ดร.วิรไท สันติประภพ ไขปมตั้ง รพ.สนาม BSF จบ ‘โควิด’ ปิดทันที

ดร.วิรไท สันติประภพ
สัมภาษณ์พิเศษ

การออกพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 มีทั้งเสียงสนับสนุนและไม่เห็นด้วยในช่วงที่ผ่านมา ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังความเป็นมาในการจัดตั้ง “กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้” (BSF) ตลอดจนผลลัพธ์ในปัจจุบันหลังผ่านมาได้ 1 เดือนเศษ

“ตอนนี้กองทุน BSF ยังไม่มีคนมาใช้ แต่ที่ผ่านมาก็มีคนที่ติดต่อแจ้งความประสงค์มา 4-5 ราย แต่พอเขาเห็นเงื่อนไขที่เรากำหนดว่าเราจะเป็นแหล่งสุดท้าย เราไม่ใช่ห้องฉุกเฉิน ไม่ใช่ช่วยทุกคน เราสร้างโรงพยาบาลสนามขึ้นมา เมื่อเขาสามารถไประดมทุนได้จากตลาด จากสถาบันการเงินได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาใช้” ดร.วิรไทกล่าวถึงสถานการณ์กองทุน BSF ในปัจจุบัน

แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ดีขึ้น

เช่นเดียวกับที่ ธปท.ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องกองทุนรวม (MFLF) ที่ให้ธนาคารพาณิชย์เข้าไปรับซื้อหน่วยลงทุน หรือพวกตราสารและนำมาทำธุรกรรมซื้อคืน (repo) กับ ธปท.ได้ ก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้ตลาดรับรู้ว่ามีคนช่วยดูแลสภาพคล่อง ไม่ให้เป็นตลาดขาเดียว หรือขายสินทรัพย์อย่างเดียว ซึ่งกลไกดังกล่าวทำให้เกิดความมั่นใจได้ดี จากที่มีเงินไหลออกแรง ๆ จากกองทุนรวมตราสารหนี้ ปัจจุบันก็เริ่มนิ่ง โดยใช้เวลาราว 1-2 สัปดาห์ ช่วงที่มีเข้ามาใช้วงเงินสูงสุดก็ประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท จากนั้นก็ทยอยลดลง

“ตั้งแต่ที่เราประกาศมาตรการ MFLF และ BSF มา ก็ได้สร้างความมั่นใจให้กับตลาด โดยตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับมาทำงานเป็นปกติมากขึ้น แม้จะยังไม่เป็นปกติซะทีเดียว และหากดูพวก credit spread (ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชน) ที่เคยเพิ่มขึ้น ก็แคบลงและต่ำลง”

ขณะที่สถานการณ์การออกตราสารหนี้เอกชน (หุ้นกู้) ก็เริ่มเป็นปกติมากขึ้น จากที่เห็นบริษัทที่มีเครดิตเรตติ้งระดับ BBB ก็สามารถออกหุ้นกู้ได้ครบ ส่วนกรณีที่มีบางบริษัทใช้วิธีการเลื่อนกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้นั้น ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ที่ไม่ใช่ in-vestment grade ซึ่งจะเข้ามาใช้ BSF ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหลักการของ ธปท.ต้องการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ดังนั้น จึงชัดเจนตั้งแต่วันแรกว่า BSF จะไม่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ไม่เป็น investment grade แตกต่างจากธนาคารกลางหลายประเทศที่ลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวด้วย

“ส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ไม่ใช่ investment grade จะออกขายแบบเฉพาะเจาะจง หรือขายให้นักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นบุคคล ไม่ได้ถือโดยสถาบัน ซึ่งตราสารพวกนี้ไม่ได้มีผลกระทบลาม หลายอันที่จ่ายไม่ได้ เขาก็ไปเจรจาตัวแทนกับผู้ถือหุ้น ขอยืดเวลาออกไป ดังนั้น วัตถุประสงค์เราชัดว่าเราไม่มีเจตนาที่จะเข้าไปอุ้ม คนที่ใช้คำว่าเราไปอุ้ม ทำให้คนเข้าใจผิดบิดเบือนไป”

