รับมือวิกฤต “หนี้เสีย”ท่วมประเทศ ธปท.สั่งลดดอกเบี้ยอุ้ม 15 ล้านราย

สัญญาณอันตรายหนี้เสียท่วมประเทศ “แบงก์ชาติ” เคาะออกมาตรการอุ้มลูกหนี้เฟส 2 สั่งแบงก์-น็อนแบงก์ “ลดดอกเบี้ย-ยืดหนี้” ลูกหนี้รายย่อย “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล-เช่าซื้อรถ-บ้าน” แบบทั้งกระดาน 15 ล้านราย ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้

บล.ภัทรประเมินหนี้ครัวเรือนทะลุ 85% ไม่น่ากังวลเท่า “หนี้เสีย” ที่จะเพิ่มขึ้น หนุนตั้ง “Bad Bank” รับซื้อหนี้เสีย “เคทีซี-กรุงศรี” ขาใหญ่กัดฟันรับนโยบายแบงก์ชาติ หวั่นเกิดพฤติกรรมจงใจ “เบี้ยวหนี้”

ลด ดบ.รายย่อยทั้งกระดาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้สถาบันการเงินดำเนินมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีมาตรการ “พักหนี้” 3-6 เดือน รวมถึงการขยายเวลาผ่อนชำระ ซึ่งข้อมูลล่าสุดมีลูกหนี้เข้าโครงการถึง 15.11 ล้านราย ยอดหนี้รวม 6.68 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทยอยสิ้นสุดการพักหนี้ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้เกิดปัญหา “หนี้เสีย” หรือเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เนื่องจากลูกหนี้โดยเฉพาะผู้บริโภคและเอสเอ็มอียังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทำให้กังวลว่าจะกลายเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นมาก เมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ธปท.จึงได้เรียกประชุมแบงก์และน็อนแบงก์ ถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 เฟสใหม่

โดยให้สถาบันการเงินปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2 – 4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (มีผลตั้งแต่1ส.ค.2563) ประกอบด้วยบัตรเครดิต เพดานดอกเบี้ยเดิม18% ปรับลดเหลือ16%,สินเชื่อบุคคล/บัตรกดเงิน เพดานดอกเบี้ยเดิม28% ปรับลดเหลือ25% ,จำนำทะเบียน เพดานดอกเบี้ยเดิม28% ปรับลดเหลือ24%

รวมถึงการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับลูกหนี้ที่มีพฤติกรรมการชำระหนี้ที่ดีมาต่อเนื่อง และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้สิทธิ์ขยายวงเงินจากเดิม 1.5 เท่า เป็น 2 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นการชั่วคราวตั้งแต่1 ส.ค. 63- 31 ธ.ค.64

นอกจากนี้มาตรการขั้นต่ำเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และไม่เป็นหนี้เสีย (NPLs)ณ วันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยผู้ให้บริการทางการเงินต้องจัดให้มีทางเลือกความช่วยเหลือขั้นต่ำให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้เลือกตามประเภทสินเชื่อ ดังนี้ อาทิ “บัตรเครดิต” สามารถเปลี่ยนเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลา (term loan) 48 งวด หรือขยายระยะเวลาตามความสามารถในการชำระหนี้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 12 % ต่อปี

“สินเชื่อเช่าซื้อ” รถยนต์และมอเตอร์ไซด์ (ไม่จำกัดวงเงิน) สามารถขอเลื่อนชำระค่างวด(เงินต้นและดอกเบี้ย3เดือน) หรือ ลดค่างวดโดยขยายเวลาการชำระหนี้ ส่วน สินเชื่อบ้าน (ไม่จำกัดวงเงิน) สามารถเลื่อนชำระค่างวดหรือพักหนี้(เงินต้นและดอกเบี้ย)3เดือน หรือเลื่อนชำระเงินต้น 3เดือน และพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามค่าเหมาะสม หรือลดค่างวดโดยขยายเวลาชำระหนี้ เป็นต้น

ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือข้างต้นสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของผู้ให้บริการทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ Call Center หรือส่งข้อความ SMS ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึง 31 ธันวาคม 2563

วิกฤต “หนี้ด้อยคุณภาพ” ท่วม

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้มีแนวโน้มที่จะเห็นหนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งขึ้นไปทะลุระดับ 85% ของจีดีพี แม้ตอนนี้จะอยู่ระดับ 79.9% แต่เนื่องจากจีดีพีปีนี้จะติดลบ ซึ่งหากเป็นไปตามที่ภัทรคาดไว้ คือ หดตัว -9%

