ธ.ก.ส. เตรียมยืดพักชำระหนี้เอสเอ็มอีเกษตรกรถึงสิ้นปี’63

ธ.ก.ส. เตรียมชงบอร์ดขยายเวลาพักชำระหนี้ลูกค้าเอสเอ็มถึงสิ้นปี’63 พร้อมปรับโครงสร้างหนี้เอสเอ็มอีมีความเสี่ยง ป้องกันหนี้เสีย เล็งขยายเงินสำรองหนี้สูญเพิ่ม ขณะนี้กันไว้กว่า 3 แสนล้านบาท

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ธ.ก.ส.เตรียมจะเสนอเรื่องการขยายเวลาพักชำระหนี้ต้นเงินและให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้านหรือชุมชน และสหกรณ์ภาคการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.63 จากเดิมจะสิ้นสุดเวลาพักชำระหนี้ในเดือนก.ย.นี้ ให้คณะกรรมการ(บอร์ด)ธ.ก.ส.พิจารณา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีลูกค้าเอสเอ็มอีและ เอสเอ็มอีเกษตร ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้จำนวน 500,000 ราย มูลหนี้ 200,000 ล้านบาท ซึ่งในการต่ออายุพักชำระหนี้ครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการพักหนี้ให้อัตโนมัติ แต่ธ.ก.ส.จะสำรวจข้อมูลก่อนว่าเอสเอ็มอีรายใดมีปัญหาทางการเงินหรือขาดความสามารถด้านการชำระหนี้บ้าง ซึ่งเมื่อพักหนี้ให้แล้ว เอสเอ็มอี รายใดมีความเสี่ยงว่าจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ ธ.ก.ส.จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย เพื่อไม่ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีเหล่านี้กลายเป็นหนี้หนี้ที่ก่อไม่ให้เกิดรายได้ (NPL)

ขณะที่ NPL ของธ.ก.ส.นั้น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 4.07% คิดเป็นวงเงินราว 61,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้ไม่ได้ห่วงว่าหนี้เสียจะเป็นจำนวนเท่าใด เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลอยู่ และที่ผ่านมาธ.ก.ส.มีการดูแลและช่วยเหลือลูกค้ามาโดยมาตลอด ทั้งลูกค้าที่มีสถานะปกติและลูกค้าที่อาจจะเป็นหนี้เสียในอนาคตด้วย 

“ในปีนี้หนี้เอ็นพีแอลจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถคาดเดาได้ แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งขณะนี้ธ.ก.ส.ได้กันเงินสำรองหนี้สูญไว้แล้ว 300,000 ล้านบาท และหากธ.ก.ส.ต้องดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอีในกลุ่มที่ยืดชำระหนี้เพิ่มเติม ธ.ก.ส.จำเป็นต้องสำรองเงินเพิ่มขึ้นด้วย เพราะถือว่าธนาคารต้องแบกรับความเสี่ยง”

ส่วนโครงการ “New Gen Hug บ้านเกิด” เพื่อค้นหาทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย เชื่อมั่นในวิถีเกษตรสร้างสรรค์ เข้ามาร่วมคิด ร่วมสร้างธุรกิจชุมชนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่กับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะนำเสนอรูปแบบรายการเรียลลิตี้ เพื่อสร้างแนวคิด แรงบันดาลใจ มีผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 21,000 ราย มีผู้ผ่านเข้ารอบ 16,000 ราย และในจำนวนนี้ธ.ก.ส.คัดเหลือผู้สมัครเหลือเพียง 104 รายเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการเข้าค่ายเพื่อพัฒนาต่อยอดไอเดียต่างๆ สู่การขับเคลื่อนโครงการให้เกิดขึ้นจริง โดยรายการจะออกอากาศในเดือนก.ย.63 สถานีโทรทัศน์ช่อง ONE 31

พร้อมกันนี้ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ตกรอบไปสามารถยื่นความประสงค์เพื่อขอใช้สินเชื่อสำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ จำนวน 70,000 ล้านบาท ผ่านทางเว็บไซต์ของธ.ก.ส.ได้ ประกอบด้วย 1.สินเชื่อ New Gen Hug (ฮัก) บ้านเกิด วงเงิน 60,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุนในการประกออบอาชีพ โดยผู้กู้ ต้องเป็นเกษตรกร ทายาทเกษตรกร บุคคลในครัวเรือนเกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ที่มีอายุไม่เกิน 45 ปี 

ส่วนอัตราดอกเบี้ย แบ่งเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย เดือนที่ 1-3 อัตรา 0% ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดตามอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ(MRR) และเพื่อเป็นค่าลงทุน ปีที่ 1-3 อัตรา 4% ต่อปี ปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยตาม MRR ซึ่งปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.5% ต่อปี กู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63-30 มิ.ย.64

2.สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ รายละ 50,000 บาท วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง อัตราดอกเบี้ยเดือนที่ 1-3 จำนวน 0% ต่อปี เดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดตามอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำ(MRR) กู้ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.63-30 มิ.ย.64