“BSF” รักษาเสถียรภาพระบบ

“ดร.วิรไท” ย้ำว่า BSF ออกแบบมา ไม่ใช่เพื่อเข้าไปอุ้มบริษัทที่ออกหุ้นกู้ แต่เพื่อ “รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน” โดยหัวใจสำคัญ คือ มองฝั่งผู้ลงทุนมากกว่าฝั่งผู้ระดมทุน เพราะประชาชนจำนวนมากเป็นผู้ลงทุน ซึ่ง BSF ออกแบบเงื่อนไขว่าผู้ที่จะมาขอใช้เงิน จะต้องไปกู้จากแบงก์มาไม่น้อยกว่า 20% ของยอดหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ต้องไปออกตราสารไม่น้อยกว่า 20% รวมถึงต้องไปขอเครดิตเรตติ้งใหม่ด้วย

“อันไหนดอกเบี้ยที่สูงกว่า เราจะนำมาเป็นฐานคิด เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ BSF จะคิด และบวกไปอีก 100/200 bsp ดังนั้น ดอกเบี้ยจึงแพงมาก เพราะเป็นโรงพยาบาลสนาม ขณะที่เงินที่เราใส่เข้าไป เป็นสภาพคล่องชั่วคราว จึงจะใส่ให้ไม่เกิน 270 วัน แต่หุ้นกู้ที่ออกจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ เรามีเงื่อนไขที่บริษัทห้ามเอาเงินไปจ่ายปันผล ห้ามจ่ายโบนัสให้ผู้บริหารระดับสูง 2 ระดับ ห้ามลดทุน ฯลฯ จะเห็นว่าเราทำเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงินหากใครเห็นเงื่อนไขแบบนี้ แล้วมองว่าเราไปอุ้ม น่าจะไม่ค่อยถูกต้อง”

ส่วนการที่กองทุน BSF ยกเว้นการช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจนั้น “ดร.วิรไท” บอกว่า รัฐวิสาหกิจมีรัฐบาลดูแลอยู่แล้ว นอกจากนี้ BSF ยังยกเว้นการช่วยเหลือหุ้นกู้ของสถาบันการเงินด้วย เพราะมีเงินฝาก สามารถระดมสภาพคล่องได้ด้วยช่องทางอื่นอยู่แล้ว

สร้างเครื่องมือ “ดับไฟก่อนลาม”

ทั้งนี้ “ดร.วิรไท” ย้อนถึงการที่ต้องมีกองทุน BSF ขึ้นมาว่า เพราะวิกฤตรอบนี้ ต่างจากวิกฤตการเงินทั่วไป เป็นวิกฤตที่มาจากทางด้านสาธารณสุข และมีผลกว้างไกล เกิดขึ้นทั้งโลก ตลาดเงินได้รับแรงกระแทกค่อนข้างแรง ทั้งตลาดหุ้นทั่วโลกที่ตกลงมาก ขณะที่ตลาดตราสารหนี้ก็ขาดสภาพคล่องอย่างแรง โดยเฉพาะช่วงปลาย มี.ค. เป็นช่วงที่บริษัทขนาดใหญ่เตรียมเงินไว้จ่ายเงินปันผลในเดือน เม.ย. ผนวกกับมีกองทุนรวมตราสารหนี้ขนาดใหญ่ปิดไป 4 กองทุน ซึ่งมีเงินคงค้างอยู่รวมกัน 1.4 แสนล้านบาท ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องไปหาสภาพคล่องจากที่อื่น จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องกันไป