“ถ้าจีดีพีติดลบ 5% ตามที่แบงก์ชาติประเมิน โดยที่หนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีก็จะเป็น 84% และหากจีดีพีติดลบ 8-9% หนี้ครัวเรือนก็ขึ้นสูงกว่านั้น ช่วงนี้ก็มีแนวโน้มที่หนี้ครัวเรือนจะสูงขึ้น เพราะคนมีปัญหารายได้มากขึ้น ต้องการเงินก็ต้องก่อหนี้ เพียงแต่แบงก์อาจจะไม่ค่อยปล่อย ทำให้หนี้อาจจะไม่ได้ขึ้นเร็วมาก แต่ฐานจีดีพีที่ลดลง ทำให้สัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน” นายพิพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าหนี้ครัวเรือน และปัญหาใหญ่ของเมืองไทยก็คือ หลังจากพ้นมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว หนี้ด้อยคุณภาพจะพุ่งมากขึ้น เนื่องจากลูกหนี้ที่ได้รับผล กระทบจากโควิด-19 จำนวนมากจะไม่มีความสามารถในการชำระคืน เนื่องจากอยู่ในภาวะขาดรายได้

“วันนี้เรายังไม่รู้ว่าความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้เป็นอย่างไร ผมว่าธนาคารเองก็ไม่รู้ว่า พอจบมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้ว ลูกหนี้จะกลับมาชำระได้เท่าไหร่ โดยวันนี้หนี้เสียทั้งระบบอยู่ที่ประมาณ 3% แต่ถ้าดูจำนวนคนที่เข้าร่วมพักชำระหนี้ พบว่ามีกว่า 30% ของลูกหนี้สินเชื่อทั้งหมด แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะกลายเป็นหนี้เสีย แต่ก็เห็นว่าปัญหาเพิ่มขึ้นแน่ คิดเล่น ๆ หากมีคนชำระไม่ได้ 10-20% ก็เป็นล้านรายแล้ว” นายพิพัฒน์กล่าว

เตือนพฤติกรรม Moral Hazard

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามีประเด็นเรื่องการจงใจไม่ชำระหนี้ (moral hazard) อยู่ด้วย กล่าวคือผู้ที่ไม่ได้มีปัญหา แต่พอเห็นคนอื่นได้รับความช่วยเหลือ ก็ขอพักหนี้ด้วย แม้ว่าตนเองจะมีความสามารถชำระอยู่ก็ตาม

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การรับมือแนวทางหนึ่ง แบงก์อาจจะต้องเลื่อนการชำระหนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็อาจต้องมีเงื่อนไข โดยแบงก์ก็คงพิจารณาด้วยว่าจะจำแนกลูกหนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง ซึ่งต้องมีกระบวนการที่มีแรงจูงใจเพียงพอที่จะทำให้ลูกหนี้ที่ยังจ่ายได้ รู้สึกว่าต้องชำระคืนหนี้ไปตามปกติ

“ถ้าคนจ่ายไม่ได้จริง ๆ ผมว่าแบงก์ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะแบงก์สามารถยึดหลักประกันไปขายทอดตลาดได้ แต่ถ้าต้องยึดเพื่อขายทอดตลาดพร้อม ๆ กัน จากที่วันนี้มีคนได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการอยู่กว่า 15 ล้านราย ไม่มีคนซื้อแน่ แล้วแบงก์ก็จะขาดทุนแน่ ๆ ดังนั้นผมว่าแบงก์พร้อมจะปรับโครงสร้างหนี้ แต่ปัญหาสำคัญคือแบงก์จะแยกได้อย่างไรว่า ไม่ได้มีคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมาผสมโรงขอไม่จ่ายหนี้ด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว

เอฟเฟ็กต์ “ลดดอกเบี้ย”

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับวิธีการลดดอกเบี้ยเพื่อผ่อนภาระลูกหนี้ สิ่งที่จะตามมา 2 ประเด็น คือ 1.สถานะของธนาคารจะอ่อนแอลง ซึ่่งจะทำให้แบงก์ช่วยคนอื่นได้น้อยลงในระยะต่อไป และ 2.แบงก์จะเข้มปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และจะทำให้ผู้กู้รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น

“เดิมอาจจะมีลูกค้าบางคนที่ธนาคารคิดว่ามีความเสี่ยง แต่ยังสามารถปล่อยกู้ได้ แต่ในอัตราดอกเบี้ยที่แพงหน่อย แต่การปรับลดดอกเบี้ยจะทำให้คนที่ควรจะกู้ได้ แม้จะเสียดอกเบี้ยสูง ก็จะกู้ไม่ได้ไปเลย เพราะแบงก์จะปฏิเสธถูกคุมได้ดอกเบี้ยน้อยลง แบงก์ก็คงไปปล่อยกู้ให้เฉพาะคนที่ปลอดภัยจริง ๆ”

