คลัง ตั้งทีม “เราไม่ทิ้งกัน” ส่งแบงก์รัฐออกสินเชื่อหนุนประชาชนกว่า 2.3 แสนล้านบาท

คลัง ร่วมกับ “แบงก์รัฐ-หน่วยงานในสังกัด” ตั้งทีม “เราไม่ทิ้งกัน” เร่งติดตาม เยียวยาประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก “ออมสิน-ธ.ก.ส.-ธอส.” พร้อมจัดสินเชื่อชุดใหญ่ วงเงินรวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท หนุนประชาชนมีเงินทุนสร้างอาชีพหลังจบโควิด-19

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง สานต่อมาตรการดูแลเยียวยาประชาชน ผ่านโครงการก้าวต่อไปเราไม่ทิ้งกันสู้ภัยโควิด-19” และจัดตั้ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” เพื่อติดตาม สำรวจ และรับทราบความเดือดร้อน พร้อมเร่งเยียวยาฟื้นฟู คืนอาชีพ คืนรายได้ให้กับประชาชน ตลอดจนออกมาตรการเพิ่มเติมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างฐานรากทางเศรษฐกิจ

“กระทรวงการคลังมีข้อมูลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับการเยียวยา ทำให้สามารถนำข้อมูลมาประมวลผล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะส่ง “ทีมเราไม่ทิ้งกัน” ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน สำรวจ ประเมินสภาพความเป็นอยู่ เพื่อทราบความเดือดร้อนและความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับการเยียวยาทั่วประเทศอย่างทั่วถึง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว

นอกจากนี้จัดให้มี คลินิก “คลังสมอง หมอคลัง” เราไม่ทิ้งกัน ซึ่งต่อยอดมาจากการรับเรื่องร้องทุกข์เงินเยียวยา ตามสาขาของ SFIs ทั่วประเทศ โดยจะให้บริการรับปรึกษาเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดอบรมอาชีพ ด้วยการเสริมสร้างทักษะอาชีพใหม่ให้ตรงกับความต้องการของตลาดที่จะเปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งได้มอบหมายให้ SFIs ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่างๆ ดูแลลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และจะเปิดช่องทาง E-Market ตอบสนองความต้องการพ่อค้าแม่ค้ารุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ เพื่อสร้างรายได้บน Platform E-Market ของภาครัฐ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการออมสิน กล่าวว่า ออมสินได้เตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะเวลาผ่อนนาน เพื่อฟื้นฟูรายได้ประชาชนรายย่อย และเอสเอ็มอี จำนวน 4 ประเภท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท รวมวงเงินสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และ สินเชื่อซอฟท์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้เตรียมออกสินเชื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายแล้ว เพื่อให้มีเงินทุนในการประกอบอาชีพหรือสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำนวน 3 โครงการ 1) สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สำหรับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจซึ่งไม่เคยเป็นลูกค้าธ.ก.ส. มาก่อน ได้มีเงินทุนประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละ ไม่เกิน 50,000 บาท 2) สินเชื่อนิวเจนฮักบ้านเกิด สำหรับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร หรือคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนสู่ภูมิลำเนาและสนใจในการทำเกษตรกรรม วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท และ 3) สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการพักชำระหนี้ เพื่อเป็นเงินทุนในการทำการเกษตรระยะสั้น ปีการผลิต 2563/64 วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะเร่งนำเสนอโครงการเพื่อให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาเห็นชอบโดยเร็วต่อไป

นายกมลภพ วีระพละ รองกรรมการผู้จัดการ และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารมีมติเห็นชอบให้จัดทำ “โครงการ ธอส. ปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน” ผ่าน 2 มาตรการทั้งทางด้านการเงิน และด้าน CSR ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ “โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน” วงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้กู้สำหรับบุคคลในครอบครัวของประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล (มาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน) หรือบุคคลในครอบครัวของลูกค้า ธอส. ที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วม “มาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019(COVID-19)

รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับลูกค้าทั้ง 8 มาตรการตาม “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” ผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.99% ต่อปี นานถึง 2 ปีแรก ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปี ปีที่ 4 อัตราดอกเบี้ย MRR-2% ต่อปี และปีที่ 5 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้ กรณีลูกค้าสวัสดิการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR–1.00% ต่อปี และกรณีรายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส.เท่ากับ 6.150% ต่อปี) และเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัยพร้อมกับการขอกู้ตามวัตถุประสงค์หลัก(ซื้อ ปลูกสร้าง ต่อเติม ขยาย และซ่อมแซม) วงเงินให้กู้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหลักประกัน รวมถึงได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ คิดค่าประเมินราคาหลักประกันในอัตราพิเศษ และให้ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี ยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน – 30 ธันวาคม 2563

ขณะที่นายนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสรรพสากรช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการเลื่อนชำระภาษีส่งผลให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90, 91, 93 และ 95) จากวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 คิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คิดเป็นมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท

พร้อมกันนี้ ยังได้เร่งคืนภาษีนภาษีประชาชน และผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เร่งคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปแล้วกว่า 95% จากผู้ขอคืนทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นภาษีที่คืนประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562 – เมษายน 2563) กรมสรรพากรเร่งคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.7% จากปีก่อน

ทั้งนี้ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ที่กรมออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนผ่านการขยายการจัดเก็บภาษีทุกภาษีที่กรมดูแล ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหล่อเลี้ยงในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 หมื่นล้านบาท