สิทธิเดช มัยลาภ ปรับพอร์ต SKY รุกงานเอกชนปั๊มรายได้

สัมภาษณ์พิเศษ

ในยุคดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารถือเป็นเรื่องจำเป็น โดยเฉพาะระบบงานภาครัฐที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ยิ่งต้องการผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูแล “บมจ.สกาย ไอซีที” (SKY) ตกเป็นข่าวคว้างานประมูลสำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะล่าสุดที่เพิ่งชนะประมูลงานให้บริการระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กว่า 8,600 ล้านบาทมาได้ สปอตไลต์จึงฉายไปยังบริษัทที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เมื่อปี 2557 แห่งนี้เป็นพิเศษ ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ “สิทธิเดช มัยลาภ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ถึงภาพธุรกิจของบริษัท และเป้าหมายในอนาคต

คู่สัญญา AOT/งานรัฐ 90%

โดย “สิทธิเดช” เล่าว่า สกาย ไอซีที เป็นบริษัทที่เน้นให้บริการเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาทิ กล้องวงจรปิด (CCTV) ระบบเข้าออกอาคาร (access control) ระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัย ฯลฯ โดยเป็นผู้บริหารจัดการและออกแบบโซลูชั่นความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่กว่า 80-90% เป็นหน่วยงานของภาครัฐ อย่างเช่น งานตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องสนามบินสุวรรณภูมิของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2562 บริษัทก็มีการเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “AOT Airport Application” ไป ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลแพลตฟอร์มแรกที่บริษัทนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสาน เพื่อให้บริการแก่ผู้โดยสารในท่าอากาศยานไทย

“จากการพัฒนา AOT Airport Application นี้เอง ทำให้บริษัทมองว่าการทำแพลตฟอร์มดิจิทัลจะสามารถตอบโจทย์ภาคเอกชนได้” นายสิทธิเดชกล่าว

รุกงานเอกชน-นำร่อง “แสนสิริ”

โดยในปี 2563 นี้ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยังภาคเอกชนมากขึ้น เนื่องจากตลาดด้านบริการความปลอดภัย ถือเป็น “blue ocean” หรือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ สามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งประเดิมจับมือ “บมจ.แสนสิริ” ผู้นำด้านอสังหาริมทรัพย์ของไทย ในการออกแบบ ติดตั้ง และให้บริการ “smart security” หรือระบบความปลอดภัยอัจฉริยะครบวงจร สำหรับนิติบุคคลและลูกบ้าน

ทั้งนี้ สกาย ไอซีที ได้ร่วมมือกับ “SenseTime” ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อันดับ 3 ของโลกจากประเทศจีน เพื่อนำเทคโนโลยีจดจำใบหน้า (facial recognition) มาใช้รักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกบ้านของแสนสิริ

“เรามีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับกับโลกหลังโควิด-19 ซึ่งจะเป็นสังคมที่ลดการสัมผัสเพื่อสุขอนามัยมากขึ้น อาทิ การจดจำใบหน้าเพื่อใช้ลิฟต์ โดยไม่ต้องกดหมายเลขชั้น ซึ่งสามารถจดจำใบหน้าได้แม่นยำ แม้สวมหน้ากากอนามัย”

“สิทธิเดช” อธิบายว่า บริการของบริษัทจะรวมศูนย์อยู่ที่ศูนย์บัญชาการ (Smart Command Center) โดยจะมอนิเตอร์และมีการแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ (alert alarm) ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าอดีต เพราะไม่ต้องใช้คนจัดการตลอดเวลา โดยในไตรมาส 4 ปีนี้เตรียมเปิดตัว “Smart Security Platform” ที่บริษัทต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย

“ดิจิทัลแพลตฟอร์มในภาคเอกชนที่จะเปิดตัวปลายปีนี้คงยังไม่เห็นรายได้เข้ามา เพราะเพิ่งเริ่ม แต่เรามีเป้าหมายที่จะเดินต่อไปผ่านการเปิดตลาดภาคเอกชนจากคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯของแสนสิริก่อน จากนั้นในอนาคตจะพัฒนาไปเป็นบริการ ‘smart living’ ให้แก่ผู้อยู่อาศัยในเมืองอย่างครบวงจร”

