COVID-19…กับปัญหาหนี้แฝด ในเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่

เลียบรั้วเลาะโลก
ขวัญใจ เตชเสนสกุล
EXIM BANK

นับเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่โลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวงกว้างทั่วโลก โดยล่าสุดธนาคารโลก (World Bank) คาดว่าวิกฤตครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2563 หดตัว 5.2% และสร้างความเสียหายต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในช่วงทศวรรษ 1930

สิ่งที่รัฐบาลของทุกประเทศต่างเร่งทำในช่วงที่ผ่านมาคือ การอัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อประคับประคองและเยียวยาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและคาดว่าจะยืดเยื้อไปอีกสักระยะ ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าหลายประเทศอาจไม่สามารถทนทานต่อวิกฤตที่ยืดเยื้อยาวนานได้ โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ World Bank ได้แสดงความกังวลต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังเผชิญ “วิกฤตหนี้แฝด”

“หนี้แฝด” ในที่นี้หมายถึง “หนี้สาธารณะ” และ “หนี้ต่างประเทศ” โดยประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศกำลังเผชิญวิกฤตหนี้สาธารณะ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาครัฐเผชิญกับข้อจำกัดในการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง รวมถึงการกู้ยืมเงินเพื่อดำเนินนโยบายด้านสาธารณสุขในการรับมือกับโรคระบาด

ขณะเดียวกันก็เผชิญกับวิกฤตหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกจับตามอง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้กระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวของทุกประเทศอย่างรุนแรงจนกระทบต่อรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศ อันจะส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และเป็นข้อจำกัดในการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต

ทั้งนี้ หากพิจารณาข้อมูลล่าสุดพบว่า มีตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็กำลังเผชิญปัญหาหนี้แฝดควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะบราซิล อินเดีย อียิปต์ และอาร์เจนตินา ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงที่อาจเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงหากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อและไม่สามารถควบคุมได้

อย่างไรก็ตาม ในตลาดเกิดใหม่บางประเทศที่แม้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ในระดับสูง อาทิ ประเทศในกลุ่ม OPEC+ อย่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบีย แต่ด้วยฐานะการเงินและการคลังค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงน้อยกว่าประเทศข้างต้น เช่นเดียวกับไทยที่แม้ว่าจะพึ่งพารายได้จากภาคการท่องเที่ยวในระดับสูงจนทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ดี สะท้อนจากการจัดอันดับ Global COVID-19 Recovery Index ที่ไทยเป็นประเทศฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากออสเตรเลีย และพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและการคลังที่เข้มแข็งทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีแรงต้านทานกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างน่าพอใจ

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่และยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดในเร็ววันนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องติดตามสถานการณ์และคอยประเมินความเสี่ยง รวมทั้งบริหารจัดการต้นทุนและสภาพคล่องอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคหลังโควิด-19 ให้ได้ต่อไป