พลิกธุรกิจการศึกษาให้ฟื้น หลังยุคโควิด-19

อินเดียเรียนออนไลน์
File Photo REUTERS/Muhammad Hamed
คอลัมน์ สมาร์ทเอสเอ็มอี
วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดสำหรับทุกธุรกิจในปีนี้ ทั้งในด้านพฤติกรรมผู้บริโภค สภาพสังคม และกำลังซื้อ สำหรับธุรกิจการศึกษาเพื่อเสริมความรู้และทักษะที่มีมูลค่าการตลาดราว 1.5-1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยทำงาน ก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน จากการพยายามควบคุมการระบาดทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว และต้องหันมาปรับตัวให้มีการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แทน แต่ถ้าหากเรามองข้ามชอตไปถึงวันที่วิกฤตคลี่คลายและยุติลงเพื่อเตรียมธุรกิจให้พร้อมรับมือเมื่อวันนั้นมาถึง ก็จะพบว่าวิถีชีวิตของคนไทยยุคหลังโควิด-19 น่าจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแล้ว กำลังซื้อของบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือแม้แต่กลุ่มลูกจ้างพนักงานออฟฟิศเองก็คงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว

ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำเสียตั้งแต่วันนี้ก็คือ การเตรียมวางแผนรองรับเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อให้สามารถออกสตาร์ตธุรกิจให้ไปต่อได้ และพลิกเกมให้กลับมาเร็วที่สุด ได้แก่

1.ขยับตัวสู่ตลาด niche เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง เน้นสอนแบบตัวต่อตัว/เป็นกลุ่มเล็ก ๆ เน้นการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อแก้ไขจุดอ่อน เสริมจุดแข็งของนักเรียนแต่ละคน ติวเข้มในวิชาเฉพาะทาง เจาะคอร์สเตรียมสอบเข้าโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งโดยเฉพาะ คอร์สเรียนภาษาเพื่อการพรีเซนต์งาน เป็นต้น

2.สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ครูผู้สอนที่มีทักษะเฉพาะทาง เทคนิคการสอน เทคนิคในการทำความเข้าใจเนื้อหาและจำคำศัพท์ คุณภาพทางวิชาการ ความพร้อมของเนื้อหาและหลักสูตร คอร์สแข่งขันและคอร์สสอบเข้าที่มีการอัพเดตในทุกสนามสอบ ออกแบบกิจกรรมและสื่อการสอนที่หลากหลาย เหมาะสมตามพัฒนาการและความสนใจในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น

3.นำเสนอหลักสูตรที่ก้าวทันความต้องการของผู้เรียน ถ้าหลักสูตรในกระแสแล้วก็ควรเพิ่มหลักสูตรใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดตามกำลัง/เงินลงทุนของกิจการ โดยเลือกหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้เกิดทักษะ กระบวนการคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ และเป็นพื้นฐานรองรับอาชีพในอนาคตที่ 5G-AI-machine learning-cloud-blockchain จะก้าวเข้ามามีบทบาทกับผู้คนและธุรกิจมากขึ้น เช่นการเรียนด้าน STEM และการเรียน coding ที่จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับเทคโนโลยี การคิด และการสื่อสารพื้นฐานสำคัญ

4.สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เรียน การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ไปเป็นลักษณะของ workshop camping ที่เปิดโอกาสให้ได้ทดลองปฏิบัติจริง หรือเรียนรู้ผ่านการเล่นมากขึ้นสำหรับวัยเด็ก หรือดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น คอร์สสอนสร้างแอปมือถือ คอร์สทดลองวิทย์-ประดิษฐ์-ศิลปะ หรือการทำ DIY จากขยะ/วัสดุเหลือใช้ เป็นต้น

5.เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้เรียนด้วยช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ ห้องสมุดออนไลน์ สร้างสื่อสังคมออนไลน์ (social media) เพื่อแนะนำสถาบันให้เป็นที่รู้จัก และพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลให้เป็นรูปแบบอีบุ๊ก หรือต่อยอดไปเป็น EdTech startup ในลักษณะของแพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ โดยเอื้อให้ผู้เรียนเข้าถึงข้อมูลและใช้งานได้ง่าย

6.พัฒนาบุคลากรครูผู้สอนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเทคโนโลยีและการสอนเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีและมีวิธีคิดเปลี่ยนไปจากเด็กรุ่นก่อน ๆ ควบคู่กับการรักษาคุณภาพมาตรฐานการสอน และการบริหารจัดการของโรงเรียน

7.เพิ่มทางเลือกให้มีรายได้จากหลายทาง เช่น การสอน การจัดจำหน่ายตำราเรียนและแบบฝึกหัด การจัดจำหน่ายสื่อ เกม และของเล่น เป็นต้น เพิ่มบริการเสริมเช่นบริการแนะแนวการศึกษาต่อ บริการสมัครสอบ O-NET, TCAS เป็นต้น

8.บริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น อาจเปลี่ยนเป็นการเช่าสำนักงานที่ใช้พื้นที่น้อยลง เนื่องจากอาจจะไม่ต้องใช้โต๊ะเรียนเป็นจำนวนมากแล้ว เปลี่ยนมาใช้ระบบและหลักสูตรที่ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์อื่น ๆ แทน

9.สร้างความมั่นใจให้ลูกค้า ด้วยการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในโรงเรียนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เรียนและผู้ปกครอง


เราได้เห็นแล้วว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้เป็นตัวเร่งทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตและการทำธุรกิจอย่างมากจนหลายอย่างกลายเป็น new normal ไปแล้ว และก็ได้กลายเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกิจ เช่น การขายของออนไลน์ บริการส่งอาหารหรือฟู้ดดีลิเวอรี่ รวมถึงธุรกิจการศึกษาที่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน ที่จะเปลี่ยนตัวเองได้ในทันที ความพร้อมของธุรกิจจะเป็นตัวกำหนด นั่นคือเหตุผลที่เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ช่วงเวลานี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่เราต้องก้มลงไปผูกเชือกรองเท้าให้แน่น เมื่อวันที่เสียงปืนปล่อยตัวดัง เราจะได้ออกสตาร์ตได้เร็วกว่าคนอื่น ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