“พูดง่าย ๆ ตลาดมันวาย มีแต่คนทำธุรกรรมฝั่งเดียว คือ ขาย เพราะมีแต่คนที่อยากจะได้เงินสดเก็บไว้ บริษัทใหญ่ ๆ ที่เดิมจะมีเงินสดส่วนเกิน นำมาลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ก็เก็บเงินสด ทำให้ต้องมีการขายพวกตราสาร ขายหน่วยลงทุนออกมา ราคามันก็ลง เวลาคำนวณราคาทุกสิ้นวัน ก็มีแต่ผลขาดทุน คนยิ่งตื่นตระหนก ยิ่งขาย ก็เป็นวงจรที่มีแต่ไหลลง ๆ ฉะนั้น จะเห็นว่า ธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง ต้องออกมาตรการดูแลเพื่อหยุดวงจรนี้”

ดังนั้น ธปท.จึงต้องมีมาตรการ MFLF ออกมาชุดแรก เพราะกองทุนรวมตราสารหนี้ทั้งระบบมีราว 1.2 ล้านล้านบาท ช่วงเดือน มี.ค. เดือนเดียว เงินไหลออกไปประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งกองทุนเหล่านี้ก็มีการไปลงทุนในหุ้นกู้อยู่มาก รวมถึงกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ลงทุนหุ้นกู้อยู่ด้วย ดังนั้นมองไปข้างหน้าจะเกิดปัญหาการว่างงาน กองทุนเหล่านี้ก็ต้องมีสภาพคล่องไว้ดูแลสมาชิก และยังมีประชาชนที่ลงทุนหุ้นกู้โดยตรงเกือบ 30% เมื่อมีการปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ ก็ส่งผลให้ธุรกรรมหายไปด้วย ดังนั้น จึงต้องมีกลไกการดูแลเสถียรภาพตลาดหุ้นกู้ที่มีขนาดใหญ่ถึง 3.6 ล้านล้านบาท

“จุดนี้เป็นเรื่องที่เราพูดตลอดเวลาว่าต้องดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม เพราะถ้าเราดับไฟไม่ทัน กลไกตลาดการเงินจะลามไปสู่กองอื่น ๆ ซึ่งใช้เวลาราว 2 สัปดาห์ นักลงทุนก็เข้าใจและแยกแยะออก และไม่มีเหตุผลที่จะต้องเทขายอีก”

ดูบทเรียนในอดีตรับมือวิกฤต

“ดร.วิรไท” บอกว่า การทำนโยบายเวลาเกิดภาวะวิกฤต ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งได้บทเรียนมาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ว่าควรเตรียมเครื่องมือไว้ให้พร้อม จะดีกว่าปล่อยให้ระบบมีปัญหา เพราะจะลามไปกระทบอีกหลายระบบ และหากปล่อยระบบพัง ต้นทุนการฟื้นฟูจะสูงกว่ามาก ดังนั้น จึงต้องมีหลังพิงไว้ เช่นเดียวกับระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

“เรายึดหลักว่าต้องทำเครื่องมือให้พร้อมใช้ มองไปให้ไกล เตรียมไว้ให้พร้อม สุดท้ายหากไม่ใช้เลย ไม่เป็นไรเลย จะดีที่สุด แต่ถ้ามีความจำเป็นและยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าการระบาดของไวรัสโควิดจะจบอย่างไร บานปลายแค่ไหน การมีเครื่องมือแบบนี้ เป็นการสร้างหลังพิงให้ระบบการเงิน”

พร้อมปิด “BSF” เมื่อไม่จำเป็น

ผู้ว่าการ ธปท. เผยว่ากองทุน BSF นั้น สามารถปิดตัวก่อนที่กฎหมายกำหนดไว้ 2 ปีก็ได้ หากสถานการณ์โควิดจบลง มีวัคซีนออกมา ทุกอย่างนิ่ง ตลาดทำงานได้เป็นปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องเก็บกองทุน BSF ไว้ เพราะเป็นการขออำนาจมาทำเครื่องมือชั่วคราวเท่านั้น


“ผมย้ำทุกครั้งว่านี่เป็นเครื่องมือชั่วคราวเหมือนโรงพยาบาลสนาม จะปิดก่อนก็ได้ ถ้าทุกอย่างกลับไปอยู่ในสภาวะที่เป็นปกติ ก็เหมือนกับที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ปิดโรงพยาบาลสนามไปแล้ว” ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวทิ้งท้าย