นายพิพัฒน์กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาไม่ให้หนี้เสียทั้งระบบเพิ่มขึ้นมาก ในภาพใหญ่ต้องทำให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้ และทำให้คนมีรายได้ มีกระแสเงินสดเข้ามาเหมือนเดิม แต่ปัจจุบันในบางธุรกิจ เช่น ท่องเที่ยว ที่นักท่องเที่ยวหายไปมาก จึงเป็นไปไม่ได้ว่ารายได้จะกลับมาเท่าเดิม เป็นต้น

“สิ่งที่ทำได้ต้องมีการกระตุ้น ทำให้เศรษฐกิจกลับมาหมุนใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้คนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะสมัยก่อนบางคนอาจจะมีรายได้เดือนละ2 หมื่นบาท สามารถจ่ายหนี้เดือนละ 1.5 หมื่นบาท แต่วันนี้รายได้เหลือ 8 พันบาท จ่ายหนี้ 1.5 หมื่นบาท ไม่ไหวแน่” นายพิพัฒน์กล่าว

หนุนรัฐตั้ง “กองทุนหนี้เสีย”

นายพิพัฒน์กล่าวด้วยว่า การรับมือหนี้เสียควรจะมีกลไก bad bank หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ใหญ่ระดับประเทศ ที่สามารถรองรับหนี้ได้ระดับล้านล้านบาท เหมือนสมัยวิกฤตปี 2540 ซึ่งรอบนี้อาจจะบริหารหนี้ยากกว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่ โดยมีคนเสนอว่าลูกหนี้ธุรกิจหรือบุคคลควรจะมีทางเลือกในการฟื้นฟูตัวเองได้ แทนที่ทุกคนจะต้องไปกันที่ศาลกันหมด หากมีคนเป็นล้านคน ศาลก็คงรับไม่ไหว

“ก็มีคนเสนอว่าควรมีกลไกฟื้นฟูตัวเอง โดยไม่ต้องไปเข้ากระบวนการศาล คือตอนนี้ตัวเองหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว แต่อย่าเพิ่งมายึดทรัพย์สิน เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ เอารายได้มากางกันว่าจ่ายได้เท่าไหร่ในกี่ปี ถ้าทำได้ครบก็หลุดจากกระบวนการฟื้นฟู ทั้งนี้ เห็นด้วยหากจะมีการตั้งกองทุน bad bank ขึ้นมารับซื้อหนี้เสีย แต่ก็ต้องไม่เป็นภาระของรัฐมากเกินไป โดยอาจต้องดึงเงินเอกชนมาใส่ด้วย” นายพิพัฒน์กล่าว

ลดดอกเบี้ยสภาพคล่องชั่วคราว

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พร้อมปฏิบัติตามแนวทางช่วยลูกหนี้ของ ธปท. อย่างไรก็ดี มองว่าการปรับลดดอกเบี้ย เปรียบเหมือนการอัดฉีดสภาพคล่องให้ลูกหนี้อยู่ได้เพียงชั่วคราว แต่ในระยะยาวอาจจะต้องกลับมาดูปัจจัยพื้นฐานของลูกหนี้ว่าจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้มองแค่เพียงว่าไม่ต้องชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประกอบกับการใช้มาตรการแบบลักษณะนี้ อาจจะเกิด moral hazard ได้

“ธปท.สั่งเราก็ต้องทำ เหมือนอัดฉีดสภาพคล่องให้ลูกหนี้อยู่ได้ คล้าย ๆ กรณีการบินไทย สมมุติถ้าไม่เข้าแผนฟื้นฟู แต่เอาเงินให้ไป 5 หมื่นล้านบาท ก็อยู่ได้ แต่ไม่กำไร และถ้าขาดทุนเรื่อย ๆ ก็หมด พอหมดก็อัดเงินเข้าไปอีก ดังนั้นในระยะยาวจะไปได้อย่างไร แบบเดียวกัน ถ้าลูกหนี้ควรต้องมาดูพื้นฐานว่า เขาจ่ายได้หรือจ่ายไม่ได้ก่อน”

KTC เข้มพักหนี้แค่ 100 ราย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคทีซีช่วยลูกค้า โดยพิจารณาว่า ลูกค้ารายนั้น ๆ สามารถชำระคืนได้หรือไม่ เช่น หากลูกค้าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ทำงานโรงแรม แต่เป็นโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวคนไทยซึ่งรายได้ น่าจะกลับมาได้ ก็จะช่วยโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดเวลาชำระ แต่สำหรับกลุ่มที่ต่อให้ลดจ่ายขั้นต่ำ และยืดเวลาชำระให้ ก็ยังจ่ายไม่ไหว ก็จะจัดชั้นเป็นเอ็นพีแอลทันที

