คปภ.คลอดหลักเกณฑ์คิดเบี้ยประกันรถอีวี นำร่องคุ้มครองรถในตลาดกว่า 3,400 คัน

คปภ.คลอดเกณฑ์คิดเบี้ยประกันรถอีวี

คปภ.คลอดหลักเกณฑ์คำนวณอัตราเบี้ยรถอีวี อิงกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าเทียบขนาดเครื่องยนต์ นำร่องใช้ออกกรมธรรม์คุ้มครองรถอีวี 3,467 คัน ที่มีในท้องตลาดปัจจุบันไปก่อน “สมาคมประกันวินาศภัยไทย” เร่งเก็บสถิติความเสี่ยง คาดใช้เวลา 2-3 ปี กำหนดพิกัดเบี้ยรถอีวีแบบเป็นการเฉพาะได้

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.ได้ประกาศหลักเกณฑ์ในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2563 เป็นต้นมา โดยใช้หลักการเดียวกันกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น แตกต่างกันเพียงรถอีวีจะใช้อัตราเบี้ยประกันภัยเพิ่มตามความเสี่ยง โดยอ้างอิงจากขนาดกำลังมอเตอร์ไฟฟ้า หน่วยเป็นกิโลวัตต์ (KW) แทนขนาดเครื่องยนต์ (ซีซี)

“การคิดเบี้ยจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ที่ระดับมอเตอร์ไฟฟ้าไม่เกิน 95.61 กิโลวัตต์ (เทียบเคียงเครื่องยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี) และที่ระดับมากกว่า 95.61 กิโลวัตต์ขึ้นไป (เทียบเคียงเครื่องยนต์ที่เกิน 2,000 ซีซีขึ้นไป)” นายอาภากรกล่าว

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยกล่าวว่า แม้ว่าจะใช้อัตราเบี้ยประกันภัยแบบเดียวกัน แต่บริษัทประกันภัยจะกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าสูงกว่ารถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น เพื่อให้ครอบคลุมถึงต้นทุนการซ่อมแซมที่สูงกว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) ภายใต้สมาคม ยังไม่สามารถแยกข้อมูลระหว่างรถอีวีกับรถยนต์อื่นได้ จึงยังไม่มีข้อมูลว่าเบี้ยประกันภัยโดยเฉลี่ยของรถอีวีที่ขายจริงในตลาดนั้น สูงกว่าเบี้ยประกันภัยโดยเฉลี่ยของรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นเท่าใด

ทั้งนี้ ปัจจุบันจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2563 พบว่า รถอีวีมียอดจดทะเบียนสะสมรวม 3,467 คัน เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 1,252 คัน ที่เหลือเป็นรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์ (ดูตาราง) ซึ่งภาพรวมรถอีวีในประเทศยังมีไม่มาก แต่อาจจะทยอยขึ้นกับการใช้งานและสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งมีการสร้างโครงสร้างโดยภาคเอกชนไปมากพอสมควร เชื่อว่าจะเป็นตัวเร่งให้สามารถเกิดการซื้อหรือพิจารณาการซื้อได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่ปีนี้อาจจะยังไม่มากเพราะราคาน้ำมันลดลงมาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคอาจไม่ได้มีผลกระทบจากค่าเชื้อเพลิงเหมือนปีก่อน ๆ

นายวาสิต ล่ำซำ ประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมกับ คปภ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อเก็บข้อมูลสถิติในการเตรียมจัดทำพิกัดอัตราเบี้ยรถอีวีในอนาคต รวมถึงเพื่อเก็บสถิติอัตราความเสียหาย (loss ratio) และอัตราค่าซ่อมต่าง ๆ ครอบคลุมประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และภาคสมัครใจ


“ขณะนี้รถอีวียังไม่มีพิกัดอัตราเบี้ย ทำให้ต้องไปเทียบเคียงกับขนาดเครื่องยนต์ก่อน เพื่อจะสามารถออกกรมธรรม์ให้ลูกค้าได้ คาดว่าต้องใช้เวลาเก็บสถิติอย่างน้อย 2-3 ปี เพื่อกำหนดพิกัดอัตราเบี้ยสำหรับรถอีวีโดยเฉพาะ ซึ่งต้องมีวอลุ่มที่มากพอสมควรในการเก็บสถิติ เนื่องจากรูปแบบความเสี่ยงคาดว่าจะแตกต่างไปจากรถยนต์แบบเดิม ทั้งตัวเครื่องยนต์ ตัวถัง หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าสมองกล ซึ่งเป็นมอเตอร์ไฟฟ้าที่อาจต้องพิจารณาถึงมูลค่าต่อทุนประกันรวมทั้งหมด อาทิ แบตเตอรี่อาจจะมีมูลค่าสูง หรือคิดเป็น 30-40% ของมูลค่ารถ หากแบตเตอรี่เสีย หรือจมน้ำเป็นปัญหาให้ซ่อมไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่หมด” นายวาสิตกล่าว