แบงก์ชาติ หวั่นบริโภคดิ่งลึก ไวรัสลามหนักฉุด GDP ต่ำ 1%

ธปท.ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้โตต่ำสุด เผยเดือน ก.พ. ตัวเลขดิ่งลึก กนง.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง เร่งใช้งบฯปี”63-ภัยแล้ง-ไวรัส COVID-19 หวั่นโรคระบาดลามทั้งปี

ฉุดจีดีพีโตต่ำ 1% ชี้ยกเลิกงานอีเวนต์-กิจกรรมในประเทศ ส่งผลการบริโภคหดตัวไม่ถึง 4%

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้จะต่ำสุดของปี 2563 โดยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ. จะเป็นเดือนที่ลงลึกสุด เนื่องจากเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่กระทบมากนัก โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นห่วงและยังคงติดตามสถานการณ์ 3 ปัจจัย 1.พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ที่ประกาศใช้และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐที่จะออกมา 2.ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปี 2559 เนื่องจากสต๊อกน้ำไม่เพียงพอและอยู่ในภาวะวิกฤต 3.COVID-19

แม้การระบาดในจีนเริ่มชะลอตัว แต่การระบาดเพิ่มนอกประเทศ เช่น เกาหลี และในยุโรป ที่พุ่งขึ้นค่อนข้างเร็ว และมีผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่กระทบแค่เศรษฐกิจจีน ทั้ง 3 ปัจจัยสถานการณ์ยังไม่นิ่ง และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ระบาดทั้งปีฉุดเศรษฐกิจโตต่ำ 1%

“เศรษฐกิจเดือน ก.พ. จะเป็นตัวเลขที่ลึกที่สุดในไตรมาสที่ 1 ซึ่งยังบอกไม่ว่าจะติดลบหรือไม่ เพราะยังไม่นิ่ง และอยู่ในช่วงประเมินเก็บข้อมูลทางการ และลงภาคสนามสำรวจ หากไวรัสโควิด-19 ระบาดทั้งปี ก็เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตต่ำ 1% จากคาดการณ์เดิม 2.8%”

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. 2563 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชน หดตัวติดลบ 8.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูง เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ยังไม่ประกาศใช้ โดยการใช้จ่ายในส่วนรายจ่ายประจำติดลบ 20.4% และรายจ่ายลงทุนติดลบ 35.5%

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีอัตราการเติบโต 1.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นดัชนีตัวเดียวที่ขยายตัวได้ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะรายได้จากปาล์มน้ำมัน แต่ระยะข้างหน้ารายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มหดตัว ดูจากการรับสวัสดิการประกันตนจากการสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนความเปราะบาง อาจกระทบการบริโภค

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรวมเดือน ก.พ. คาดว่าจะหายไป 40-45% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 90%

“ผลกระทบต่าง ๆ ทั้งฝุ่น PM 2.5 และไวรัสโควิด-19 มาในช่วงท้ายเดือน ม.ค. มองว่าไวรัสน่าจะอยู่ไปอีก 2-3 เดือน เพราะรัฐควบคุมเต็มที่ หลังเดือน เม.ย.น่าจะดีขึ้น”

ฉุดการบริโภคทั้งปีหดต่ำกว่า 4%

นายดอนกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การยกเลิกการจัดงานอีเวนต์ การประชุมสัมมนาต่าง ๆ เบื้องต้นจะกระทบกิจกรรมภายในประเทศที่มีผลต่อการบริโภค คาดว่าการบริโภคทั้งปี 2563 ไม่น่าจะยืนการเติบโตได้ในระดับ 4% ตามกรอบประมาณการ แต่เชื่อว่าหากไวรัส COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จะเห็นกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติได้


ขณะเดียวกัน ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเหลือประคองให้ลูกค้า-ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ไปก่อน