ปัจจุบันเคทีซีช่วยลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้กว่า 3,000 ราย และมีกลุ่มที่พักชำระหนี้แค่ 100 กว่ารายเท่านั้น คิดเป็นวงเงินผ่อนผันประมาณ 1% ของสินเชื่อทั้งหมด จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ 3 ล้านบัญชี โดยเป็นฐานลูกค้าบัตรเครดิตประมาณกว่า 2 ล้านคน และสินเชื่อบุคคลกว่า 5 แสนคน ขณะที่แนวโน้มบริษัทจะต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในช่วงเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านบาท จากปกติเฉลี่ยระดับ 500 ล้านบาท

“ขนาดเรามีฝ่ายติดตามทวงถามหนี้ที่แข็งที่สุดแล้ว ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลและการตั้งสำรอง ดังนั้นจึงต้องประเมินสถานการณ์ทุกวัน ซึ่งรามองว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหนากว่าวิกฤตปี 2540 และทุกคนได้รับผลกระทบ ภาคธุรกิจและสถาบันการเงินจะมีรายได้ลดลงหรือขาดทุน แต่ยังคงอยู่ได้โดยสภาพคล่องที่มีอยู่ แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้แค่ไหน และความเสี่ยงจากนโยบายต่าง ๆ ด้วย ซึ่งสำหรับคนทำธุรกิจ ถ้าผลตอบแทนไม่ได้ ก็ต้องหยุดทำ” นายระเฑียรกล่าว

กรุงศรีฯ กระทบรายได้หาย 10%

ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และในฐานะประธานชมรมบัตรเครดิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หาก ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 2% จะกระทบต่อรายได้ธุรกิจบัตรเครดิตกว่า 10% และกระทบรายได้สินเชื่อส่วนบุคคล 6-7% ของรายได้รวม สิ่งที่เป็นข้อกังวลหากปรับลดดอกเบี้ย จะมีผลกระทบต่อลูกค้าเนื่องจากสถาบันการเงินจะพิจารณาสินเชื่อเข้มข้นขึ้น เนื่องจากเดิมดอกเบี้ยที่คิดสอดรับกับความเสี่ยงที่สูงของลูกค้า แต่หากปรับดอกเบี้ยลง แต่ความเสี่ยงยังอยู่ระดับสูง จะเห็นยอดการปฏิเสธสินเชื่ิอ (reject rate) ปรับเพิ่มขึ้น และกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถได้รับการอนุมัติอาจจะไหลออกสู่นอกระบบได้

ขณะเดียวกัน ธนาคารอาจต้องปรับตัวหลังจากความสามารถในการสร้างรายได้ลดลง โดยมี 2 แนวทาง คือ

1.ควบคุมค่าใช้จ่าย ทั้งในส่วนของกิจกรรมการตลาดอาจจะเลื่อนออกไปก่อน และควบคุมต้นทุนการดำเนินการทั้งเรื่องพนักงานและกระบวนการภายใน

2.การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและควบคุมคุณภาพหนี้ แม้ว่าแนวโน้มคุณภาพหนี้เสียอาจจะปรับเพิ่มขึ้น แต่พยายามให้การไหลเป็นหนี้เอ็นพีแอลน้อยที่สุด ดังนั้น วิธีการปล่อยสินเชื่อลูกค้าอาจต้องเข้มงวดในการคัดกรอง และวงเงินให้สอดคล้อง

อย่างไรก็ดี แนวนโยบาย ธปท.ที่จะปรับลดดอกเบี้ยลง และลดยอดชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% ตลอดจนการขยายเทอมการผ่อนชำระ 48 งวด และดอกเบี้ยเหลือ 12% หากมาตรการเหล่านี้ทำได้มีประสิทธิภาพและลูกค้าสามารถกลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะช่วยชะลอการเป็นเอ็นพีแอล จะช่วยเรื่องการตั้งสำรองของบริษัทได้


“หากมาตรการที่จะออกมาระลอก 2 รวมกับมาตรการเดิม สามารถทำให้มีประสิทธิภาพและมีผลดี ช่วยลดภาระลูกหนี้ให้สามารถชำระได้ก็เป็นเรื่องดี เพราะจะชะลอการพุ่งของหนี้เสียได้ แต่ทั้งนี้จะต้องพิจารณาตามอาการลูกค้า เช่น การขยายเทอมการชำระมากกว่า 48 เดือน ก็มีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูเรื่องปัญหา moral hazard หรือวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ด้วย” นายฐากรกล่าว