ประธานสรรหาผู้ว่าฯ ธปท. สั่งเช็กคุณสมบัติ “ผู้สมัคร-กรรมการคัดเลือก” ยิบ

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จะเรียกประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ หลังจากฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการฯ ซึ่งก็คือ ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 6 รายเสร็จเรียบร้อยก่อน โดยหากเสร็จทันวันที่ 17 ก.ค.นี้ ก็จะประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทันที แต่หากยังตรวจไม่เสร็จก็เลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้สั่งการให้ตรวจสอบเฉพาะราย แต่เป็นไปตามขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบผู้สมัครทุกคนอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ตนยังให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการทุกรายในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ด้วยว่า มีรายใดขาดคุณสมบัติหรือไม่ จะได้ไม่เกิดปัญหาร้องเรียนกันตามมาภายหลัง

“วันนี้ (13 ก.ค.) ฝ่ายเลขานุการ เปิดซองผู้สมัครแล้ว หลังจากนี้ต้องตรวจคุณสมบัติทุกราย ไม่ใช่เฉพาะคนใดคนหนึ่ง ซึ่งก็คงหารือกับทาง ธปท.ด้วย โดยหากเสร็จทันก็จะเรียกประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ วันที่ 17 ก.ค.นี้เลย แต่ถ้าไม่ทันก็เลื่อนไปสัปดาห์หน้า” นายรังสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ คุณสมบัติที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ประกาศไว้ตอนรับสมัคร ได้แก่ คุณสมบัติทั่วไป ต้องมีสัญชาติไทย, มีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเสนอชื่อเพื่อทรงแต่งตั้ง, มีความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคาร รวมทั้งมีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการทำหน้าที่ผู้ว่าการ ธปท., สามารถทำงานให้แก่ ธปท. ได้เต็มเวลา, สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีจากสถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) รับรอง และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการคัดเลือกฯ

ส่วนคุณสมบัติเฉพาะของผู้สมัคร ต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ และภาวะเศรษฐกิจการเงนิของโลกเป็นอย่างดี, มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนโยบายการเงิน นโยบายการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินเป็นอย่างดี, มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการองค์กรตามกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้

1.ในกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารส่วนราชการต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่า

2.ในกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารองค์กรเอกชนต้องเป็นองค์กรที่มีขนาดของสินทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท โดยต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งระดับถัดจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้นในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง

3.ในกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐหรือองค์กรระหว่างประเทศต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหนึ่งระดับถัดจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กร