แห่ขอใช้เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจเฉียด 6 แสนล้าน “สศช.” ชงครม. ล็อตแรก 7 ก.ค.นี้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดให้หน่วยงาน ส่วนราชการเสนอโครงการภายใต้กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ล่าสุด วันที่ 5 มิ.ย.63 ล่าสุดมีโครงการเสนอเข้ามาแล้วกว่า 28,425 โครงการ คิดเป็นวงเงินรวมราว 5.9 แสนล้านบาท ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบโครงการรอบแรกได้ภายในวันที่ 7 ก.ค.

สำหรับโครงการที่คณะกรรมการกำหนดไว้อยู่ภายใต้ 4 กรอบหลัก ได้แก่ 1) การลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เสนอเข้ามาแล้ว 91 โครงการ วงเงินรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งในกลุ่มนี้มีโครงการที่ขอใช้งบประมาณมากที่สุด วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เพื่อเข้าไปช่วยฟื้นฟูศักยภาพของเอสเอ็มอี ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนราชการที่เสนอเข้ามาโครงการระดับพันล้านบาท เช่น โครงการเกษตรอินทรีย์ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน อย่างการปลูกปะการังเทียม เป็นต้น

2) ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ซึ่งสศช. ต้องการให้ส่วนราชการทุกจังหวัดเสนอโครงการเข้ามาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก โดยล่าสุด เสนอเข้ามาแล้ว 55 จังหวัด รวมกว่า 28,331 โครงการ วงเงินรวมกว่า 372,532 ล้านบาท ซึ่งโครงการที่น่าสนใจ ได้แก่ นักบริบาลท้องถิ่น เข้าไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เกษตรทฤษฎีใหม่ การแปรรูปอาหาร เป็นต้น

3) โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่ได้เสนอโครงการมาที่คณะกรรมการ และสุดท้ายคือ 4) โครงการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่ในส่วนนี้โครงการจะเป็นส่วนเดียวกันกับกลุ่มกรอบโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ส่วนที่เป็นโครงการเสนอเข้ามาโดยตรงมี 3 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัล

“ตอนนี้โครงการที่เสนอมา เกินวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการก็ต้องเลือกโครงการที่ใช่จริงๆ และไม่เคยได้ยินว่า สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องการจะนำเงินกู้ส่วนนี้ ไปแบ่งกันคนละ 80 ล้านบาท คงไม่ทำ จะเห็นได้ว่าโครงการทั้งหมดฐานข้อมูลอยู่ในระบบของ สศช.แล้ว ส่วนเงินกู้ 4 แสนล้านบาทสำหรับฟื้นฟูจะพอหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย”นายทศพร กล่าว


ทั้งนี้ ขั้นตอนการพิจารณาโครงการนั้น ในรอบแรกจะพิจารณาในวันที่ 5-15 มิ.ย. คณะทำงานจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการเบื้องต้น พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการ ผ่านเว็บไซด์ ThaiMe เมื่อผ่านการตรวจสอบรอบแรก ก็จะเข้าสู่ชั้นคณะอนุกรรมการและกรรมการกลั่นกรอง ในช่วงวันที่ 16-30 มิ.ย. และเข้า ครม.รอบแรกในช่วงวันที่ 7 ก.ค. ส่วนที่โครงการไม่ผ่าน มีบางโครงการที่คณะทำงานตีตก และบางโครงการที่ต้องส่งข้อมูลเพิ่ม ก็จะต้องส่งมาภายใน 9 ก.ค. เพื่อรวมกับโครงการเสนอมาเพิ่ม และเสนอ ครม.พิจารณารอบ 2 ในช่วงต้นเดือนส.ค.63