“สมคิด” สั่ง สสว. ตั้งกองทุน 1 แสนล้าน อุ้มเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤต

“สมคิด” สั่ง สสว. อุ้มเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤต ตั้งกองทุน 1 แสนล้านบาท ชงครม.สัปดาห์หน้า ลั่นทุกประเทศเหนื่อยหมด-ชี้ “สิงคโปร์” ยุบสภาหวังได้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมาบริหาร

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการประชุมมอบนโยบายการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ว่า ได้มอบหมายให้ สสว. และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการเข้าไปช่วยดูแล และหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านโครงการเติมพลัง ฟื้นชีวิต ต่อทุนเอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท วงเงินก้อนแรก 50,000 ล้านบาท และระยะต่อไปจะดูแลอีก 50,000 ล้านบาท คาดว่าผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือ 765,000 ราย คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติภายในสัปดาห์หน้า

“ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเจอพายุ ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยประเทศเดียว ทุกประเทศในโลกกำลังเจอพายุลูกใหญ่ ฉะนั้น หากไม่ตั้งรับพายุใหญ่ลูกนี้ดี ๆ จะเหนื่อยกันหมด เช่น ประเทศสิงคโปร์ ต้องยุบสภา เพราะคาดคะเนว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ลงมาก จึงยุบสภาไปก่อน เพื่อเลือกตั้งจะได้มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ พายุวิกฤตปี 2540 ได้ผ่านมาแล้ว ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก่อนคือ เอสเอ็มอี เพราะตัวเล็กเงินน้อย แต่มีการจ้างงานพอสมควร แต่ปกติเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อยากมาก ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง ถ้าไม่ดูแลตรงนี้ แต่ไปดูแลตอนปลายทางเอสเอ็มอีจะไปกันหมด คนตกงาน ก็ต้องเยียวยาเพิ่ม”

พร้อมกันนี้ ทราบกันดีว่าเมื่อเอสเอ็มอีทุนน้อย ธนาคารส่วนใหญ่ จะโฟกัสธุรกิจใหญ่ เมื่อเศรษฐกิจลงลึกมาเท่าไหร่ยิ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อมากเท่านั้น เพราะกลัวธนาคารจะเป็นปัญหา ทั้งที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ได้มาจากความผิดของนักธุรกิจ แต่เป็นเพราะไม่สามารถช่วยเอสเอ็มอีตั้งแต่ต้น ถ้ายังเป็นอย่างนี้ ไม่ช่วยแต่ต้นทุกธนาคารจะลำบาก เพราะไม่มีทางที่จะอุ้มชูด้วยสินเชื่อลูกค้าที่มี ถ้าเศรษฐกิจข้างนอกมีปัญหา ก็จะพันกันทั้งหมด

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า สำหรับโครงการเติมพลังฟื้นชีวิตต่อทุนเอสเอ็มอีนั้น เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ หรือแหล่งเงินทุน รวมประมาณ​ 24% โดยเบื้องต้นโครงการดังกล่าว จะให้วงเงินสินเชื่อประมาณ​ 100,000 บาทต่อราย ในการเติมพลังให้กับเอสเอ็มอี แต่สำหรับการเพิ่มทุนเพื่อสร้างศักยภาพ จะเป็นการเติมทุนให้กับผู้ประกอบการ และจะมีวงเงินกู้ให้เสริมสภาพคล่องในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย เบื้องต้นอัตราดอกเบี้ยประมาณ 1%

ส่วนกลุ่มเป้าหมาย จะเป็นผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่ง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ นิติบุคคล และวิสาหกิจชุมชนที่มีการจดทะเบียน หรือ ที่ไม่ได้จดทะเบียน แต่จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อ คือ 1.เป็นสมาชิก สสว. 2.เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน 3.ผู้ขอสินเชื่อต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือ ค้างชำระค่างวดตามเงื่อนไขไม่เกิน 4 งวด ในโครงการพลิกฟื้น sme และโครงการฟื้นฟู sme ของสสว. โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้

นอกจากนี้ สสว.จะสนับสนับสนุน ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เนื่องจากงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีวงเงินค่อนข้างสูง โดยในปี 62 มีมูลค่าตลาดภาครัฐรวมกว่า 1.3 ล้านล้านบาท หากช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างได้ 30% จะสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการกว่า 400,000 บ้านบาท ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.-ต.ค. นี้

แนวทางสนับสนุนจะมี 2 แนวทาง คือ 1.กำหนดโควตาการจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้าและบริการที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงตลาดภาครัฐได้ รวมทั้งหน่วยงานรัฐจะต้องคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้างจากผู้ประกอบการในจังหวัดก่อน แต่หากไม่มีสินค้าหรือบริการในจังหวัดจึงจะคัดเลือกจากผู้ประกอบการนอกจังหวัดได้ เพื่อให้เกิดการกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น

2.กำหนดแต้มต่อด้านราคา โดยหน่วยงานรัฐจะต้องให้แจ้งต่อกับผู้ประกอบการที่เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10% กรณีที่ใช้การประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับรายใหญ่ได้