ก.ล.ต.ยกเครื่องล่าปั่นหุ้น ผนึกDSI-ปปง.ปิดจุดอ่อน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก.ล.ต.รับลูก “สมคิด” ปฏิรูปมาตรการจัดการขบวนการปั่นหุ้น ดึง ดีเอสไอ-ปปง. ร่วมทีมสอบสวน ลดขั้นตอนระหว่างหน่วยงาน พร้อมตั้ง”วรัชญา” นั่งรองเลขาฯ ฝ่ายกฎหมายและคดี เร่งรัดกระบวนการ พร้อมปิดจุดอ่อนปัญหา “ผู้ตรวจสอบบัญชี” ชงแก้กฎหมายเปิดทางลากสำนักงานบัญชีร่วมรับผิดชอบ

ยกเครื่องบี้ “ปั่นหุ้น”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก.ล.ต.ได้รับนโยบายเร่งด่วนจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เร่งจัดการกับขบวนการ “ปั่นหุ้น” ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็สอดคล้องกับโมเดลการทำงานใหม่ของ ก.ล.ต. ที่มีการปรับรูปแบบกระบวนการทำคดีใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2562 ที่ตนเข้ารับตำแหน่ง โดยดึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาร่วมนั่งคณะทำงานสอบสวนคดี อย่างไรก็ตาม คงจะวางเกณฑ์และพิจารณาคดีที่มีผลกระทบวงกว้าง และมีความซับซ้อน และต่อไปแต่ละคดีจะกำหนดกรอบระยะเวลาอย่างชัดเจน และกำหนดตัวชี้วัดประเมินประสิทธิภาพวัดผลของการดำเนินคดี (KPI)

“คณะทำงานชุดนี้จะร่วมกันทำคดีตั้งแต่วันแรก ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนอย่างมหาศาล เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อ ก.ล.ต.ส่งเรื่องไป ทั้งสองหน่วยงานก็ต้องไปเริ่มต้นสอบสวนใหม่ แต่โมเดลใหม่จะถือเป็นความสำเร็จร่วมกัน 3 ส่วน เพราะเป็นเจ้าของสำนวนด้วยกันเลย” นางสาวรื่นวดีกล่าว

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก.ล.ต.เพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์มาช่วยในเรื่องการทำให้หลักฐานต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น อาทิ การตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือ หรือสิ่งที่จะทำให้พยานหลักฐานมีน้ำหนักมากขึ้น

ตั้งรองเลขาฯคุมคดีโดยตรง

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีการแต่งตั้ง นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ เป็นรองเลขาธิการ ก.ล.ต. เข้ามารับผิดชอบดูแลสายงานด้านกฎหมาย และด้านการบังคับใช้กฎหมายโดยตรง เพิ่มเติมจากที่มี นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. สายบังคับใช้กฎหมาย ดูแลอยู่

“วันนี้บอร์ดแต่งตั้งรองเลขาธิการ ก.ล.ต.ใหม่ ด้านคดี ด้านกฎหมาย จากก่อนหน้านี้ไม่มี เนื่องจากหลังจากนี้ เลขาธิการ ก.ล.ต.จะไม่ลงไปดูคดี เพราะต้องเก็บตัวไว้เป็นคนสั่งคดีว่าฟ้อง หรือไม่ฟ้อง ถ้าไปทำคดีเองแล้วจะสั่งคดีอย่างไร” นางสาวรื่นวดีกล่าว

ขณะนี้ในแง่ตัวเลขคดีที่มีอยู่ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีทั้งหมดเท่าใด แต่หากมีคดีใหม่เข้ามานับจากนี้ ก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนทำคดีแบบใหม่ ที่จะทำได้อย่างรวดเร็วขึ้น

นางสาวรื่นวดีกล่าวอีกว่า ยังมีนโยบายที่จะยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างการเข้าไปสนับสนุนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในการทำหน้าที่คุ้มครองนักลงทุน โดยเฉพาะการดำเนินการโดยใช้พระราชบัญญัติการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action)

“เร็ว ๆ นี้จะจัดสัมมนาใหญ่เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยจะเชิญอัยการคุ้มครองสิทธิ์ นายกสภาทนายความ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมาร่วมสะท้อนเสียง ให้ผู้ลงทุนและผู้สนใจ ว่ามีกฎหมายหลายเรื่องที่รัฐบาลออกมาเพื่อคุ้มครองคุณ นักลงทุนใช้ครบหรือยัง เช่นวันนี้ก็มีปัญหาก้ำกึ่งเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลกับแชร์ลูกโซ่” นางสาวรื่นวดีกล่าว

โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต.เพิ่งจัดตั้งวอร์รูมขึ้นมา เพื่อปรามปราม ยับยั้ง เกี่ยวกับการกระทำผิด พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 โดยประสานความร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงโครงการจัดทำบทวิเคราะห์สำหรับผู้ลงทุน ที่ร่วมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดทำบทวิเคราะห์ บจ.ขนาดกลาง เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ครอบคลุมรอบด้านมากขึ้น

ปิดจุดอ่อน “สำนักงานสอบบัญชี”

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และสภาวิชาชีพบัญชี พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อกำกับดูแลผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะการลงนามของผู้ตรวจสอบบัญชี จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ผู้ลงทุนได้นำไปวิเคราะห์ แต่ปัจจุบัน ก.ล.ต.คุมได้เฉพาะ “ผู้สอบบัญชี” หรือคุมได้แต่ระดับบุคคล ไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวสำนักงานสอบบัญชี ทำให้เวลามีปัญหาจะลงโทษได้เฉพาะบุคคล ทั้ง ๆ ที่สำนักงานตรวจสอบบัญชีควรจะต้องรับผิดชอบด้วย เหมือนบริษัททั่วไปที่ลูกจ้างทำผิด นายจ้างก็ต้องรับผิดชอบด้วย

“เรื่องนี้จำเป็นต้องแก้ไข โดยจะว่าจ้างสถาบันการศึกษามาทำการวิจัย ว่าความพร้อมของประเทศไทย และทำข้อเปรียบเทียบกับต่างประเทศออกมาให้เห็น และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้สอบบัญชีรายบุคคลที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมสภาวิชาชีพบัญชี มีอยู่ทั้งสิ้น 9,928 ราย แต่มีเพียงแค่ 240 คน ที่เป็นผู้สอบบัญชีขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. ขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (บจ.) มีกว่า 700 บริษัท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น จำนวนผู้สอบบัญชีที่มีอยู่ก็มีปัญหาไม่เพียงพอ

เคลียร์ปม กม.มหาชน

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวอีกว่า ตนยังเตรียมหารือกับทางอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่าอาจจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด ให้สามารถมีกลไกเข้ามาดูแลผู้ถือหุ้นให้ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีช่องว่างการกำกับ “กรรมการ” บริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ กับบริษัทมหาชนทั่วไป เพราะบางข้อกฎหมายก็ไม่ได้มองในมุมเดียวกัน ก็ต้องปรับเกณฑ์ให้ตรงกัน

ขณะที่อีกด้านก็จะทำโครงการส่งเสริมความรู้ทางกฎหมายให้กับผู้ลงทุน และประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างการเข้าถึงตลาดทุน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ตลาดทุนได้ง่ายและมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอีกนโยบายที่รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายเร่งด่วนมาให้ รวมทั้งการร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรที่เป็นหัวขบวนอยู่กว่า 10,000 ราย เพื่อช่วยคัดกรองมาให้ ก.ล.ต.พิจารณา

“การส่งเสริมเอสเอ็มอีเข้ามา ต้องปลดล็อกเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ใช้ เพราะเกณฑ์ปัจจุบันจะดูกำไรต่อเนื่อง 3 ปีขั้นต่ำ ซึ่งถ้าเป็นสตาร์ตอัพที่ท่านรองนายกฯพูดถึง 3 ปีไม่น่าจะเป็นสตาร์ตอัพแล้ว จึงต้องมาปรับเป็น 2 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว