เบิกจ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านอืด กระทุ้งรัฐเร่งเครื่องปั๊มเศรษฐกิจ

เงิน-งบประมาณ

เช็กยอดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลอนุมัติใช้จ่ายแล้วเกือบ 4 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่งอนุมัติแค่ 10 โครงการ 4 หมื่นล้านบาท เผยคณะกรรมการกลั่นกรองเข้ม “ตีตก-ให้ทบทวน” เพียบ ฟาก ส.อ.ท.ชงรัฐกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท นักเศรษฐศาสตร์อัดแผนใช้เงินกู้อืด จี้จัดลำดับความสำคัญเร่งเครื่องปั๊มเศรษฐกิจ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานความคืบหน้าการใช้จ่ายเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ว่า ณ วันที่ 29 ก.ค. 2563 ครม.ได้อนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่ใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ไปแล้ว 18 โครงการ วงเงินรวม 386,786 ล้านบาท คงเหลือวงเงินอีก 613,213 ล้านบาท

จำแนกตามแผนงาน แผนงานที่ 1 (ด้านสาธารณสุข) วงเงินทั้งสิ้น 45,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้เสนอเข้ามา 234 โครงการ วงเงินรวม 51,985.54 ล้านบาท ล่าสุดเพิ่งอนุมัติเพียง 3 โครงการ วงเงินรวม 101.8 ล้านบาท วงเงินคงเหลือทั้งสิ้น 44,898 ล้านบาท อีก 42 โครงการ วงเงินที่เสนอมารวม 45,868 ล้านบาท ให้ไปจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก 32 โครงการ 1,260.89 ล้านบาท เห็นควรให้หน่วยงานวิจัยร่วมกลั่นกรอง และ 157 โครงการ 4,37.26 ล้านบาท ให้กระทรวงสาธารณสุขไปทบทวน

ค่าตอบแทน อสม.ใช้งบฯกลาง

ก่อนหน้านี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอขอใช้เงินกู้สำหรับโครงการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในชุมชน เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) รวมจำนวนไม่เกิน 1,054,729 คนต่อเดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค.ถึง ก.ย. 2563 (รวม 7 เดือน) แต่ที่ประชุม ครม. เมื่อ 29 ก.ค. เห็นควรให้ใช้งบฯกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นงบฯปี 2563 จ่ายค่าตอบแทน อสม. และ อสส. แทนเงินกู้ กรอบวงเงินไม่เกิน 3,622.3 ล้านบาท จากที่เสนอมา 10,019.92 ล้านบาท

เบรกเงินกู้ชดเชยภาคขนส่ง

แผนงานที่ 2 (เยียวยาผลกระทบ) อนุมัติ 5 โครงการ (อาทิ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร ได้รับเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน) วงเงินรวม 344,734.9 ล้านบาท คงเหลือ 210,265 ล้านบาท และแผนงานที่ 3 (ฟื้นฟูเศรษฐกิจ) อนุมัติไปแล้ว 10 โครงการ วงเงินรวม 41,949 ล้านบาท คงเหลือ 358,050.7 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ กระทรวงคมนาคมได้เสนอขอใช้เงินกู้ชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารประจำทางที่ได้รับผลกระทบ 2,935 ราย จำนวนรถ 72,518 คัน ซึ่งจะใช้เงินราว 3,657 ล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการขนส่งรถโดยสารไม่ประจำทาง 42,273 ราย จำนวนรถ 74,432 คัน คันละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ใช้เงินราว 1,116 ล้านบาท แต่คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ไม่อนุมัติให้ใช้เงินกู้ เห็นควรให้นำกลับไปทบทวนและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

แผนฟื้นฟูเพิ่งอนุมัติ 10 โครงการ

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับ 10 โครงการที่ได้รับอนุมัติในแผนงานด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็นแผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 3 โครงการ 926.4 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 2 โครงการ 14,593.6 ล้านบาท และแผนงานกระตุ้น อุปโภค บริโภค และการท่องเที่ยว 5 โครงการ 26,429 ล้านบาท ส่วนแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ

“เดิม ครม.อนุมัติกรอบแนวคิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ รอบที่ 1 ไว้ที่ 92,400 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 29 ก.ค. มี 10 โครงการที่ได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 41,949 ล้านบาท ยังเหลือกรอบวงเงินอีก 50,450.7 ล้านบาท”

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้กู้เงินตาม พ.ร.ก.แล้ว 313,761 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบได้เบิกจ่ายเงินกู้ไปแล้ว 297,587.3 ล้านบาท คิดเป็น 76.94% ของวงเงินที่ ครม.อนุมัติ

งบฯเงินกู้ 1ล้านล้านบาท

“ตีตก-ทบทวน” โครงการ “มหาดไทย”

ในส่วนโครงการของจังหวัดที่เสนอผ่านกระทรวงมหาดไทย เดิมเสนอเข้ามาถึง 757 โครงการ วงเงิน 4,835.5 ล้านบาท ตรงตามวัตถุประสงค์ของแผนงาน แต่เมื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เหลือเพียง 393 โครงการ วงเงิน 2,556 ล้านบาท คณะอนุกรรมการกลั่นกรองได้เห็นชอบ 162 โครงการ ใน 59 จังหวัด วงเงิน 924.3 ล้านบาท ต่อมาให้ทบทวนโครงการเพิ่ม 5 โครงการ จึงเหลือโครงการที่้ได้รับความเห็นชอบ 157 โครงการ วงเงิน 884 ล้านบาท

ส.อ.ท.ชงกู้เพิ่ม 1 ล้านล้านบาท

ล่าสุดมีรายงานว่า ทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เสนอว่า ภาครัฐควรจะกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท จากที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทไปแล้ว เพื่อเข้าไปดูแลเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบจากโควิด-19 ต่อมูลค่าเศรษฐกิจจะมีถึง 2 ล้านล้านบาท และทำให้คนตกงานราว 6-7 ล้านราย

เร่ง 4 แสนล้านกระตุ้น เศรษฐกิจ

ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า อยากให้รัฐบาลใช้เงินที่มีอยู่แล้วอย่างตรงจุดก่อนที่จะกู้เงินมาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มอีก โดยเฉพาะงบฯรายจ่ายประจำปี 2564 ควรจะจัดลำดับความสำคัญ เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน เป็นหลัก ตัดโครงการที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องใช้เงินในปัจจุบันออกไป เช่น ดูงานต่างประเทศ ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซื้ออาวุธ เป็นต้น

“ควรกู้เพิ่มไหม ผมว่าควร แต่ต้องตอบได้ว่าจะเอาไปทำอะไร คำถามนี้สำคัญกว่าจะใช้เท่าไหร่ เพราะของเดิมวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ยังใช้ได้ไม่ถึงครึ่ง โดยเฉพาะก้อน 4 แสนล้านบาท เพิ่งอนุมัติแค่ 4-5 หมื่นล้านบาท”

กู้เพิ่มทะลุเพดานหากจำเป็น

อย่างไรก็ดี หากทำสิ่งเหล่านี้ครบแล้ว ยังต้องการกระตุ้นเพิ่ม ก็กู้เงินเพิ่มได้ ยอมให้หนี้สาธารณะเกิน 60% ของ GDP ไป ซึ่งการกู้เพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ตกประมาณ 6-7% ของ GDP ตอนนี้ดอกเบี้ยค่อนข้างถูก ถ้าเรามีวินัยทางการคลังที่ดี ปีหน้าลดขาดดุลการคลังลงมา บริหารจัดการได้”

นายพิพัฒน์กล่าวว่า สำหรับเงินกู้กรอบ 4 แสนล้านบาท หากจะให้ออกได้เร็ว ควรจัดสรรให้ท้องถิ่นไปทำโครงการต่าง ๆ ที่สร้างงาน สร้างโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนตามความต้องการของท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน วิธีดูแลความโปร่งใสคือ ต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดโครงการทั้งหมด ทั้งพื้นที่ที่นำเงินไปใช้ ราคากลาง ราคาที่มีการประมูล ฯลฯ

“นอกจากก้อน 4 แสนล้านบาท ตอนนี้ก้อน 6 แสนล้านบาท ยังเหลืออีก 2 แสนล้านบาท สำหรับเยียวยา ต้องคิดต่อ หลังรอบแรกแจกไปแล้ว 25 ล้านคน ตอนนี้เมืองเริ่มเปิดแล้ว เงินก้อนที่เหลือจะเอาไปใช้ทำอะไรดี ต้องคิดต่อ” นายพิพัฒน์กล่าว