลภายในองค์กร เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการข้อมูล และทำให้เข้าใจพฤติกรรมลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาแนวทางการให้บริการเฉพาะบุคคล รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมต่อไป
6. AI เสริมความแข็งแกร่งให้ระบบ Cyber Security บริษัทฯ ได้นำ AI มาช่วยตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์แบบเรียลไทม์ โดยเรียนรู้จากข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นสัญญาณอันตราย ทำให้สามารถระบุภัยคุกคามได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการโจมตี ลดความเสี่ยงและป้องกันการละเมิดความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้การตรวจจับ วิเคราะห์ และป้องกันภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกสูงสุดให้แก่ลูกค้า บริษัทได้พัฒนากระบวนการจ่ายสินไหมทดแทนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในกรณียื่นคำร้องการเคลมสินไหมทดแทนรถยนต์ที่บริษัท วงเงินไม่เกิน 10,000บาท และมีเอกสารครบถ้วน จะได้รับเงินสินไหมทดแทนเป็นเงินสดภายใน 20 นาที สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ลูกค้าต้องการให้โอนเงินเข้าบัญชีจะได้รับภายใน 3 วันทำการ และในอนาคตยังมีแผนขยายช่องทางการจ่ายผ่าน e-Wallet เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของคนยุคใหม่อีกด้วย
และต่อยอดการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อส่งมอบบริการที่มีคุณภาพและเข้าถึงง่าย กรุงเทพประกันภัยเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน Bangkok Insurance โฉมใหม่ ที่ออกแบบมาให้ใช้งานง่าย ทันสมัย เป็นมิตรและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล พร้อมทำหน้าที่เป็น One-Stop Pocket Service ดูแลลูกค้าให้เข้าถึงบริการประกันภัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งมีการพัฒนาฟีเจอร์มาเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่โดยเฉพาะ เช่น
- Video Claim แจ้งเคลมรถยนต์ผ่านวิดีโอคอลกับเจ้าหน้าที่
- ส่งพิกัดแจ้งสถานที่รถเกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้รวดเร็ว
- Tracking ติดตามสถานะเคลมสินไหมทดแทน
- ต่ออายุกรมธรรม์และชำระเบี้ยประกันภัยได้ทันที
- แจ้งเตือนเฉพาะบุคคล เช่น ต่ออายุกรมธรรม์เมื่อใกล้ครบกำหนด แจ้งเตือนการใช้สิทธิลดหย่อน ภาษีประจำปี
- ค้นหาอู่ซ่อมรถ/โรงพยาบาล ที่อยู่ในเครือข่ายได้ง่ายๆ
- เพิ่มช่องทางการชำระเงินให้ลูกค้าสะดวกยิ่งขึ้น
- เสริมศักยภาพพนักงาน พัฒนาทักษะด้วย AI
กรุงเทพประกันภัยมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพของพนักงานให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล ผ่านการสร้างการรับรู้และพัฒนาทักษะด้าน AI เพื่อให้พนักงานสามารถนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน พร้อมสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถรอบด้าน เพื่อก้าวสู่การเป็น “People Excellence”
โดยในปี 2568 บริษัทมีแผนจะจัดกิจกรรมและโครงการด้าน AI ตลอดทั้งปี เริ่มต้นด้วย AI Talk ซึ่งเป็นเวทีสัมมนาที่เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชื่อดังมาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ พร้อมเผยแนวโน้มของเทรนด์ AI ในโลกธุรกิจ ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากพนักงาน จึงได้ขยายการเรียนรู้ด้วยการจัดอบรม AI Training ให้พนักงานตามทักษะและหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละบุคคลและหน่วยงาน
จากนั้นบริษัทฯ เตรียมจัดกิจกรรม AI Day ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมด้าน AI โดยมีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำมาร่วมนำเสนอเทคโนโลยีล้ำสมัย เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้และสัมผัสเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด ต่อยอดแนวคิดในการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับการทำงานจริง พร้อมส่งท้ายปีด้วยโครงการประชันไอเดียที่เปิดโอกาสให้แต่ละหน่วยงานนำเสนอโปรเจกต์เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในการทำงาน ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในองค์กรแล้ว ยังเป็นเวทีที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการทำงานและเกิดผลลัพธ์ที่ดีไปสู่ลูกค้าและคู่ค้าของบริษัท
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 31,736.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเทียบจากปี 2566 โดยมีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 1,871 ล้านบาท ลดลง 9.6% มีกำไรจากการลงทุนสุทธิ 1,799.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.5% ทำให้บริษัทมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,670.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9%
กำไรสุทธิ 3 พันล้าน
และมีกำไรสุทธิ 3,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 28.74 บาท และบริษัทยังคงสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูงหรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ ต.ค. 2567) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลกได้อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันกรุงเทพประกันภัยเป็นบริษัทย่อยที่สร้างรายได้หลักให้แก่ บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH ซึ่งประกอบธุรกิจผ่านการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยมุ่งลงทุนในธุรกิจหลักด้านการประกันภัยและธุรกิจอื่นที่หลากหลายและมีศักยภาพ สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) บีเคไอ โฮลดิ้งส์ มีรายได้รวม 23,422.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบจากปี 2566 โดยมีรายได้จากการรับประกันภัย 21,481.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% และมีรายได้จากการลงทุน 1,940.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.0%
โดยมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1,854.8 ล้านบาท และรายได้สุทธิจากการลงทุน 1,802.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.7% ทำให้มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3,657.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% และมีกำไรสุทธิ 3,046.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 28.61 บาท
ปันผล 17 บาท/หุ้น ผลตอบแทน 5.84%
สำหรับการจัดสรรเงินปันผลในปี 2567 บริษัทจัดสรรเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วอัตราหุ้นละ 11.25 บาท และในงวดสุดท้ายของปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเสนอให้จ่ายเงินปันผล หุ้นละ 5.75 บาท รวมจ่ายเงินปันผลทั้งปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 17 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 5.84%