ปักธงขยายบริการ 8 กลุ่มหลัก

นอกจากงานคอนโดมิเนียมแล้ว “สิทธิเดช” บอกว่า บริษัทยังให้บริการความปลอดภัยแก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยคิดค่าบริการรายเดือน และรับงานในลักษณะสัญญา 3-5 ปี โดยตั้งเป้าขยายบริการแก่ 8 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ อาคารที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน โรงงาน โรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าและธุรกิจค้าปลีก มหาวิทยาลัย และหน่วยงานราชการ

“อนาคตธุรกิจของเราจะมุ่งไปยังดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น เพราะธุรกิจหลักที่เราทำ คือ data technology หรือการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มไปให้บริการกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพื่อตอบโจทย์ชีวิตของเขาในแต่ละด้าน ทั้งนี้ หากเทียบกับคู่แข่งเทคโนโลยีอาจไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่เราแตกต่าง คือ เรากล้าที่จะเข้าหา (approach) กล้าที่จะเข้าไปลงทุนให้กับภาคเอกชนให้มาใช้บริการเรา ผมว่าอันนี้คือการแตกต่าง รวมถึงเทคโนโลยีที่เราเอาเข้ามาใช้นั้น เราผสมให้เป็นโซลูชั่นที่เหมาะสมกับแต่ละเซ็กเมนต์ของลูกค้า

“ดึงพันธมิตรใหม่ถือหุ้น

นอกจากนี้ กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เสนอขายหุ้นแก่กลุ่มคิง เพาเวอร์ และเมืองไทยประกันภัย รวม 20 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นการเข้ามาถือหุ้นเพื่อต่อยอดธุรกิจของบริษัท โดยคิง เพาเวอร์ จะเป็นการร่วมมือกันเพื่อต่อยอดการช็อปปิ้งร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) จาก AOT Airport Application รวมไปถึงต่อยอดธุรกิจโรงแรมของพันธมิตร ส่วนเมืองไทยประกันภัยจะเป็นการต่อยอดธุรกิจประกันท่องเที่ยว ซึ่งจะทยอยออกมาในไตรมาส 4

กางเป้า 5 ปีปั้นรายได้หมื่นล้าน

“สิทธิเดช” ระบุว่า เดิมบริษัทคาดว่ารายได้ในปีนี้จะเติบโตราว 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการระบาดของไวรัสได้ดี แต่การจับจ่ายใช้สอยในภาคเอกชนอาจไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่ภาครัฐต้องนำงบประมาณไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้นจึงคาดว่ารายได้บริษัทก็จะเติบโตในอัตราที่ทรงตัว จากปี 2562 ที่บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงาน 3,960 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 224 ล้านบาท โดย 90% เป็นรายได้จากภาครัฐ

“สำหรับภาครัฐปีนี้คงต้องดูกันต่อไปว่า หลังจากผ่านวิกฤตโควิดไปแล้ว ภาครัฐจะมีเนื้องานอะไร รวมถึงปี 2564 ที่จะเริ่มใหม่ด้วย ส่วนภาคเอกชนจากการชะลอตัวของการเดินทางข้ามประเทศ แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อรายได้ที่เราจะได้จากการลงทุน AOT Airport Application อย่างไรก็ดี เราก็ต้องเตรียมพร้อมแอปพลิเคชั่นเพื่อให้พร้อมรองรับการเปิดประเทศวันที่ 1 ก.ค.นี้”

“สิทธิเดช” กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีรายได้ที่ทยอยรับรู้ในมือ (backlog) ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ระยะยาว 10 ปี โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา รับรู้ไปแล้วประมาณ 700 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะรับรู้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทวางเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า มีรายได้เติบโต 10,000 ล้านบาท และจะขยายสัดส่วนรายได้ของภาคเอกชนในพอร์ตให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 40% และลดพอร์ตรายได้จากภาครัฐให้อยู่ที่ประมาณ 60%

ทำได้แค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป