ธ.ก.ส.ชี้ภัยแล้งกระทบเกษตรกรแล้ว 1.3 ล้านราย อีสาน 20 จังหวัดอ่วม

ธ.ก.ส. ชี้ภัยแล้งกระทบเกษตรกรแล้ว1.3ล้านราย อีสาน 20 จังหวัดอ่วม ปภ.เร่งประเมินผล หวังอนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกรได้ก.พ.63 ชี้ธนาคารมีมาตรการดูแลต่อเนื่องจากปีบัญชี’62 พร้อมรับลูกรมว.คลัง เร่งสรุปผลออกมาตรการเฉพาะหน้ารับมือภัยแล้ง
 
นายสมเกียรติ กิมาวหา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างรอกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประเมินความเสียหายของพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 2563 เบื้องต้น คาดการณ์ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภาคอีสาน 20 จังหวัด หรือประมาณ 1 ล้านราย และภาคเหนือตอนล่างประมาณ 3 แสนราย โดยคาดว่าเดือนก.พ.63 จะสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้วเสร็จ และสามารถอนุมัติเม็ดเงินช่วยเหลือเกษตรกรได้ ทั้งนี้ ธนาคารมีมีมาตรการออกมาดูแลเกษตรกรอยู่แล้วตั้งแต่ปีบัญชี 2562 ซึ่งเป็นการดำเนินงานต่อเนื่องไปถึงสิ้นสุดปีบัญชี (31 มี.ค.63) อาทิ มาตรการขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้สำหรับเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง การลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
 
“มาตรการที่ได้จัดไว้แล้ว ถือว่ามีระยะเวลาครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงกรณีการจัดสินเชื่อใหม่ นอกจากนั้น ยังมีการประกันภัยนาข้าว หากเสียหายในฤดูกาลผลิตในปี 2562/2563”
 
ส่วนมาตรการดูแลภัยแล้งเฉพาะหน้าในปี 2563 ที่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ธ.ก.ส. ไปพิจารณาและศึกษามาตรการออกมาดูแลเฉพาะหน้า ในที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงการคลังครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.63 ที่ผ่านมานั้น คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการศึกษาพิจารณาในรายละเอียดก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกัน โดยเบื้องต้น อาจจะออกมาในหลายรูปแบบต่อเนื่องจากมาตรการเดิมที่เคยใช้ในปี 2562 อาทิ พิจารณาจากภาระสำหรับเกษตรกรที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนใหญ่ที่พักการชำระหนี้ไว้แล้ว ก็ถือว่าหนี้ดังกล่าวไม่เป็นภาระแล้ว นอกจากนี้ธนาคารก็จะมีสินเชื่อรองรับ หากเกษตรกรต้องการเม็ดเงินเพื่อนำไปฟื้นฟู หรือเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน
 
“หากเกษตรกรยังมีภาระอื่นๆ เพิ่มเติม อาจจะมีการออกมาตรการดูแลเฉพาะหน้าดังกล่าว เบื้องต้น เข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วนจะเข้ามาช่วยกันดูแล ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการของสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของธนาคารภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ พร้อมกันนั้น ธนาคารจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับเกษตรกร ด้วยการประกันผลผลิตนาข้าวรอบใหม่ รวมถึงพืชระยะสั้นต่างๆ ”
 
สำหรับลูกค้าธ.ก.ส. ที่ประสบปัญหาดังกล่าว ธนาคารจะเข้าไปดูแล โดยมีสินเชื่อที่ต่อเนื่องมาจากมาตรการดูแลภัยแล้งเดิมในปี 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 5.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อฉุกเฉินให้รายละไม่เกิน 5,000 บาท วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท และมีสินเชื่อฟื้นฟู ให้กับเกษตรกรที่ต้องการจะไปดูแลฟื้นฟูพื้นที่เกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้รายละไม่เกิน 500,000 บาท วงเงินรวม 50 ล้านบาท โดยธนาคารคาดว่าจำนวนเงินที่เตรียมไว้นั้นเพียงพอ เนื่องจากขณะนี้ยังมีวงเงินเหลืออยู่ 4 หมื่นล้านบาท และหากไม่เพียงพอธนาคารก็สามารถดำเนินการขอบอร์ดเพิ่มได้ ทั้งนี้ คาดว่าเม็ดเงินรอบใหม่ที่จะลงไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งนั้น อาจจะมาจากหลายภาคส่วน
 
 
พร้อมกันนี้ หากลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบ ทั้งการขาดน้ำในการทำเกษตร อุปโภคบริโภค ธนาคารจะมอบอำนาจให้สามารถจัดหาน้ำไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเดิมของปีบัญชี 2562 ที่ขยายระยะเวลาในการชำระเงินยาวต่อเนื่องถึงวันที่ 31 ก.ค.62 เชื่อว่ามาตรการนี้ยังครอบคลุมในการดูแลปัญหาภัยแล้ง ส่วนกรณีที่เป็นพื้นที่ประสบปัญหาปัญหาภัยแล้งรอบใหม่ ธนาคารจะขยายระยะเวลาในการคืนเงินต้นให้กับเกษตรกรด้วย ซึ่งขอให้เกษตรกรให้ข้อมูลสภาพปัญหา เพื่อที่ธนาคารจะได้เข้าไปดูแล
 
ทั้งนี้ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคาร ขณะนี้ทรงตัวอยู่ที่ 4.55% โดยสถานการณ์การชำระหนี้ในปีบัญชี 2562 คาดว่าจะมีการชำระดอกเบี้ย 90% เนื่องจากมีการลงพื้นที่ไปปรับโครงสร้างหนี้ และขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ให้กับลูกค้าแล้ว จึงทำให้ลูกค้าของธนาคารมีวินัยในการชำหนี้