“ผู้ว่าธปท.” แนะใช้โอกาสช่วงโควิดรีเซ็ตหนี้ครัวเรือน-เร่งการลงทุนรับมือโลกใหม่

ผู้ว่าธปท. แนะใช้โอกาสโควิด-19 รีเซ็ตปัญหาหนี้ครัวเรือน-การลงทุนเอกชนต่ำ หลังตัวเลขไม่ขยับจากปี 40 เผยคนจนลดลง แต่คนจนเกือบจ่อเพิ่มขึ้น หากเจอช็อกโดนกระทบหนัก ชี้ธุรกิจเร่งปรับตัวรับโลกใหม่หลังโควิด 

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่กับประเทศไทยมานานก่อนจะมีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในอดีตที่ก่อให้เกิดการกู้เงิน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาอยู่ที่ 84% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 80% โดยตัวเลขจะพบว่าคนเป็นหนี้เร็วและเป็นหนี้นาน ซึ่งอายุเฉลี่ย 20-30% มากกว่า 50% มีหนี้แล้ว และอายุ 60-65 ปี มีหนี้สะสมกว่าแสนบาท จึงเป็นความเปราะบางเมื่อโดนแรงกระทบ


นอกจากนี้ หากดูเส้นความยากจน (Poverty line) ตามคำนิยามของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) แม้ว่า

จะเห็นการปรับตัวลดลง แต่หากขยับเส้นความยากจนขึ้นมากเล็กน้อย จะพบว่ามีคนที่เกือบจนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้มีหนี้จำนวนเยอะ และหากเจอภาวะช็อกเพียงเล็กน้อยจะค่อนข้างลำบาก แม้ว่าธปท.จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งการแปลงหนี้ระยะสั้นเป็นระยะยาว หรือพักหนี้และยืดหนี้ออกไป แต่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน โดยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนจะต้องเพิ่มรายได้ ซึ่งจะมาจากการทำงานและการลงทุนของประเทศ 

ทั้งนี้ หากดูการลงทุนของไทย จะพบว่าเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนวิกฤตปี 2540 ซึ่งตอนนั้นระดับการลงทุนเฉลี่ย 30-40% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10% ซึ่งนำมาสู่สารพัดปัญหา และรายได้คนค่อนข้างทางตัว แม้ว่าจะมีคนกล่าวว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่โตจะให้ลงทุนอะไร ซึ่งเบื้องต้นต้องยอมรับว่าโลกหลังโควิด-19 จะไม่เหมือนเดิม ไทยจึงต้องปรับตัวและหาสินค้าหรือเทรนใหม่เพื่อรับสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้น

อาทิ กลุ่มยานยนต์ จะทำเครื่องยนต์แบบเดิมหรือจะไปแบบอีวี ซึ่งการทำอีวีจะก่อให้เกิดการลงทุนหลายอย่างตามมา หรืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าเวียดนามมาก จึงต้องปรับตัวให้ก้าวให้ทัน และเซ็กเตอร์ท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่กับไทยมานาน จะเห็นว่าเหลือ Capacity ค่อนข้างมาก และกว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ 40 ล้านคนอาจจะใช้เวลานาน ดังนั้น ไทยควรหันมาเน้นด้านคุณภาพ โดยให้นักท่องเที่ยวอยู่นานมากกว่า 9 วัน และใช้จ่ายมากกว่า 5,000 บาทต่อหัว ซึ่งหากไทยมองไกลและมองยาวช่วงจังหวะนี้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำเอื้อให้เกิดการลงทุน แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่มักจะออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าลงทุนในประเทศ

“หากมองไปข้างหน้าการเติบโตเศรษฐกิจจะเห็นเป็นบวกได้และกลับมาในระดับเดียวก่อนโควิดในไตรมาสที่ 3 ปี 65 โดยปีนี้จะ -8% และปี 64 จะเป็นบวก 4% ก่อนจะกลับมาเท่าเดิม ซึ่งใช้เวลานาน ดังนั้น เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร และหากกลับมาได้ไทยก็ไม่ควรเหมือนเดิม เราต้องกลับมาดีกว่าเดิม โดยเราใช้โอกาสนี้ในการรีเซ็ตในเรื่องของหนี้ครัวเรือน และการลงทุนใหม่ให้อยู่ในพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพราะจากเดิมเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น แต่ไม่มีความทนทาน หรือ Resilience เพราะเราไปพึงภาคท่องเที่ยวเยอะเกินไปแทนทีจะมีเครื่องยนต์หลากหลายในการขับเคลื่อน”